กรุงเทพฯ--30 ม.ค.--ไอบีเอ็ม ประเทศไทย
ไอบีเอ็มครองแชมป์ผู้นำสิทธิบัตรต่อเนื่อง 2 ทศวรรษ ตอกย้ำความเป็นหนึ่งด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีนักประดิษฐ์ของไอบีเอ็มสร้างสรรค์นวัตกรรมในเทคโนโลยีแขนงใหม่ๆ อย่างไม่หยุดยั้ง
ไอบีเอ็มเผยบริษัทฯ ครองสถิติจดสิทธิบัตรสูงสุด 6,478 รายการในช่วงปี 2555 ครอบคลุมสิ่งประดิษฐ์ซึ่งจะเป็นพื้นฐานรองรับการพัฒนาเทคโนโลยีในด้านสำคัญๆ เช่น ระบบวิเคราะห์ข้อมูล (Analytics) บิ๊ก ดาต้า (Big data) การรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ คลาวด์ อุปกรณ์พกพา โซเชียลเน็ตเวิร์ก และสภาพแวดล้อมที่กำหนดด้วยซอฟต์แวร์ (Software-defined environments) รวมไปถึงโซลูชั่นสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเฉพาะ เช่น ค้าปลีก ธนาคาร การแพทย์ และการขนส่ง โดยสิ่งประดิษฐ์ที่มีการจดสิทธิบัตรเหล่านี้จะต่อยอดการพัฒนาเทคโนโลยีในช่วงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของระบบคอมพิวติ้ง หรือที่เรียกว่ายุคสมัยของระบบคอมพิวเตอร์ที่มีกระบวนการเรียนรู้เหมือนมนุษย์ (Era of Cognitive Systems)
การครองอันดับหนึ่งผู้นำสิทธิบัตรประจำปีของสหรัฐฯ ต่อเนื่องถึงสองทศวรรษ พร้อมด้วยจำนวนสิทธิบัตรที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงปี 2555 นี้ เป็นผลมาจากความทุ่มเทของนักประดิษฐ์กว่า 8,000 คนของไอบีเอ็มใน 46 รัฐของสหรัฐฯ และอีก 35 ประเทศ โดยนักประดิษฐ์ของไอบีเอ็มที่อยู่นอกประเทศสหรัฐฯ ได้ร่วมสร้างสรรค์ผลงานที่ได้รับการจดสิทธิบัตรสหรัฐฯ เป็นจำนวนเกือบ 30% ของผลงานทั้งหมดในช่วงปี 2555
ตั้งแต่ปี 2536-2555 นักประดิษฐ์ของไอบีเอ็มได้รับสิทธิบัตรสหรัฐฯ เกือบ 67,000 รายการ เฉพาะในปี 2555 จำนวนสิทธิบัตรที่ไอบีเอ็มได้รับนั้นมีจำนวนมากกว่าที่แอคเซนเจอร์ อเมซอน แอปเปิล อีเอ็มซี เอชพี อินเทล ออราเคิล/ซัน และไซแมนเทค ได้รับรวมกัน
รายชื่อองค์กรที่ได้รับสิทธิบัตรสหรัฐฯ สูงสุด 10 อันดับในช่วงปี 2555* มีดังนี้:
1 ไอบีเอ็ม 6,478
2 ซัมซุง 5,081
3 แคนนอน 3,174
4 โซนี่ 3,032
5 พานาโซนิค 2,769
6 ไมโครซอฟท์ 2,613
7 โตชิบา 2,447
8 ฮอน ไฮ 2,013
9 เจเนอรัล อิเล็กทริค 1,652
10 แอลจี อิเล็กทรอนิกส์ 1,624
*ข้อมูลจากหน่วยงาน IFI CLAIMS Patent Services
รายการสิทธิบัตรที่ไอบีเอ็มได้รับในช่วงปี 2555 เกี่ยวข้องกับผลงานประดิษฐ์ที่จะเปลี่ยนรูปแบบการใช้เทคโนโลยีในโลกที่ฉลาดขึ้น (Smarter Planet) ของบริษัทต่างๆ ในปัจจุบัน รวมถึงผลงานประดิษฐ์ที่จะวางรากฐานไปสู่ยุคสมัยของระบบคอมพิวเตอร์ที่มีกระบวนการเรียนรู้เหมือนมนุษย์ อาทิเช่น
? สิทธิบัตรสหรัฐฯ เลขที่ 8,275,803: ระบบและวิธีการหาคำตอบสำหรับคำถาม - สิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับการจดสิทธิบัตรนี้ได้รับการนำไปใช้จริงในระบบวัตสัน (Watson) ของไอบีเอ็ม โดยเกี่ยวข้องกับเทคนิคที่จะช่วยให้คอมพิวเตอร์รับรู้คำถามที่เป็นภาษามนุษย์ เข้าใจรายละเอียดของคำถาม และตอบคำถามดังกล่าวได้อย่างถูกต้องแม่นยำ
? สิทธิบัตรสหรัฐฯ เลขที่ 8,250,010: จุดเชื่อมต่อประสาทที่มีกระบวนการเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์ และสามารถปรับเปลี่ยนกำลังการเชื่อมต่อได้ โดยใช้องค์ประกอบการสลับหน่วยความจำแบบขั้วเดียว - สิทธิบัตรนี้เกี่ยวข้องกับอัลกอริธึมและวงจรสำหรับการเลียนแบบฟังก์ชั่นการเรียนรู้ของจุดเชื่อมต่อประสาทในสมอง และเป็นการวางรากฐานสำหรับสถาปัตยกรรมคอมพิวเตอร์ที่ไม่ใช่แบบ Von Neumann ทั้งนี้ ไอบีเอ็มกำลังดำเนินโครงการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ที่มีกระบวนการเรียนรู้เหมือนมนุษย์ ซึ่งใช้ชื่อว่า Systems of Neuromorphic Adaptive Plastic Scalable Electronics (SyNAPSE) โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเลียนแบบความสามารถของสมองในการรับรู้ การกระทำ และการตระหนักรู้ พร้อมทั้งรับคำสั่งที่มีพลังและระดับเสียงหลากหลาย โดยไม่ต้องมีการตั้งโปรแกรม
