กรุงเทพฯ--28 ม.ค.--เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น
ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เป็นประธานเปิดผลงาน นวัตกรรมเด่น...เครื่องลดความร้อนชนิดเร็วลักษณะใช้จับ 2 มือ (Double-Hands Rapid Cooling)ของนักศึกษาไทย ซึ่งช่วยเสริมสมรรถนะให้นักกีฬาไทยด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่ก้าวล้ำ กล่าวว่า กีฬา มีความสำคัญต่อมนุษยชาติและสังคมในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ทั้งสุขภาพพลานามัยของร่างกายและจิตใจ การแข่งขันกีฬายังเป็นที่ชื่นชอบของคนทุกเพศทุกวัยและดึงดูดผู้ชมได้ทั่วโลก เช่น การแข่งขันฟุตบอลโลก การแข่งขันฟุตบอลยูโร และการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก เป็นต้น การแข่งขันกีฬาต่างๆนี้ ทำให้มีการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพและความสามารถของนักกีฬา หรือสมรรถภาพร่างกายให้ก้าวไปสู่ความพร้อมและความสมบูรณ์สูงสุด ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และเทคนิคทักษะกีฬาในช่วงการแข่งขันตลอดจนพัฒนาไปสู่ความสามารถสูงสุดในแต่ละบุคคล ประเทศที่มีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ต่างนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการพัฒนาการกีฬาของตน เพื่อบรรลุถึงการเป็นจ้าวเหรียญทอง หรือจำนวนเหรียญที่ตั้งเป้าไว้ได้
นางสาวหัทยา อิสสระประสาธน์ นักศึกษาปริญญาโท วิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)นักวิจัยผู้สร้างผลงาน เครื่องลดความร้อนชนิดเร็วลักษณะใช้จับ 2 มือ (Double-Hands Rapid Cooling) กล่าวว่า ผลงานนี้ ทางสจล.มี รศ.ดร..กิติพล ชิตสกุล เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ร่วมกับการกีฬาแห่งประเทศไทยภาค 2 สุพรรณบุรี โดยต่อยอดมาจากเครื่อง Rapid Thermal Exchange ที่ใช้ความเข้าใจกระบวนการการทำงานและสมรรถนะของร่างกายมนุษย์ มาสร้างเป็นอุปกรณ์ที่ สามารถเพิ่มสมรรถนะของร่างกายในช่วงการฝึกซ้อมหรือในขณะแข่งขันในหลาย ๆ ชนิดกีฬา ทั้งนี้โดยมีการพัฒนาและออกแบบวัสดุที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนอุณหภูมิใหม่ให้สามารถแลกเปลี่ยนอุณหภูมิได้ทั้ง 2 ฝ่ามือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการลดความร้อนในร่างกายของนักกีฬา อุปกรณ์จะมีการควบคุมอุณหภูมิที่โลหะให้มีค่า 17 ?C ตลอดเวลา เพื่อแลกเปลี่ยนอุณหภูมิฝ่ามือไปยังอุณหภูมิโลหะ ฝ่ามือจะดึงความเย็นจากโลหะกลับเข้าร่างกาย ส่งความเย็นไปยังแกนกลางของระบบสมอง เพิ่มความสดชื่น ลดอุณหภูมิความร้อนในร่างกายของนักกีฬา และลดความเหนื่อยล้า ลดค่าอัตราการเต้นของหัวใจ และยังสามารถเพิ่มความอดทนของกล้ามเนื้อ (Muscle Endurance) ผลการทดลองกับนักกีฬาในการแข่งขันมวยปล้ำชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย ได้ผลดียิ่ง นักกีฬาส่วนใหญ่ได้รับชัยชนะเกือบทั้งหมด
