กรุงเทพฯ--15 พ.ย.--กระทรวงต่างประเทศ
กระทรวงต่างประเทศปลื้มการประชุมระดับรัฐมนตรีเรื่องทางเลือกในการพัฒนา เศรษฐกิจพอเพียงปิดฉากอย่างงดงาม ผู้แทน 19 ประเทศชื่นชมในพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้านจีน อัฟกานิสถาน ภูฐาน เวียดนาม และบูกินาฟาโซห์ เตรียมขยายความร่วมมือ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ หวังพัฒนาประเทศให้เจริญรุดหน้าตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงร่วมกัน
ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า จากการที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพในการประชุมระดับรัฐมนตรีเรื่องทางเลือกในการพัฒนา: เศรษฐกิจพอเพียง (The Ministerial Conference on Alternative Development: Sufficiency Economy) ระหว่างวันที่ 8 — 10 พฤศจิกายน ที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จอย่างงดงาม และเป็นความภาคภูมิใจที่ประเทศไทยจะได้แสดงให้นานาประเทศได้ประจักษ์ถึงพระปรีชาสามารถขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเป็นผู้นำในทางเลือกของการพัฒนาประเทศมาอย่างช้านาน
จากการนำผู้เข้าร่วมประชุม 19 ประเทศเยี่ยมชมและสัมผัสโครงการในพระราชดำริต่าง ๆ ที่ดำเนินการภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยเลือกพื้นที่จำนวน 4 แห่งโดยพิจารณาให้สอดคล้องกับภูมิประเทศของประเทศที่เข้าร่วมการประชุมนั้น โดยสรุปผู้นำหลายประเทศให้ความสนใจและชื่นชมในพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมทั้งแสดงความสนใจที่จะส่งเจ้าหน้าที่มาศึกษาเพื่อเรียนรู้และได้รับการอบรมในพื้นที่ รวมถึงการเชิญเจ้าหน้าที่ของไทยไปให้ความรู้ ณ ประเทศนั้น ๆ อีกด้วย
สำหรับพื้นที่ที่ผู้เข้าร่วมประชุมได้ไปสัมผัสและเยี่ยมชม ได้แก่ 1. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นพื้นที่แห้งแล้งและได้ทำการฟื้นฟูและปรับปรุงให้อุดมสมบูรณ์ และดำเนินตามทฤษฎีใหม่ ส่งผลให้เกตรกรประสบความสำเร็จในการดำรงชีวิต ไม่มีหนี้สิน และมีรายได้เพิ่มมากขึ้น 2. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.เมือง จ.สกลนคร เน้นเรื่องการส่งเสริมอาชีพเสริมให้แก่เกษตรกรและชาวบ้านและ 3. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ เน้นพัฒนาฟื้นฟูสภาพ ป่าไม้ให้สมบูรณ์ การปลูกหญ้าแฝกเพื่อกันดินพัง การทำสวนสมุนไพร เป็นต้น และ 4. บ้านเกษตรกรตัวอย่างของศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ และศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.ห้วยทราย อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ซึ่งได้นำทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยเน้นเรื่องการทำไร่นาสวนผสม กล่าวคือ การทำพืชผักสวนครัวควบคู่ไปกับการเลี้ยงสัตว์ ในลักษณะการเกษตรแบบผสมผสาน
การเป็นเจ้าภาพจัดประชุมครั้งนี้ถือว่าประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี ผู้แทนประเทศต่าง ๆ ที่เข้าร่วมประชุมแสดงความสนใจและชื่นชมในพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หลายประเทศแสดงความสนใจที่จะส่งเจ้าหน้าที่มาศึกษาครั้งละประมาณ 2 สัปดาห์ เพื่อเรียนรู้และได้รับการอบรมในพื้นที่ อาทิ ประเทศจีนให้ความเห็นว่าเรื่องนี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาด้านการเกษตรของจีน และสามารถขยายความร่วมมือให้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้ความช่วยเหลือประเทศอื่น ๆ ด้วย
ส่วนประเทศอัฟกานิสถาน จะนำไปประยุกต์ใช้ใน Water Management ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของประเทศ และมีความประสงค์ที่จะเชิญเจ้าหน้าที่ไปให้การฝึกอบรมที่อัฟกานิสถาน เป็นการขยายความร่วมมือในลักษณะทวิภาคีกับไทยเพื่อพัฒนาและดำเนินโครงการต่าง ๆ อีกด้วย
ด้านประเทศภูฐาน ซึ่งยังคงมีรูปแบบการเกษตรกรรมแบบดั้งเดิม และทรัพยากรธรรมชาติยังไม่ถูกทำลาย จะนำทฤษฎีไปปรับปรุงพัฒนาเพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติมิให้ถูกทำลาย โดยพระมหากษัตริย์ของภูฐานเองก็ให้ความสำคัญและต้องการให้ประชาชนกินดีอยู่ดี ส่วนประเทศเวียดนามต้องการปรับปรุงแก้ไขเรื่องการชลประทาน และการแก้ไขปัญหาความยากจน ซึ่งวางแนวทางไว้ว่าจะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในเรื่องต่าง ๆ กับไทยอย่างต่อเนื่อง และสำหรับประเทศ บูกินาฟาโซห์ กล่าวว่าสามารถนำมาใช้แก้ไขปัญหาความยากจนของเกษตรกรได้เป็นอย่างดี และจะนำความรู้และประสบการณ์ไปศึกษาและใช้กับประเทศให้เกิดประโยชน์ต่อไป
ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวสรุปว่า ผู้แทนประเทศต่าง ๆ เห็นว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีชื่อเสียงขจรไกลไปยังทุก ๆ ภูมิภาคทั่วโลก สามารถช่วยเหลือประชาชนและพัฒนาประเทศของตนเองได้เป็นอย่างดี และแต่ละประเทศประสงค์ที่จะให้มีการส่งเสริมความร่วมมือในด้านนี้ให้กว้างขวางออกไป และมีความยินดีที่ได้เดินทางมาสัมผัสและศึกษาโครงการตามแนวพระราชดำริด้วยตนเอง--จบ--