กรุงเทพฯ--28 ม.ค.--เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น
ครั้งแรกของโลกด้วยไอเดียก้าวล้ำ โดยนักศึกษาไทย คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)คิดค้น แว่นตาสั่งงานเพื่อผู้ป่วยอัมพาต หรือคนพิการส่วนแขนขา แต่ยังหันคอได้ ให้สามารถช่วยเหลือตนเองในดำรงชีวิตประจำวันได้ เป็นผลงานของนาย นพมงคล เฉิดฉาย นักศึกษาปริญญาตรี วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ปี 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ก่อนหน้านี้ในต่างประเทศเคยมีผู้คิดประดิษฐ์อุปกรณ์สั่งการด้วยคลื่นสมองแต่มีความซับซ้อนและราคาสูงลิ่ว จากแรงบันดาลใจที่จะช่วยผู้ป่วยที่มีมากทั่วประเทศ นักศึกษาไทยคนนี้ได้นำเอาเทคโนโลยีไอทีจากมือถือสมาร์ทโฟนที่เป็นของใช้ประจำวันมาใช้ผสมผสานกับเทคโนโลยีอื่นๆให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม
ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)กล่าวถึงที่มาของนวัตกรรมนี้มาจากปัญหาแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้สูงอายุ และ อีก 5 ปีข้างหน้า จะมีมากถึง 9 ล้านคน นอกจากนี้จำนวนผู้พิการก็มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น จากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อ ปี พ.ศ.2550 นั้น ประเทศไทยมีผู้พิการถึง 1.9 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 2.9 ของประชากรทั้งหมด สำหรับผู้พิการด้านร่างกาย ได้แก่ แขนขาอ่อนแรง อัมพาต มีประมาณ 3.5 แสนคน โดยปัญหาแขนขาอ่อนแรง ไม่สามารถควบคุมการทำงานของแขนขาได้ พบมากในผู้สูงอายุและผู้พิการด้านแขนขา ดังนั้นจึงเป็นที่มาของนวัตกรรมแว่นตาสั่งงานเพื่อผู้ป่วยอัมพาต ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและสามารถพึ่งพาตนเองได้ระดับหนึ่ง
นาย นพมงคล เฉิดฉาย นักศึกษาปริญญาตรี วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ปี 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)ผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมแว่นตาสั่งงานเพื่อผู้ป่วยอัมพาต กล่าวว่า ” หลักการทำงาน ผู้ป่วยจะสั่งงานโดยใช้แว่นตาที่ออกแบบให้ติดเลเซอร์และควบคุมการเปิดปิดโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ลำแสงเลเซอร์จะไปตกบนฉากรับแสงในตำแหน่งที่กำหนดไว้ หน่วยประมวลผลตำแหน่งของเลเซอร์จะส่งรหัสสั่งการตามที่โปรแกรมไว้ โดยระบบประมวลผลใช้โทรศัพท์มือถือ Android โดยมีกล้องวีดีโอทำการรับข้อมูลจากฉากนำไปสั่งการทำงานต่างๆ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เวลาใช้ผู้ป่วยสวมแว่นตา นั่งอยู่หน้าฉากหรือผนังที่เขียนคำสั่งไว้ เพียงหายใจแรงๆไปยังไมโครโฟนเท่านั้น ซึ่งจะทำให้เลเซอร์ไดโอดบนกรอบแว่นทำงาน ติดสว่างในช่วงสั้นๆ ผู้ใช้งานเพียงควบคุมหันให้ลำแสงชี้ไปยังฉากที่มีคำสั่งต่างๆบนฉาก หรือผนัง จนแสงเลเซอร์ดับ เช่น ปุ่ม1 ปิดแอร์ , ปุ่ม2 เปิดไฟฟ้าในบ้าน ,ปุ่ม 3 เปิด-ปิด ทีวี ,ปุ่ม 4 ส่งข้อความขอความช่วยเหลือทางSMS เป็นต้น
