กรุงเทพฯ--30 ม.ค.--ศูนย์ประสานงานสื่อสร้างสุขภาวะเด็กและเยาวชน ภาคอีสาน
"หากจะพูดถึงเด็กอีสานเรา ก็อดพูดถึงนิทานเรื่องหนึ่งไม่ได้ คือ บักเซียงเหมี่ยง เป็นนิทานที่มีตำนานเล่าขานกันมานานมาก เป็นเรื่องเกี่ยวกับเด็กที่มีหลักคิด ปัญญา ฉลาดหลักแหลมเหนือผู้ใหญ่" คือประโยคเริ่มต้นของการเปิดวงเสวนาเด็กคิดสะท้อนสังคมครั้งที่ 7 ของศูนย์ประสานงานสื่อสร้างสุขภาวะเด็กและเยาวชน ภาคอีสาน ที่ ห้องบัวทิพย์ 3 ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมกาญจนาภิเษก เมื่อวัน 28 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมาโดยมีผู้ใหญ่ใจดี ปราชญ์ชาวบ้าน สื่อมวลชน นักวิชาการ และเครือข่ายทำงานด้านเด็กและเยาวชนกว่า 30 คน ร่วมรับฟัง
"คม พงษ์เทพ บุญกล้า" เยาวชนคนรุ่นใหม่จากกลุ่มแว่นขยายรับหน้าที่ผู้ดำเนินรายการ โดยมีน้องนีล (ปัญญารัตน์ สีแย้ม) จากกลุ่มสื่อใสวัยทีน-สภาเด็กเยาวชนอำเภอวารินชำราบ น้องโบว์(ทรงศิริ ศรีจันทร์ดี) กลุ่มเยาวชนตาสว่าง น้องมายด์ (กัณฑิมา กว้างขวาง) สภาเด็กและเยาวชนตำบลคอนสาย น้องเมย์(บุญสิตา เชยชัยภูมิ) นักเรียนจากโรงเรียนมัธยมตระการพืชผล อำเภอตระการพืชผล ข้อคิดเห็นจากน้อง ๆ เยาวชนต่อมุมมองงานพัฒนาและกิจกรรมสร้างสรรค์ที่ได้ร่วมทำจะเป็นอย่างไรนั้น เรามาเรียนรู้ไปพร้อมกันผ่านสกู๊ปเล็กๆ แต่มีความพิเศษฉบับนี้เลยครับ
ผู้ดำเนินรายการ:วันนี้มาชวนเด็กบ้านเราพูดถึงความต้องการของเยาวชน เกี่ยวกับงานพัฒนาสังคมและงานพัฒนาสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน ประเด็นแรกอยากรู้ว่าสิ่งที่น้อง ๆ เยาวชนได้เรียนรู้จากการทำกิจกรรมเพื่อสังคมคืออะไร ?
น้องนีล:สรุปกับเพื่อน ๆ พบว่าการเข้ามาตรงนี้สิ่งแรกที่ได้คือประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้กับตัวเอง และได้ปฏิบัติด้วยตนเอง ได้ทำงานร่วมกับผู้อื่นมากมาย ได้แสดงความคิดเห็น ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นสำหรับตัวเราและคนอื่น ได้ลดพฤติกรรมการเสพสื่อที่ไม่ดี ได้วิเคราะห์สื่อดี-ร้าย ได้เครือข่ายพัฒนาองค์กรต่างๆที่ทำงานร่วมกัน ได้ความสุขจากการลงพื้นที่ทำงาน สนุกสนาน ได้เผยแพร่การทำงานให้ผู้อื่นได้รับทราบว่าสิ่งที่ทำดีกับใครบ้าง มีผลกระทบกับใครบ้าง ได้เห็นการทำงานของหน่วยงานอื่น ๆ ที่มาร่วมทำงานกับเรา จนเกิดการส่งเสริมสิ่งที่ดีให้กับเยาวชน
ผู้ดำเนินรายการ:โดยรวมคือ ได้ประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่เราเป็นเด็กและเยาวชน ไม่ค่อยได้ร่วมทำ แต่พอเข้ามา ทำให้มีสิ่งใหม่ ๆ เข้ามาในชีวิต อยากถามต่อมีความคิดเห็นที่อยากเสนอเครือข่ายการทำงานทั้ง ศสอ. ,ไทยพีบีเอส และสื่อสร้างสุขที่เป็นตัวแทนของสื่อสาธารณะที่มารับฟังเราในวันนี้
น้องมายด์:ตอนนี้รายการสำหรับเด็ก เยาวชนมีน้อย สิ่งที่ขอเพิ่มเติมคือ อยากให้มีรายการลักษณะนี้มากขึ้น เริ่มต้นง่าย ๆ เป็นรายการที่มีเด็กมานั่งคุยกันถึงเรื่องราวที่เขาร่วมกันทำ หรือเป็นรายการที่นำเสนอมุมมองแย่ ๆ ชีวิตจริงกับเด็กในสังคม ส่วน ศสอ.อยากให้มีเปิดพื้นที่ให้เด็ก เยาวชนกลุ่มต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมของ ศสอ.มากขึ้น ๆ
ผู้ดำเนินรายการ: สิ่งที่บอกว่าอยากให้มีการนำเสนอสิ่งแย่ ๆ คืออะไร และอะไรคือเหตุผลที่ทำให้เราอยากรู้ข้อมูลด้านนี้
น้องมายด์:อยากให้เด็กและเยาวชนที่กระทำในสิ่งที่ผิด ออกมาพูดในสิ่งที่เขาเคยทำเพื่อเตือนเด็กและเยาวชนไม่ให้เอาเป็นแบบอย่าง และอยากให้ไปทำสิ่งที่เป็นประโยชน์เพื่อสังคม
ผู้ดำเนินรายการ:สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราอยากเห็น เป็นมุมมองที่เราต้องการ...อยากรู้ว่าการทำกิจกรรมที่ผ่านมาของแต่ละคนมีข้อจำกัด หรือว่าอะไรที่มันเป็นผลกระทบกับการร่วมทำกิจกรรมของเราบ้าง ?
น้องโบว์:หลัก ๆ มีปัญหาเรื่องการเดินทาง ถ้าเด็กบ้านอยู่ไกล ส่วนเวทีเสียงเด็กของเรายังแคบเกินไป อยากให้มีวงคุยที่ทั่วถึง ไปในพื้นที่อื่น ๆ
ผู้ดำเนินรายการ: สิ่งที่บอกว่ามันแคบ เช่น รูปแบบการจัดเสวนาในห้องแบบนี้ มีการบันทึกรายการแบบนี้ ?
น้องโบว์:อยากให้ลงไปในพื้นที่ชุมชน ไปพบข้อมูล ปัญหาจริง ๆ เช่น ถ้าเป็นเรื่องเด็กเยาวชนกินเหล้า เราก็ควรลงไปชุมชนจริง ๆ แล้วถ่ายทอดเรื่องจริงออกมา ให้เขาเห็นจริง และติดตามผลของปัญหาจากการนำเสนอของเรา
ผู้ดำเนินรายการ:เมื่อเรารู้ปัญหา แล้วเราจะสามารถเข้าไปร่วมแก้ไขปัญหา กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างไรบ้างครับ
น้องโบว์:เริ่มต้น อยากให้เด็กได้มีวงพูดคุยกันแล้วให้ทาง ศสอ.ช่วยตัดต่อ ช่วยถ่ายทำ แล้วให้ ไทยพีบีเอส เผยแพร่ให้ ส่วนสื่อสร้างสุขเป็นทีมพี่เลี้ยงช่วยเหลือ ประสานงานร่วมกัน ช่วยหาพื้นที่ ที่มีปัญหาเกี่ยวกับเด็กและสังคม ส่วนเรา เยาวชนต้องมีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงกระบวนการสุดท้าย
ผู้ดำเนินรายการ: ในฐานะตัวแทนของเด็ก ต้องการฝากอะไรถึงผู้ใหญ่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชน
น้องโบว์:การที่เราเป็นเด็ก ไม่ใช่ว่าเราดูทีวี แล้วเราไม่คิดตาม ฝากให้ผู้ใหญ่ที่มีเวลาขณะดูทีวีให้แนะนำเด็กด้วย
น้องมายด์:อยากให้มีผู้ใหญ่ หรือหน่วยงานช่วยแนะนำ ทำความเข้าใจ อธิบายสิ่งที่เหมาะสม ไม่เหมาะสม ให้เด็กเข้าใจ
น้องเมย์:อยากให้ผู้ใหญ่บางคนที่ยังไม่เข้าใจ ให้เข้าใจในสิ่งที่เราทำ ว่าเราทำแล้วได้ประโยชน์ อยากให้พ่อแม่เข้าใจด้วยเช่นกัน
น้องนีล:อยากฝากเรื่องการให้โอกาสของเยาวชนทั่วไปให้ครอบคลุม ตอนนี้มีบางกลุ่มได้รับการอบรม
การพัฒนาแล้ว แต่ยังหลายกลุ่มที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาอยากจะฝากในส่วนนี้ค่ะ เพื่อให้เขามีการพัฒนาตนเอง ลดพฤติกรรมที่เป็นปัญหา
ผู้ดำเนินรายการ: สิ่งที่คุยกันวันนี้ ทั้งความเห็นส่วนตัวและสิ่งที่มาจากน้องๆเยาวชนผู้ร่วมเวที น่าคิดที่ว่า เยาวชนต้องการกระบวนการเรียนรู้ เทคนิคการสื่อสาร การเผยแพร่ข้อมูล ต้องการเวทีสำหรับการแสดงออกและ การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากผู้ใหญ่
"ถ้าเยาวชนเสมือน บักเซียงเหมี่ยง ที่มีความคิดหลักแหลม เหมือนกับปลาแซลมอนที่ต้องการขึ้นเขาเอเวอร์เรสเพื่อปักธง พอปักธงสำเร็จแล้ว ไม่ใช่ว่าจะนอนตายอยู่ตรงนั้น เราจะกลับมาที่ชุมชน เปรียบได้กับการทำงานของเยาวชนที่เรามีความมุ่งมั่นมีอุปสรรค แต่เราก็จะไปให้ถึงจุดสำเร็จของงานเราตรงนั้น ซึ่งผู้ใหญ่ต้องให้การสนับสนุนเด็กและเยาวชน" ขอจบรายการเสวนาครับ.