กรุงเทพฯ--28 ม.ค.--กสทช.
กสทช. จัดงาน “คิดก่อนคลิก Cybersecurity มหันตภัยปลายนิ้ว” มุ่งรณรงค์สร้างภูมิความรู้เตือนภัยคนรุ่นใหม่ยุค 3G ต้องฉลาดรู้เท่าทันมิจฉาชีพบนโลกไซเบอร์
กสทช. จัดงาน “คิดก่อนคลิก Cybersecurity มหันตภัยปลายนิ้ว” นิทรรศการเสมือนจริงบนโลกออนไลน์ มุ่งเตือนภัยคนรุ่นใหม่ยุค 3G ให้ตื่นตัวเน้นสร้างการรับรู้ถึงมหันตภัยบนโลกไซเบอร์จากมิจฉาชีพที่แฝงตัวมาในรูปแบบต่างๆ รวมถึงแนะวิธีป้องกันภัยจากการถูกโจรกรรมข้อมูลและทรัพย์สิน เพื่อลดการเกิดความสูญเสียมูลค่ามหาศาลที่อาจเกิดขึ้นได้ในทุกภาคส่วน
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันสังคมออนไลน์กลายเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อไลฟ์สไตล์ ที่นิยมกันอย่างแพร่หลายอย่างสมาร์ทโฟนกลายเป็นมากกว่าการโทรเข้าโทรออก แต่เปรียบเสมือนเป็นตัวแทนของเราที่ทำหน้าที่ติดต่อสื่อสารผ่านโลกออนไลน์ได้ทุกที่ทุกเวลา ซึ่งตอบสนองไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตได้อย่างสมบูรณ์ หลายคนทำธุรกรรมบนมือถือ โอนเงิน จ่ายบัตรเครดิต บ้างก็เก็บข้อมูลสำคัญไว้ และมีไม่น้อยที่ใช้ชีวิตบนโซเซี่ยลเน็ตเวิร์กอย่างเปิดเผย จึงจำเป็นอย่างมากที่คนรุ่นใหม่ยุค 3G จะต้องศึกษาหาข้อมูลเพื่อป้องกันความเสี่ยงและระวังภัยจากกลุ่มมิจฉาชีพบนโลกออนไลน์ที่จะแฝงตัวมาในรูปแบบใหม่ๆ รวมถึงโปรแกรมต่างๆ อย่างเช่น แฮกเกอร์ ไวรัส มัลแวร์ มากยิ่งขึ้นตามความก้าวล้ำของเทคโลยี โดยเฉพาะผู้ที่ใช้สมาร์ทโฟนเนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงกว่าผู้ใช้คอมพิวเตอร์ถึง 3 เท่า
พลอากาศเอก ธเรศ ปุณศรี ประธาน กสทช. กล่าวว่า “ในฐานะที่ กสทช. มีหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนไม่ให้ถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบการ สร้างความเป็นส่วนตัวและส่งเสริมความเสมอภาคในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ที่ใช้ในกิจการต่างๆ ประกอบกับอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ประเทศไทยจะก้าวสู่ยุค 3G อย่างเต็มรูปแบบนั้น จะยิ่งทำให้ในอนาคตการใช้งานอินเทอร์เน็ตแบบผ่านมือถือสมาร์ทโฟนจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ หรือการบริการใหม่ๆ ก็จะเข้ามามีบทบาทเพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตบนสมาร์ทโฟนเพิ่มมากขึ้น ทั้งในรูปแบบด้านความบันเทิง ตอบสนองการทำงาน ไลฟ์สไตล์ รวมถึงการทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ด้วย โดยช่องทางเหล่านี้ จะเป็นอีกช่องทางของผู้ที่ไม่ประสงค์ดีที่จะเข้ามาหวัง
ผลประโยชน์ โจรกรรมข้อมูลหรือทรัพย์สิน ซึ่งนับเป็นมหันตภัยที่ร้ายแรงบนโลกออนไลน์ที่ทุกคนต้องพึงระวังเนื่องจากอาจเกิดความสูญเสียมากมายมหาศาล และอาจเกิดขึ้นได้ทั้งในภาคประชาชน องค์กร และระดับชาติ ซึ่งในแต่ละปีมีมูลค่าความเสียหายระดับประเทศสูงนับหลายร้อยล้านบาท”
