กรุงเทพฯ--31 ม.ค.--แมสคอท คอมมิวนิเคชั่น
กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงกลาโหม ทีมแพทย์ พยาบาลอาสาสมัครอเมริกัน และเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ จัด “โครงการผ่าตัดเฉลิมพระเกียรติ 86 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ประจำปี 2556” เพื่อผ่าตัดช่วยเหลือผู้ป่วยเด็กและผู้ใหญ่ ที่มีภาวะปากแหว่ง เพดานโหว่ พิการที่ใบหน้า แผลเป็นดึงรั้ง นิ้วมือหรือเท้าพิการผิดรูปแต่กำเนิด ให้แก่ ผู้ป่วยยากไร้ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 86 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล อดุลยเดชฯ ที่โรงพยาบาลค่ายประจักษ์ศิลปาคม จ. อุดรธานี ในระหว่างวันที่ 21-26 มกราคมที่ผ่านมา จำนวน 93 ราย
นายสุรชัย เบ้าจรรยา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในงานโครงการผ่าตัดเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ เป็นโครงการที่ริเริ่มโดย ดร.สุพัฒน์ อินฟ้าแสง ประธานโครงการผ่าตัดเฉลิมพระเกียรติฯ ซึ่งได้เชิญชวนกลุ่มแพทย์และพยาบาลอาสาสมัครอเมริกัน จากรัฐคอนเนคติกัต ได้ติดต่อมูลนิธิมีชื่อว่า Healing the Children เป็นองค์กรแพทย์อาสาสมัคร ซึ่งจะเดินทางไปทั่วโลก เข้ามาช่วยเหลือผ่าตัดให้ประชาชนชาวไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อผ่าตัดช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีอาการผิดปกติ ปากแหว่ง เพดานโหว่ แผลเป็นดึงรั้งนิ้วมือหรือเท้าพิการผิดรูปแต่กำเนิด หรือมีความพิการทางใบหน้า ให้แก่ผู้ป่วยยากไร้ในประเทศไทย ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2547 เขาจึงได้ประสานติดต่อไปทาง ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อช่วยกราบบังคมทูลสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี โดยพระองค์ท่านทรงพระราชทานความช่วยเหลือโครงการ โดยให้ไปผ่าตัดครั้งแรกที่ศูนย์แพทย์สมเด็จพระเทพฯ ที่จังหวัดนครนายก นี่คือเป็นจุดแรกที่เริ่มขึ้นในประเทศไทย ในส่วนของแพทย์และพยาบาลที่ร่วมโครงการแพทย์อเมริกันอาสานี้ จะมีทั้งศัลยแพทย์ วิสัญญีแพทย์ กุมารแพทย์ ซึ่งแพทย์ทั้งสามสาขานี้มีความจำเป็นสำหรับการผ่าตัดที่ไปทำงานในเมืองไทย ส่วนใหญ่จะเป็นทางด้านศัลยกรรม ก็คือปากแหว่งเพดานโหว่ ความบกพร่องทางใบหน้า และร่างกายของผู้ป่วย อาสาสมัครที่เข้ามาร่วมทีมนี้จะเป็นบุคคลที่ต้องการตอบแทนสังคม และอยากจะทำประโยชน์ให้กับเพื่อนมนุษย์ในโลก แต่การผ่าตัดทุกครั้งนั้นจำเป็นจะต้องติดต่อกับแพทย์ท้องถิ่นว่าหลังจากที่ทางเรากลับไปแล้วนั้น จะต้องฝากให้ดูแลคนไข้เหล่านี้ว่า การผ่าตัดที่ทำไป คนไข้มีปัญหาอะไรบ้าง ถ้าเกิดปัญหาซับซ้อน แพทย์ทางเมืองไทยก็จะดำเนินการต่อไป เป็นการทำงานร่วมกันในระหว่างแพทย์ไทยและแพทย์อเมริกัน นับเป็นการสร้างสัมพันธไมตรี ทางด้านการแพทย์ระหว่างทั้งสองประเทศได้อย่างดี ซึ่งตรงกับจุดประสงค์ของ ดร.สุพัฒน์ อินฟ้าแสง เมื่อปี 2555 ท่านได้ตั้งชื่อโครงการว่า “Medical Ambassadorship People To People Diplomacy” โดยนำชาวลาวจากจำปาสักและสะวันนะเขต เข้ามาผ่าตัดที่ ร.พ.สรรพประสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี
พันเอกนายแพทย์วิสุทธิ์ ศรีจันทราพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลค่ายประจักษ์ศิลปาคม จ. อุดรธานี “ในฐานะเจ้าบ้าน ทางโรงพยาบาลได้ประสานงานไปยังสาธารณสุขจังหวัดต่างๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อส่งต่อคนไข้มาคัดเลือกผู้ป่วยเข้าโครงการฯครั้งนี้ โดยคัดจากผู้ป่วยที่มีภาวะปากแหว่ง เพดานโหว่ พิการที่ใบหน้า แผลเป็นดึงรั้ง นิ้วมือหรือเท้าพิการผิดรูปแต่กำเนิด เพื่อทำการผ่าตัดแก้ไขความผิดปกติ ซึ่งเป็นผู้ป่วยชาวไทยในภาคอีสานทั้ง 20 จังหวัด คือ จังหวัดอุดรธานี เลย หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม หนองบัวลำภู ขอนแก่น นครราชสีมา ร้อยเอ็ด มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร มุกดาหาร บุรีรัมย์ สุรินทร์ อำนาจเจริญ นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจาก เครือโรงพยาบาลกรุงเทพนำโดยนายแพทย์ชาตรี ดวงเนตร ประธานคณะผู้บริหารศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลกรุงเทพ และนาวาอากาศเอก(พิเศษ)นายแพทย์ไพศาล จันทรพิทักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพ สายกิจกรรมพิเศษ ในฐานะตัวแทนจากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวถึงความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนว่า “ในโอกาสนี้เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ ในฐานะตัวแทนของภาคเอกชน ได้ประสานความร่วมมือมายังโรงพยาบาลค่ายประจักษ์ศิลปาคม ที่จังหวัดอุดรธานี ในความดูแลของกระทรวงกลาโหม เพื่อจัดเตรียมการผ่าตัดของทีมแพทย์พยาบาลอาสาสมัครอเมริกัน ซึ่งเครือโรงพยาบาลกรุงเทพได้ให้ความสำคัญกับทุกการรักษาหรือหัตถการที่จะช่วยพัฒนาและฟื้นฟูรักษาโรคต่างๆ การผ่าตัดในวันนั้นเป็นไปด้วยดี ทั้งแพทย์และเด็กพิการรวมทั้งญาติและที่มาให้กำลังใจต่างปราบปลี้มในกิจกรรมนี้และขอขอบคุณโครงการดี ๆ ที่ทำให้เด็กที่มีปัญหามีสุขภาพและชีวิตที่ดีขึ้นพร้อมที่จะก้าวเป็นอนาคตที่ดีของชาติ