? สิทธิบัตรสหรัฐฯ เลขที่ 8185480: ระบบและวิธีการปรับปรุงการรู้จำแบบแผนของพารามิเตอร์ที่ไม่แจกแจงความน่าจะเป็นอย่างต่อเนื่องตามสูตร สิทธิบัตรนี้อธิบายถึงเทคนิคในการจัดการและรู้จำแบบแผนในชุดข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีความซับซ้อนและเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น การทำความเข้าใจสำนวนภาษาพูด หรือการประมวลผลข้อมูลดาวเทียมเพื่อคาดการณ์ตำแหน่งที่อาจเกิดปัญหาจราจรติดขัด
? สิทธิบัตรสหรัฐฯ เลขที่ 8,200,501: วิธีการ ระบบ และผลิตภัณฑ์โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับการสังเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการทางการแพทย์ในฐานข้อมูลสุขภาพ — สิ่งประดิษฐ์นี้เกี่ยวข้องกับเทคนิคที่จะช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถเข้าถึงและวิเคราะห์ข้อมูลทางการแพทย์และเวชระเบียนที่เก็บไว้ในแหล่งข้อมูลหลายๆ แหล่งได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการวิจัย วินิจฉัย และรักษาอาการเจ็บป่วย
? สิทธิบัตรสหรัฐฯ เลขที่ 8,291,378: การสร้างแบบจำลองการปรับใช้ที่ง่ายขึ้น และเลขที่ 8,332,873: การวางเนื้อข้อมูลที่เก็บอยู่ในโครงสร้างข้อมูลของแอพพลิเคชั่นแบบไดนามิกในสภาพแวดล้อมดาต้าเซ็นเตอร์ — สิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับการจดสิทธิบัตรนี้เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมที่กำหนดด้วยซอฟต์แวร์ (Software Defined Environment) ซึ่งประกอบด้วยแพลตฟอร์มการสร้างแบบจำลอง เพื่อระบุส่วนประกอบของแอพพลิเคชั่นตามข้อกำหนดและคุณลักษณะ ต่างๆ รวมถึงระบบผสานรวมแบบอัจฉริยะ เพื่อปรับใช้ อัพเดต และจัดการเวิร์กโหลดแบบไดนามิก งานประดิษฐ์ที่ว่านี้จะช่วยให้กลุ่มผลิตภัณฑ์ IBM PureSystems สามารถใช้แบบแผนที่ทำซ้ำได้ในการแปลงสู่การปฏิบัติอย่างรวดเร็วขึ้น รวมถึงการจัดการวงจรการใช้งานเวิร์กโหลดที่ให้ผลลัพธ์ดียิ่งขึ้น
? สิทธิบัตรสหรัฐฯ เลขที่ 8,341,441: การลดการใช้พลังงานในสภาพแวดล้อมคลาวด์คอมพิวติ้ง — ผลงานประดิษฐ์ที่ได้รับการจดสิทธิบัตรนี้อธิบายเทคนิคที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการใช้ทรัพยากรคลาวด์คอมพิวติ้ง ซึ่งจะช่วยลดการใช้พลังงานและทำให้เกิดการใช้พลังงานน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นได้
? สิทธิบัตรสหรัฐฯ เลขที่ 8,247,261: การผลิตโลหะพื้น (Substrate) แบบบางด้วยการกะเทาะแตกออกเป็นแผ่นๆ โดยอาศัยความเค้น - สิทธิบัตรนี้อธิบายวิธีการที่มีต้นทุนต่ำในการผลิตวัสดุเซมิคอนดักเตอร์ชนิดใหม่ที่ยืดหยุ่น เพื่อรองรับผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะบางมาก มีน้ำหนักเบา และยืดหยุ่น ซึ่งสามารถปรับใช้กับเทคโนโลยีที่หลากหลาย เช่น ชีวเวช การรักษาความปลอดภัย ระบบประมวลผลแบบสวมใส่ได้ และไฟส่องสว่างแบบโซลิดสเตท (Solid-state)
สิทธิบัตรสหรัฐฯ เลขที่ 8,302,173: การจัดอุปกรณ์สำหรับผู้ใช้พร้อมชุดรหัสในการเข้าถึง — สิ่งประดิษฐ์นี้เกี่ยวข้องกับวิธีการตรวจสอบและเรียกดูรหัสความปลอดภัยหนึ่งชุดหรือหลายชุดซึ่งใช้ได้ในช่วงเวลาที่สั้นมาก เพื่อเสริมความปลอดภัยของระบบรักษาความปลอดภัย ผ่านเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (เช่น SMS) และช่องทางที่ได้รับการเข้ารหัสแยกต่างหากในเซิร์ฟเวอร์ที่ปลอดภัย อาทิ การทำธุรกรรมหรือล็อกอินเข้าสู่ระบบอย่างปลอดภัยผ่านทางโทรศัพท์มือถือ
สื่อมวลชนติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด
ปารณีย์ เรย์มองด็อง
โทรศัพท์: 02 273 4164
อีเมล: paranee@th.ibm.com