ด้วยเหตุนี้ กสทช. จึงมีความมุ่งมั่นที่จะรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ภาคประชาชน จึงได้จัดงานนิทรรศการความรู้ “คิดก่อนคลิก Cybersecurity มหันตภัยปลายนิ้ว” เพื่อให้คนรุ่นใหม่ยุค 3G โดยเฉพาะผู้ที่ใช้มือถือสมาร์ทโฟนได้ตระหนักและรู้เท่าทันมหันตภัยบนโลกออนไลน์ที่จะแฝงมาในรูปแบบต่างๆ รวมถึงรู้จักวิธีป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งงานนี้จะเป็นนิทรรศการเสมือนจริงที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์ แต่นำมาปรับและประยุกต์ให้ประชาชนเข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยมีสาระประโยชน์ที่ควรรู้มากมาย ทั้งวิธีที่มิจฉาชีพมักใช้โจรกรรมข้อมูล โปรแกรมและแอพพลิเคชั่นที่ควรระวัง วิธีการป้องกันตัวตนบนโลกออนไลน์ รวมถึงตัวอย่างกรณีศึกษา เพื่อเตรียมพร้อมตั้งรับกับภัยใกล้ตัวที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว โดยงานจะเริ่มขึ้นตั้งแต่วันนี้ — วันอาทิตย์ที่ 27 มกราคม 2556 ณ ลานชั้น 1 ห้างสรรพสินค้าเทอร์มินัล 21 ซึ่งแบ่งกิจกรรมต่างๆ เป็น 5 โซน ได้แก่
1. โซน Phishing กรอกปุ๊ป รับปั๊บ: บอกถึงวิธีป้องกันตัวจากการเป็นเหยื่อตกปลาออนไลน์
2. โซน Identity Theft แฝดนรก: บอกถึงวิธีป้องกันตนเองไม่ให้ผู้ไม่หวังดีสวมรอยเป็นตัวเรา
3. โซน Social Media แซทแล้วโดน…เอาไปเลย: บอกถึงสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำบนสังคมออนไลน์
4. โซน Mobile Malware ชีวิตติดมือถือ: รู้จักมัลแวร์ โปรแกรมตัวร้ายในสมาร์ทโฟน และแนวทางที่ควรปฏิบัติ
5. โซน Check Point วางใจหรือใจหาย: บททดสอบความเสี่ยงของตัวคุณ รวมถึงวิธีแนะนำ
กุญแจซอล — ป่านทอง บุญทอง AF6 ในฐานะคนวงการบันเทิงเล่าในช่วง Cybersecurity Share ว่าซอลก็เคยประสบกับตนเองในเคสที่มีผู้ไม่หวังดีบนโลกออนไลน์ที่แฝงตัวมาในรูปแบบต่างๆ มีทั้งแบบทำตัวสนิทสนมบอกว่าเป็นเพื่อนเก่าและเข้ามาปะปนบนอยู่ในสังคมเฟสบุ๊คของเรา และพูดโน้มน้าวเพื่อให้เราโอนเงินให้ หรือบ้างก็เจออีเมล์แปลกๆ ในลักษณะที่บอกว่าเป็นผู้โชคดีได้รางวัล และให้กดไปที่ Link นี้เพื่อยืนยันการรับของรางวัล เป็นต้น ซึ่งซอลมองว่าคนที่มีชื่อเสียง รวมถึงคนในแวดวงบันเทิงน่าจะเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างเสี่ยง เพราะมิจฉาชีพบนโลกออนไลน์จะสามารถเข้าถึงความเป็นส่วนตัวได้ง่ายและรู้ถึงความเคลื่อนไหวของเราจากข่าวสาร ซึ่งการรณรงค์ให้ทุกคนได้ตระหนักรู้และเข้าใจถึงมหันตภัยไร้สายในรูปแบบต่างๆ รวมถึงแนะวิธีป้องกันภัยจึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุดค่ะ
