กรุงเทพฯ--28 ม.ค.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนธันวาคม 2555 จำนวน 1,064 ราย ครอบคลุม 42 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แยกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ร้อยละ 33.3,38.4 และ 28.3 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดตามลำดับ นอกจากนี้ยังแบ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ร้อยละ 42.2, 15.9, 15.7, 12.9 และ 13.3 ตามลำดับ และแบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดต่างประเทศ ร้อยละ 81.3 และ 18.7 ตามลำดับ โดยจากผลการสำรวจพบว่าค่าดัชนีความเชื่อมั่นในเดือนธันวาคม 2555 อยู่ที่ระดับ 98.8 เพิ่มขึ้นจากระดับ 95.2 ในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งค่าดัชนีฯ ปรับเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน สำหรับค่าดัชนีที่เพิ่มขึ้นเกิดจากองค์ประกอบยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ทั้งนี้ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในเดือนธันวาคมที่ปรับเพิ่มขึ้น เกิดจากความต้องการสินค้าและบริการเป็นแรงขับเคลื่อนต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากอยู่ในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ ประกอบกับในเดือนธันวาคมมีกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าหลายรายการโดยเฉพาะงานมหกรรมยานยนต์ (Motor Expo) และเป็นช่วงโค้งสุดท้ายของนโยบายรถยนต์คันแรกของรัฐบาล ขณะที่ภาคการส่งออกยังคงขยายตัวดี สะท้อนดัชนียอดคำสั่งซื้อและยอดขายจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตามแม้ดัชนีความเชื่อมั่นฯ จะปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง แต่ค่าดัชนีฯ ยังต่ำกว่า 100 สะท้อนว่าความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอยู่ในระดับที่ไม่ดี ปัจจัยลบที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ ได้แก่ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 เป็นต้นไป ราคาวัตถุดิบและราคาพลังงานที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น รวมถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 100.6 เพิ่มขึ้นจากระดับ 99.6 ในเดือนพฤศจิกายน ค่าดัชนีที่เพิ่มขึ้นเกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ดัชนีความเชื่อมั่นจำแนกตามขนาดของอุตสาหกรรมในเดือนธันวาคม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้ง 3 กลุ่ม
โดยอุตสาหกรรมขนาดย่อม มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนธันวาคม อยู่ที่ระดับ 93.2 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 89.8 ในเดือนพฤศจิกายน โดยองค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมการสิ่งทออุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ อุตสาหกรรมไม้อัดไม้บางและวัสดุแผ่น เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 97.3 ลดลงจากระดับ 99.2 ในเดือนพฤศจิกายน โดยองค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
อุตสาหกรรมขนาดกลาง ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนธันวาคม อยู่ที่ระดับ 99.4 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 96.8 ในเดือนพฤศจิกายน องค์ประกอบดัชนีที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ค่าดัชนีปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมพลาสติกอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์กระดาษ,อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 99.0 ลดลงจากระดับ 99.4 ในเดือนพฤศจิกายน โดยองค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดขายโดยรวมและต้นทุนประกอบการ
อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนธันวาคม อยู่ที่ระดับ 104.4 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 98.4 ในเดือนพฤศจิกายน โดยองค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ค่าดัชนีปรับเพิ่มขึ้นได้แก่ อุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม,อุตสาหกรรมอาหาร,อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น เป็นต้น ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 106.7 เพิ่มขึ้นจากระดับ 100.3 ในเดือนพฤศจิกายน องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ด้านดัชนีความเชื่อมั่นฯรายภูมิภาค ประจำเดือนธันวาคม พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกภาค ดังนี้ ภาคกลาง ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนธันวาคม อยู่ที่ระดับ 98.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 98.3 ในเดือนพฤศจิกายน องค์ประกอบดัชนีที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิตและผลประกอบการ การผลิตสินค้าและบริการของอุตสาหกรรมในภาคกลางในเดือนธันวาคมยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมา ตามความต้องการสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ ขณะที่นโยบายรถยนต์คันแรกของรัฐบาลส่งผลดีต่อกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ทั้งนี้ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อการปรับขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำ 300 บาทต่อวัน เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นอุตสาหกรรมในภาคกลางที่มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ อุตสาหกรรมหลังคาและอุปกรณ์ เป็นต้น ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 100.1 เพิ่มขึ้นจากระดับ 99.2 ในเดือนพฤศจิกายน องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ภาคเหนือ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนธันวาคม อยู่ที่ระดับ 90.4 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 82.1 ในเดือนพฤศจิกายน องค์ประกอบดัชนีที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ปัจจัยบวกของดัชนีความเชื่อมั่นฯ ภาคเหนือในเดือนธันวาคม ได้แก่ การขยายตัวของภาคก่อสร้าง การท่องเที่ยวและบริการ ประกอบกับอยู่ในช่วงเทศกาลคริสต์มาส และปีใหม่ ส่งผลให้ความต้องการสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นยังมีความกังวลต่อการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน เนื่องจากต้องแบกรับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น อุตสาหกรรมในภาคเหนือที่มีค่าดัชนีปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ หัตถอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ และอุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ เป็นต้น ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 98.2 เพิ่มขึ้นจากระดับ 92.7 ในเดือนพฤศจิกายน องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนธันวาคม อยู่ที่ระดับ 100.2 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 95.3 ในเดือนพฤศจิกายน องค์ประกอบดัชนีที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ดัชนีความเชื่อมั่นฯของผู้ประกอบการในภาคตะวันออกเฉียงเหนือในเดือนธันวาคมยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมา ประกอบกับอยู่ในช่วงฤดูกาลหีบอ้อย ขณะเดียวกันการลงทุนในพื้นที่ขยายตัวได้ดีจากอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและอุตสาหกรรมพลังงาน อย่างไรก็ตามปัจจัยค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทยังเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและระดับความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมน้ำตาล อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 97.2 ลดลงจากระดับ 104.1 ในเดือนพฤศจิกายน องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิตต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ภาคตะวันออก ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนธันวาคม อยู่ที่ระดับ 106.0 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 105.9 ในเดือนพฤศจิกายน องค์ประกอบดัชนีที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิตและต้นทุนประกอบการ จากการสำรวจพบว่า ความเชื่อมั่นฯ ของผู้ประกอบการในภาคตะวันออกในเดือนธันวาคมยังคงขยายตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า จากความต้องการสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ โดยเฉพาะภาคการส่งออกที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่องสะท้อนจากดัชนียอดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น สำหรับอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมอลูมิเนียม อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น อุตสาหกรรรมก๊าซ เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 107.8 ลดลงจากระดับ 109.4 ในเดือนพฤศจิกายน องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิตและต้นทุนประกอบการ
และภาคใต้ ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนธันวาคม อยู่ที่ระดับ 100.8 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 85.6 ในเดือนพฤศจิกายน องค์ประกอบดัชนีที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิตต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ภาวะเศรษฐกิจของภาคใต้โดยรวมยังขยายตัวต่อเนื่อง จากผลผลิตในพื้นที่ ได้แก่ สินค้าเกษตร อุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อการปรับขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 เป็นต้นไป เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนประกอบการเพิ่มขึ้น สำหรับอุตสาหกรรมในภาคใต้ที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร ผลิตภัณฑ์ยาง อุตสาหกรรมโรงเลื่อยและโรงอบไม้ เป็นต้น ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 102.4 เพิ่มขึ้นจากระดับ 93.8 ในเดือนพฤศจิกายน องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจำแนกตามการส่งออก (ดัชนีความเชื่อมั่นฯ จำแนกตามร้อยละของการส่งออกต่อยอดขาย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศกับกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ) โดยจากผลการสำรวจพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ปรับเพิ่มขึ้นทั้ง 2 กลุ่ม จากเดือนพฤศจิกายน
กลุ่มที่มีการส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 50 ของยอดขาย (เน้นตลาดในประเทศ) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนธันวาคม อยู่ที่ระดับ 99.5 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 96.9 ในเดือนพฤศจิกายน องค์ประกอบดัชนีที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมอู่ต่อเรือ,อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร,อุตสาหกรรมน้ำตาล เป็นต้นขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 101.0 เพิ่มขึ้นจากระดับ 100.9 ในเดือนพฤศจิกายน องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม และผลประกอบการ
กลุ่มที่มีการส่งออกตั้งแต่ร้อยละ 50 ของยอดขายขึ้นไป (เน้นตลาดในต่างประเทศ) ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนธันวาคม อยู่ที่ระดับ 95.8 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 87.6 ในเดือนพฤศจิกายน องค์ประกอบดัชนีที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิตต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีเพิ่มขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง,อุตสาหกรรมยานยนต์, อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ เป็นต้น ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 99.0 เพิ่มขึ้นจากระดับ 94.5 ในเดือนพฤศจิกายน องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิตต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
สำหรับด้?านสภาวะแวดล้อมในการดําเนินกิจการ เมื่อพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบการอุตสาหกรรมในเดือนธันวาคม พบว่า ผู้ประกอบการมีความกังวลในประเด็นผลกระทบจากราคาน้ำมันมากที่สุด รองลงมา คือ ภาวะเศรษฐกิจโลก สถานการณ์การเมืองในประเทศ อัตราแลกเปลี่ยน และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ โดยผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้นในปัจจัยราคาน้ำมันและอัตราแลกเปลี่ยน
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐในเดือนธันวาคม คือต้องการให้ภาครัฐจัดงานแสดงสินค้าเพื่อสนับสนุนสินค้าของผู้ประกอบการ SMEs ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งชะลอการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (FT) และราคาก๊าซ LPG เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต รวมถึงเร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหาด้านราคาพลังงานอย่างยั่งยืนให้กับภาคอุตสาหกรรม พร้อมทั้งชดเชยส่วนต่างค่าจ้างแรงงาน 300 บาทต่อวัน เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวได้เป็นระยะเวลา 2 ปี และช่วยสนับสนุนหาแหล่งตลาดใหม่ๆ ให้กับภาคอุตสาหกรรมส่งออกเพื่อทดแทนตลาดหลักที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจยุโรปและสหรัฐฯ.