กรุงเทพฯ--29 ม.ค.--สยาม พีอาร์
เผยความสำเร็จปีที่ผ่านมา ผลงานโดดเด่นด้านงานวิจัยสร้างชื่อระดับโลก ทั้งสายวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ พร้อมมุ่งสานต่อนโยบายหลัก ด้านวิจัย นานาชาติ และความรับผิดชอบต่อสังคม
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกาศแผนยุทธศาสตร์ปี 2556 มุ่งสานต่อนโยบายหลักด้าน “การเป็นผู้นำด้านการวิจัย ความเป็นนานาชาติ และมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน” เผยเตรียมเปิด 6 หลักสูตร หลักสูตรใหม่ เพื่อความเป็นนานาชาติ 4 หลักสูตร ได้แก่ “วิศวกรรมยานยนต์” (หลักสูตรภาคภาษาอังกฤษ) “วิศวกรรมคอมพิวเตอร์” (หลักสูตรนานาชาติ) “อาเซียนศึกษา” “หลักสูตรปริญญาตรีควบโท สาขาวิชาคณิตศาสตร์การจัดการ”(หลักสูตรสองภาษา) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร และหลักสูตรภาคภาษาไทย 2 หลักสูตร คือ “เภสัชศาสตร์” และ “ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาปรัชญาการเมืองและเศรษฐศาสตร์” ซึ่งปรับปรุงและเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและความเป็นสากลให้มากขึ้น พร้อมเผยแผนยุทธศาสตร์ 2555-2559 ชูกลยุทธ์หลัก 6 I ทุ่มงบประมาณการพัฒนาทุกด้านทั้งวิจัย วิชาการ และด้านกายภาพ เพื่อคุณภาพชีวิตนักศึกษาและบุคลากร
ศาสตราจารย์ ดร. สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงแนวทางการบริหารงานของมหาวิทยาลัยในปีพ.ศ. 2556 นี้ว่า จะยังคงสานต่อแนวนโยบายหลักสามด้าน คือความเป็นผู้นำทางวิชาการและการวิจัย ความเป็นนานาชาติ และการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน โดยมีเป้าหมายเชิงนโยบายที่ได้วางไว้สู่การบรรลุเป้าหมายในปีพ.ศ. 2559 คือการเป็น 40 อันดับแรกในภูมิภาคเอเชีย ผลิตงานวิจัยที่ใช้ประโยชน์ได้จริง ควบคู่ไปกับการเป็นแกนนำด้านความร่วมมือทางวิชาการในกลุ่มอาเซียน และการพลิกฟื้นบทบาทการเป็นสถาบันที่ต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน
อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวต่อไปว่า “ในด้านการเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยนั้นที่ผ่านมา ได้มีการเพิ่มงบวิจัยอย่างก้าวกระโดด โดยเพิ่มงบวิจัยเป็น 100 ล้านบาทต่อปี เสริมกับงบวิจัยที่ได้กับโครงการมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ (NRU) ที่เราได้รับ 3 ปีรวมประมาณกว่า 180 ล้านบาท และงบประมาณแผ่นดินปีละประมาณ 35 ล้านบาท ผลักดันไปสู่งานวิจัยมากขึ้น รวมทั้งวางแนวทางการผลักดันการสร้างงานวิจัยอย่างเป็นรูปธรรม ส่งเสริมให้อาจารย์ทำวิจัย และเพิ่มงบประมาณให้สถาบันวิจัยต่างๆ ที่สำคัญมีการจัดตั้งหน่วยงานสนับสนุนด้านการวิจัย อาทิ สำนักบริหารการวิจัย รวมทั้งศูนย์ค้นคว้าและพัฒนายา 193 ล้านบาท ศูนย์สัตว์ทดลอง 63.3 ล้านบาท ศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ เฟสแรก 210 ล้านบาท การจัดตั้ง Center of Excellence(COE) รวม 5 ศูนย์ และให้งบสนับสนุนศูนย์ละ1 ล้านบาทต่อปีตลอด 3 ปี นอกจากนี้ ยังมีทุนนักวิจัยรุ่นใหม่ให้ทุนละ 2 แสนบาทต่อปีต่อคน ทุนนักวิจัยทั่วไปให้ทุนละ 3 แสนบาทต่อปีต่อคน ทุนพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ 5 แสนบาทต่อคน ซึ่งนับว่าเป็นทุนส่งเสริมประเภทบุคคลที่ให้มากที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองไทย อีกด้วย
ผลงานความสำเร็จที่เด่นชัดก็คือ ที่ผ่านมา เราได้รับรางวัลระดับประเทศและระดับโลกมากมาย เช่น ด้านวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ โดยได้รางวัลสิ่งประดิษฐ์ระดับโลก 7 รางวัลจากประเทศเกาหลี และล่าสุด คณะพาณิชยศาสตร์ฯ ได้รับการรับรองมาตรฐาน EQUIS ของยุโรปเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานทุกระดับทั้งปริญญาตรี — โท และเอก และล่าสุดยังได้รับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติครบทุกประเภทรางวัลรวม 9 รางวัล อาทิ รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัย รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น เป็นต้น”
ส่วนด้านความเป็นนานาชาตินั้น ได้เริ่มในการขยายโอกาสในการเรียนด้านภาษาอังกฤษให้กับนักศึกษา มีการเปิดหลักสูตรภาคภาษาอังกฤษและหลักสูตรนานาชาติเพิ่มขึ้น จากเดิม 55 หลักสูตรเป็น 64 หลักสูตร นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาความร่วมมือและเครือข่ายกับ 333 สถาบันทั่วโลก อาทิ ISEP,UC Consortium, ERASIA EruasiaII Lotus L ในยุโรป และในเอเชีย คือ KAWAN Consortium ที่สำคัญ ด้านอาเซียน เป็นเรื่องที่มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญเป็นพิเศษ มีการเร่งรัดจัดตั้งศูนย์อาเซียนศึกษา เพื่อให้เป็นศูนย์ที่ดีที่สุดในประเทศไทย และในระยะยาวอาจเป็นศูนย์ที่ดีที่สุดในอาเซียนด้วยเช่นกัน
ในด้านการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน ได้มีการเพิ่มหลักสูตรวิชา TU 100 : ซึ่งเป็นวิชาที่ส่งเสริมให้นักศึกษามีจิตสำนึกของการเป็นพลเมืองที่รับผิดชอบต่อสังคม รวมทั้งโครงการ Service Learning ที่เป็นการเรียนรู้โดยการให้บริการแก่ชุมชนและสังคม โดยการนำความรู้ที่เรียนในห้องเรียนสู่การพัฒนาชุมชนรอบๆ มหาวิทยาลัย นอกจากนี้ ยังมีโครงการรับนักเรียนจิตอาสาเป็นกรณีพิเศษเพื่อศึกษาต่อในธรรมศาสตร์ เพื่อเป็นการส่งเสริมจิตวิญญาณของการทำเพื่อประชาชนส่วนรวม อันเป็นเอกลักษณ์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาช้านาน
รศ. เกศินี วิฑูรชาติ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและการคลัง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึง การขับเคลื่อนการบริหารงานผ่านกลยุทธ์ 6 I ที่เป็นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันได้แก่ 1. International การมุ่งสู่ความเป็นสากล และความเป็นนานาชาติ โดยการเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่มีมาตรฐานระดับ World Class มีศูนย์การศึกษาทั่วโลก 2. Information Technology ในการพัฒนาระบบ WiFi ให้มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และทั่วถึง 3. Innovation สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับต่างประเทศ เพื่อพัฒนาหลักสูตรให้มีความเป็นนวัตกรรมมากยิ่งขึ้น 4. Integrity มุ่งความยุติธรรม ธรรมภิบาล จิตวิญญาณ ในการช่วยเหลือชุมชน และผู้ด้อยโอกาส 5.Interdisciplinary/ Integrated สร้างหลักสูตรบูรณาการ เพิ่ม Double major, Double degree และ 6.Investment + Finance พัฒนาแนวทางการลงทุน/ ทรัพย์สิน
นอกจากนี้ ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังได้เตรียมพัฒนาโครงการ “ศูนย์เรียนรู้ด้วยตนเองแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ภายใต้งบประมาณในการพัฒนาเฟสแรก 297 ล้านบาท คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2557 “ศูนย์ International Education Building” (อาคาร SC2) ภายใต้งบประมาณ 127 ล้านบาท คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้ในปี 2556 นี้ เพื่อนักศึกษาธรรมศาสตร์ จะได้ใช้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และเชื่อมโยงการเรียนรู้ในด้านต่างๆ จากต่างประเทศได้ด้วยตนเอง และ ยังได้พัฒนาศูนย์ส่งเสริมการวิจัยขั้นสูง อันประกอบไปด้วย อาคารศูนย์เครื่องมือเพื่อการวิจัยขั้นสูง คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2557 ศูนย์ความเป็นเลิศทางการวิจัยค้นคว้าและพัฒนายาแห่งประเทศไทย โดยปัจจุบันได้ก่อสร้างแล้วเสร็จแล้วและได้เปิดให้ใช้บัณฑิต นักศึกษา ตลอดคณาจารย์ ได้ใช้งานไปแล้วเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555 ที่ผ่านมา
แผนยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปี 2556 ยังรวมทั้งการพัฒนาผังแม่บทด้านกายภาพและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประชาคมมีคุณภาพชีวิตที่สูงชึ้น โดยประกอบด้วยการจัดให้มีศูนย์กลางเพื่อสร้างความเป็นประชาคมของศูนย์รังสิต การสร้างเอกลักษณ์ของ มธ. ศูนย์รังสิต การเป็น Green University ได้แก่ การส่งเสริมให้ใช้จักรยาน เพิ่มทางเท้า การประหยัดพลังงาน การจัดการขยะ การป้องกันภัยพิบัติ และการเชื่อมโยงกับชุมชน เป็นต้น