กรุงเทพฯ--29 ม.ค.--ทีโอที
บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาขน) เพิ่มศักยภาพสถานีทวนสัญญาณ ทีโอที ดอยอินทนนท์ ติดตั้งโครงข่ายใยแก้วนำแสงตลอดเส้นทางดอยอินทนนท์ เพื่อเป็นแม่ข่ายเชื่อมโยงระบบสื่อสารโทรคมนาคมระหว่าง “หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา” กับศูนย์ประมวลผล สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเชื่อมโยงกับเครือข่าย
หอดูดาวในพื้นที่ภาคอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ใน ปี พ.ศ. 2550 รัฐบาลได้เห็นชอบให้โครงการหอดูดาวแห่งชาติเป็นหนึ่งในโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 80 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา เป็นโครงการในพระราชดำริฯ เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2552 และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามหอดูดาวแห่งชาติฯ ว่า “หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา” เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2554 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2556
นายยงยุทธ วัฒนสินธุ์ รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “หอดูดาวเฉลิมพระเกียติ 7 รอบ พระชนมพรรษา” ตั้งอยู่ ณ บริเวณสถานีทวนสัญญาณ ทีโอที อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนนท์ กม.44.4 อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเมื่อปี พ.ศ. 2524 กรมป่าไม้ได้อนุญาตให้ ทีโอที ใช้พื้นที่ของอุทยานแห่งชาติ ดอยอินทนนท์ จำนวน 2 ไร่ 50 ตารางวา ตั้งสถานีทวนสัญญาณ ทีโอที บนเส้นทางหลวงหมายเลข ๑๐๐๙ จอมทองดอยอินทนนท์ โดยต่อมาปี พ.ศ. 2551 สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้ขออนุญาต ทีโอที ก่อสร้างอาคารหอดูดาวแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ และห้องควบคุมกล้องโทรทรรศน์ โดยได้ก่อสร้างบริเวณด้านตะวันตกของสถานีทวนสัญญาณ ทีโอที อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 2,457 เมตร และปราศจากแสงรบกวนจากเมืองใหญ่
นายยงยุทธ วัฒนสินธุ์ รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวเพิ่มเติมว่า “หอดูดาวเฉลิมพระเกียติ 7 รอบ พระชนมพรรษา” นับเป็นหอดูดาวที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยคาดว่าจะเป็นศูนย์กลางการศึกษาดาราศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทีโอที จึงได้เพิ่มศักยภาพสถานีทวนสัญญาณ ทีโอที ดอยอินทนนท์ ด้วยการติดตั้งโครงข่ายใยแก้วนำแสงตลอดเส้นทางดอยอินทนนท์ เพื่อเป็นแม่ข่ายเชื่อมโยงรองรับระบบสื่อสารโทรคมนาคมระหว่างหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ7 รอบ พระชนมพรรษา และรวมถึงหอดูดาวที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์กรมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นการสนองนโยบาย Smart Network ของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดย ทีโอที ได้ดำเนินการติดตั้งโครงข่ายเคเบิลใยแก้ว Optical Fiber Cable รวมระยะทาง 57 กิโลเมตร ประกอบ ด้วย 48 เส้นทางจากชุมสายจอมทองถึงชุมสายบ้านขุนกลาง (บริเวณดอยอินทนนท์ กม.31) และ 24 เส้นทางจากชุมสายบ้านขุนกลาง ถึงสถานีทวนสัญญาณดอยอินทนนท์ (บริเวณที่ตั้งหอดูดาว) ถึงสถานีเรดาห์ทหารอากาศ รวมถึงการจัดทำท่อร้อยสายพร้อมบ่อพัก สำหรับหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานทางดาราศาสตร์ที่มีมาตรฐานระดับสากลทัดเทียมกับนานาชาติ ก่อให้เกิดความร่วมมือทางวิชาการอย่างกว้างขวางกับนักวิชาการและหน่วยงานทางดาราศาสตร์ทั่วโลก ซึ่งจะเป็นส่วนผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาดาราศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีทัศนวิสัยทางดาราศาสตร์ที่เหมาะสมต่อการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ อยู่สูงจากระดับฟ้าหลัว มีสภาพอากาศปลอดโปร่งสามารถสังเกตการณ์ท้องฟ้าได้เฉลี่ยมากกว่า 200 คืนต่อปี