พลอากาศเอก ธเรศ ปุณศรี ประธาน กสทช. กล่าวเพิ่มเติมถึงวิธีป้องกันภัยเบื้องต้นว่าอย่างน้อยควรจะต้องตั้งรหัสผ่านให้กับโทรศัพท์มือถือ เพราะสามารถป้องกันข้อมูลรั่วไหลได้สูงถึง 70-80% ไม่ควรเก็บข้อมูลที่มีความสำคัญมากๆ ในมือถือ ไม่ควรเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว เช่น วันเกิด ที่อยู่บ้าน ที่ทำงาน บนโลกโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค และควรปิดสัญญาณ WI FI, สัญญาณบลูทูธ และฟังก์ชั่นบอกตำแหน่งในมือถือในเวลาที่ไม่ใช้งาน ที่สำคัญควรติดตั้งโปรแกรมรักษาความปลอดภัยด้วย รวมถึงอัพเดทโปรแกรมบนมือถือให้เป็นเวอร์ชั่นใหม่อย่างสม่ำเสมอ
สำหรับนโยบายด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของทางรัฐบาล ดร.สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ให้ข้อมูลว่ารัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องความมั่นคงและความปลอดภัยในโลกไซเบอร์เป็นอย่างมาก และในอนาคตการให้บริการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐหรือที่เรียกว่า e-Government จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนไทย ทำให้สามารถติดต่อกับหน่วยงานรัฐได้สะดวกสบายมากขึ้น การใช้ข้อมูลของภาครัฐเหล่านี้ต้องมีความมั่นใจว่า ผู้ให้บริการระบบสามารถดำเนินการเพื่อให้เกิดความปลอดภัยและเกิดความเป็นส่วนตัวตามที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยสามารถเข้าถึงข้อมูลชั้นสูงได้เฉพาะผู้ที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายเท่านั้นและต้องมีความมั่นคงปลอดภัยในชั้นสูงสุด
ส่วนของแผนแม่บทความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ รัฐบาลก็ให้ความสำคัญมากเช่นกัน ซึ่งมีรายละเอียดมากพอสมควร โดยแบ่งเป็นการเตรียมความพร้อมทั้งในด้านการเริ่มต้นที่ให้ระบบมีความเชื่อมั่นได้ หรือมีความมั่นคงปลอดภัยขั้นสูง และถึงแม้ว่าระบบจะมีความมั่นคง ปลอดภัยแล้ว แต่หากพบผู้ที่ชอบเจาะข้อมูล ก็จะมีมาตรการในการติดตามผู้ที่เข้ามาก่อความเสียหายโดยมีหน่วย ThaiCERT (Thai Computer Emergency Response Team) ที่จะเข้ามาประสานงาน วิเคราะห์รูปแบบของมหันตภัย รวมถึงวิธีป้องกันภัย เพื่อจะได้เข้าไปแก้ไขเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที
ท้ายนี้ในฐานะที่ กสทช. เป็นหน่วยงานหลักที่มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชน จึงใคร่ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้ช่วยเป็นหูเป็นตา หากพบเห็นเว็บไซต์หลอกลวงซึ่งมีจุดประสงค์ในการขโมยข้อมูลส่วนบุคคล สามารถแจ้งเหตุภัยคุกคามได้ที่เจ้าของบริการเหล่านั้น หรือส่งอีเมล์มาที่ report@thaicert.or.th ตลอด 24 ชั่วโมงหรือโทร 02-142-2483 ในเวลา 8.30-17.30 ทุกวันทำการ
ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับสื่อมวลชน กรุณาติดต่อ
สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
กลุ่มงานสื่อสารองค์กร โทร. 02 271 0151-60