กรุงเทพฯ--15 พ.ย.--ซีดีจี
‘อีเอสอาร์ไอ’ เปิดฉากยิ่งใหญ่งานสัมมนา GIS หนึ่งเดียวในประเทศไทยที่แสดงเทคโนโลยีทุกสาขาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี GIS ชื่องาน‘Thai Geomatics User Conference 2004’ ปีที่ 9 ฯพณฯ กร ทัพพะรังสี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน โดยมีคลื่นมหาชนเข้าร่วมงานกว่า 1,600 คน อีเอสอาร์ไอย้ำรูปแบบจัดงานบ่งชี้ให้เห็นถึงการนำ GIS ไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้จริง พร้อมเปิดตัว GPS ภาษาไทยเครื่องแรกของโลกถึง 2 รุ่น เผยปีหน้าเตรียมรุกตลาดใหม่เพิ่มเติม เช่น Tracking-LBS-Logistics แน่
ฯพณฯ กร ทัพพะรังสี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวในงาน ‘Thai Geomatics User Conference 2004’ ณ ห้องวิภาวดี บอลรูม โรงแรมโซฟิเทล เซ็นทรัล ว่า เทคโนโลยีทางด้านระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) จะช่วยให้ระบบ Logistics ของไทยมีความทันสมัย ช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้า สอดคล้องกับการเข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก หรือ WTO โดยเชื่อว่าตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นไป จะมีการนำระบบ GIS เข้าใช้ประโยชน์มากขึ้น
“เทคโนโลยีทั้งหมดนี้ ไม่ได้อยู่ที่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเป็นเจ้าของ แต่เป็นของประเทศชาติ ดังนั้น ต้องลดการทำงานที่ซ้ำซ้อนของแต่ละหน่วยงาน เช่น ภาพถ่ายทางอากาศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับภาพถ่ายดาวเทียมของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ต้องเอามารวมกัน แล้วให้ทุกคนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันทั้งหมด” นายกร กล่าว
นายไกรรพ เหลืองอุทัย ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ (GIS) หนึ่งในกลุ่มบริษัทซีดีจี เปิดเผยว่า งาน Thai Geomatics User Conference 2004 ซึ่งจัดเป็นปีที่ 9 ภายใต้ Theme ของงานว่า ‘GIS : Powering the Country’ นั้นจัดได้ว่าเป็นงานสัมมนาเชิงวิชาการด้านเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ (GIS) ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เนื่องจากมีการแสดงเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ GIS ทุกสาขา ไม่ว่าจะเป็น GPS, การแผนที่, การสำรวจ, การถ่ายภาพทางอากาศและดาวเทียม, ระบบนำทางรถยนต์ , ระบบค้นหาตำแหน่งและติดตามยานพาหนะด้วยโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น โดยปีนี้ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานมาถึง 1,600 คน
“ปีที่ผ่านมา เราจัดในรูปแบบของการ Demo ให้เห็นว่า GIS มีประโยชน์ในหลายๆ ด้าน สำหรับปีนี้เราจะรวบรวมและแสดงให้เห็นถึงเทคโนโลยีการนำ GIS ไปใช้งานได้ในทุกระดับจริงๆ ตั้งแต่การใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการโหลดแผนที่ในโทรศัพท์มือถือ Hutch หรือเครื่อง GPS มือถือ และ เครื่อง GPS ที่เป็นทั้ง Palm/PDA และระบบนำทางรถยนต์ จนกระทั่ง GIS ที่ถูกนำไปใช้ในการวางยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาประเทศ ผู้ที่เข้ามาร่วมงานสัมมนาจะรู้สึกได้ว่า GIS สามารถนำกลับบ้านไปใช้งานได้จริง” นายไกรรพกล่าว
ทั้งนี้ ไฮไลต์หนึ่งภายในงานที่นับว่าเป็นสีสันที่น่าสนใจมากได้แก่ การเปิดตัวเครื่องนำทางโดยอาศัยสัญญาณดาวเทียม GPS (Global Position System) ภาษาไทยตัวแรกของโลก ซึ่งจะมีข้อมูลแผนที่ประเทศไทยชุด ArcData เป็น
ภาษาไทย เมนูในเครื่องเป็นภาษาไทย ซึ่งเกิดจากการพัฒนาร่วมกันระหว่างอีเอสอาร์ไอ และ GARMIN ผู้นำทางด้าน GPS ที่ขายดีที่สุดในโลกและในประเทศไทย โดยจะเปิดตัวพร้อมกัน 2 รุ่น ได้แก่ Street Pilot 2610 ซึ่งได้รับการออกแบบมาเพื่อใช้เป็น Navigator ติดรถโดยเฉพาะ มีจอใหญ่เห็นได้ชัดทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน และมีเสียงพูดนำทางเป็นภาษาไทย และ Map 60 CS ซึ่งเป็น GPS มือถือสารพัดประโยชน์ สามารถใช้ในการเดินทางและการท่องเที่ยวในป่า ใช้ในการนำทางรถยนต์ หรือนำไปติดไว้บนรถจักรยานเพื่อใช้นำทางสำหรับการขี่ท่องเที่ยว
นายไกรรพ กล่าวต่อว่า อีเอสอาร์ไอยังรักษาตำแหน่งผู้นำตลาด GIS ในเมืองไทยไว้ได้ โดยสามารถปิดยอดรายได้ที่ 800 ล้านบาทในสิ้นปีนี้ ซึ่งการคงไว้ซึ่งตำแหน่งผู้นำของตลาดนั้นในทางปฏิบัติเป็นเรื่องยาก แต่ด้วยอีเอสอาร์ไอมีปัจจัยต่างๆ ดังนี้
1.มีการพัฒนาบุคลากรจนมีความสามารถและมีฝีมือเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติจำนวนมาก รวม ถึงรักษาคุณภาพของบุคลากรไว้ 2.อีเอสอาร์ไอมีข้อมูลแผนที่ที่ดี ถูกต้อง ทันสมัย ครอบคลุมทั่วประเทศมากที่สุด 3.มีผลิตภัณฑ์ที่ดี จัดอยู่ใน World Leader ทั้งหมด และมีผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับแต่ละประเภทงาน ไม่ใช่ One for All ทำให้ผู้ใช้สามารถที่จะเลือกใช้ได้ 4.มี Methodology ในการปฎิบัติงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้รับการถ่ายทอดมาจาก ESRI Inc. ประเทศสหรัฐอเมริกา ลอกเลียนแบบกันไม่ได้
“สำหรับคู่แข่งในตลาด เรามองว่า ทุกคนพยายามนำเสนอโซลูชั่นที่เป็นประโยชน์สูงสุดแก่ลูกค้าเสมอ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เรามีความสุขที่แต่ละบริษัทพยายามนำสิ่งที่ดีๆ ออกมาในตลาด อีเอสอาร์ไอเองไม่เคยมองว่าเราเป็นจ้าวตลาด แต่อาจจะด้วยความพร้อมของเราและความโชคดีที่มี partner ระดับโลก ทำให้เราเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ดีกว่าออกมาเสมอ หรือบางครั้งอาจจะมองว่าเราเสนอผลิตภัณฑ์ช้า เราขอเรียนว่าทุกผลิตภัณฑ์หรือบริการทางด้าน GIS นั้นเรามีครบทุกด้าน แต่เราจะต้องพัฒนาและทดสอบความสมบูรณ์จนกระทั่งเราแน่ใจว่าเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ดีที่สุดในตลาดที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าและจะทำให้ลูกค้าเกิดพึงพอใจสูงสุด จึงจะนำออกสู่ตลาดได้ อาทิ ระบบนำทางรถยนต์ Car Navigator ที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อกลางปีที่ผ่านมา ในขณะที่รายอื่นๆ ได้มีการเปิดตัวเป็นเวลานานแล้ว เราถือว่าเป็นการออกตัวช้า แต่เมื่อออกมาแล้วได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง โดยปีหน้าเราจะรุกตลาดใหม่เพิ่มเติม เช่น ระบบติดตามยานพาหนะ (Vehicle Tracking), ระบบค้นหาตำแหน่งโทรศัพท์มือถือ LBS (Location Based Service)ระบบ Logistics และแผนที่กระดาษมาตราส่วนต่างๆ ซึ่งเราพร้อมแล้ว ถ้าเราไม่พร้อม เราจะไม่ออก เราต้องมั่นใจว่า โซลูชั่นของเราเหมาะสม ราคาใช้ได้ และลูกค้านำไปใช้งานได้จริง เราถึงจะเปิดตัว” นายไกรรพกล่าวในตอนท้าย
รายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ :
คุณชุติมา สีดา
คุณจรีย์วิบูล บุญชนะโกศล
คุณนุสรินทร์ เพ็ชร์หลำ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กลุ่มบริษัทซีดีจี
โทร. 678-0200 ต่อ 2997-8
e-mail : cdgpr@cdg.co.th--จบ--