รูปแสดงลักษณะการใช้เครื่องลดความร้อนชนิดเร็วลักษณะใช้จับ 2 มือ
นางสาวหัทยา อิสสระประสาธน์ นักศึกษาปริญญาโท วิศวกรรมชีวการแพทย์ ผู้ทำวิจัย กล่าวว่า “ เครื่องลดความร้อนชนิดเร็วลักษณะใช้จับ 2 มือ วัสดุที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนอุณหภูมิ เป็นท่อทองแดงลักษณะ โค้งเป็นรูปตัว U คว่ำ อยู่ภายในกระเป๋าผ้าเพื่อสะดวกต่อการนำไปใช้ เพื่อใช้เป็นที่แลกเปลี่ยนความร้อนระหว่างฝ่ามือกับสารพาความร้อนซึ่งไหลเวียนมาจากแหล่งกำเนิดความเย็นซึ่งใช้เป็นน้ำแข็ง ท่อโค้งรูปตัว U คว่ำนี้มีการต่อท่อน้ำขนาดเล็กไปยังปั๊มน้ำซึ่งเป็นส่วนสร้างความเย็น ปั๊มน้ำนี้จะอยู่ภายในกระติกเก็บความเย็นที่จะใช้น้ำแข็งเป็นตัวสร้างความเย็นนั่นเอง แบตเตอร์รี่ได้มีการจัดเก็บไว้ด้านหลังของกระเป๋าผ้า และชาร์จด้วยเครื่องชาร์จแบตเตอร์รี่ 12 Vdc
รูปแสดงวัสดุที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนอุณหภูมิและโครงสร้างภายใน
เครื่องลดความร้อนชนิดเร็วลักษณะใช้จับ 2 มือ ถูกออกแบบให้ควบคุมอุณหภูมิของท่อทองแดงป้อนกลับจากเซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิ โดยใช้ไมโครคอมพิวเตอร์ ซึ่งสามารถปรับค่าอุณหภูมิได้ตั้งแต่ 10 ?C — 25 ?C นอกจากนี้ยังออกแบบให้แสดงผลและสั่งการทางหน้าจอสัมผัส (Touch Screen) เพื่อสะดวกต่อการใช้งานอีกด้วย
ในการใช้งาน เครื่องลดความร้อนชนิดเร็วลักษณะใช้จับ 2 มือ มีการออกแบบเป็น เครื่องมือลดอุณหภูมิแบบ Non-Invasive สำหรับนักกีฬา บุคคลที่มีภาวะเสี่ยงต่อสภาวะ Hyperthermia (สภาวะเกิดอุณหภูมิสูงผิดปกติ) รวมไปถึงบุคคลที่มีความจำเป็นต้องทำงานกลางแจ้ง เครื่องลดความร้อนชนิดเร็วลักษณะใช้จับ 2 มือ ไม่ได้มีการออกแบบให้ลดอุณหภูมิร่างกายที่มีความร้อนสูงเกิน 40.5 ?C ถ้าร่างกายมีความร้อนสูงเกิน 40.5 ?C ควรรีบนำส่งแพทย์ทันที
เครื่องลดความร้อนชนิดเร็วลักษณะใช้จับ 2 มือ ถูกออกแบบมาสำหรับใช้ในอุณหภูมิแวดล้อมที่ 10 — 43 ?C
(50 — 110 ?F) ในขณะชาร์จแบตเตอรี่เครื่องลดความร้อนชนิดเร็วลักษณะใช้จับ 2 มือ ห้ามสลับขั้วแบตเตอรี่ เพราะ
จะทำให้แบตเตอรี่เสียหายได้ ไม่ควรเปิดใช้เครื่องลดความร้อนชนิดเร็วลักษณะใช้จับ 2 มือ เป็นระยะเวลานาน ควรให้
เครื่องหยุดพักบ้าง “
จากผลการทดสอบที่น่าพอใจในประสิทธิภาพ ทางการกีฬาแห่งประเทศไทยมีแผนที่จะนำไปใช้ในโครงการสปอร์ตฮีโร่ และงานกีฬาแห่งชาติ นับเป็นความสำเร็จในการใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาพัฒนาการกีฬาของไทยให้ก้าวไกล