...ในการพัฒนาผลงานนี้เริ่มจากพัฒนาซอฟท์แวร์คำสั่งต่างๆ ที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันของผู้ป่วยบนระบบปฎิบัติการแอนดรอยด์(Android) ที่ใช้ในมือถือสมาร์ทโฟน อุปกรณ์แว่นตาสั่งงานนี้ ดีไซน์เป็นกรอบแว่น ติดเข้ากับก้านไมโครโฟนสำหรับรับลมหายใจและเลเซอร์ พอยเตอร์ ส่วนการสร้างรหัสควบคุม โทรศัพท์จับภาพของจุดเลเซอร์และส่งภาพไปประมวลผล ซึ่งทำงานตามโปรแกรมที่เขียนขึ้นมาตามหลักการของ Digital Image Processing เพื่อคำนวณตำแหน่งของจุดเลเซอร์เทียบกับจุดอ้างอิง แปลงเป็นรหัสส่งออก ให้เป็นคำสั่งต่อไป โปรแกรมที่เขียนใช้ภาษา JAVA และไลบรารี่ ของ Open CV บน Android
...วิธีการของระบบในผลงานนี้ ได้เลือกระบบประมวลผลภาพ ใช้สำหรับการรับข้อมูลจากฉากรับภาพที่ผู้ป่วยทำการชี้แสงเลเซอร์ไปยังตำแหน่งต่างๆ บนฉาก และเลือกใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ ระบบปฏิบัติการ แอนดรอยด์ เป็นส่วนประมวลผล ด้วยข้อดีที่มีขนาดเล็กและราคาประหยัด
ระบบการประมวลผลทั้งระบบอยู่บนอุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งหมดจึงทำให้ระบบมีขนาดเล็กและสะดวกต่อการใช้งาน โดยโทรศัพท์เคลื่อนที่ มีฟังก์ชันการใช้งานที่หลากหลายซึ่งนำมาเรียกใช้งานได้ในตัวเดียวไม่ต้องมีอุปกรณ์อื่นต่อพ่วง เช่น การส่งเสียง, การส่งข้อความ, การสั่น เป็นต้น
ระบบการประมวลผลทางภาพที่ประมวลผลอยู่ในโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้นเราเรียกใช้งานจาก Open Source Computer Library ที่รวบรวมเอาความสามารถทางด้านการประมวลผลภาพ (Image Processing) โดยมีข้อดี ใช้หน่วยความจำน้อย ทุกแอพพลิเคชั่นจะ มีความน่าเชื่อถือ ทุกแพ็คเกจของ OpenCV ได้ถูกนำขึ้นบนบริการของ Google Play, การอัพเดทและกำจัดบั๊ก (bog Fixes) เป็นประจำ
ส่วนสร้างรหัสควบคุม โทรศัพท์จับภาพของจุดเลเซอร์และส่งภาพไปประมวลผล ซึ่งทำงานตามโปรแกรมที่เขียนขึ้นมาตามหลักการของ Digital Image Processing เพื่อคำนวณตำแหน่งของจุดเลเซอร์เทียบกับจุดอ้างอิงเพื่อแปลงเป็นรหัสส่งออก เพื่อเป็นคำสั่งต่อไปยังส่วนต่อไป โปรแกรมที่เขียนใช้ภาษา JAVA และไลบรารี่ ของ Open CV บน Android
อุปกรณ์เครื่องมือต้นแบบนี้ สามารถติดตั้งบริเวณต่างๆตามความต้องการของผู้ป่วย ซึ่งสามารถจัดการแก้ไขโปรแกรมได้สะดวกและไม่ซับซ้อนในภาพรวมของอุปกรณ์ต้นแบบ ,ฉากรับภาพและส่วนประมวลผล,แว่นตาที่ใช้สั่งการ”
บนเส้นทางสู่การเป็นเมดิคัลฮับของประเทศไทย ผลงานนี้นับเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมอุปกรณ์เสริมทางการแพทย์ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสังคม นำมาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยอัมพาต สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : รศ.ดร.กิติพล ชิตสกุล โทร.089-518-9251 ,นาย นพมงคล เฉิดฉาย Tel.087-9992789