กรุงเทพฯ--31 ม.ค.--Maxima Consultants
304 อินดัสเตรียล ปาร์ค ชี้แจง ผลตรวจสอบสารปรอทจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมยืนยัน ไม่พบสารปรอทที่เป็นอันตรายต่อชุมชนในพื้นที่ สอดคล้องกับผลการวิเคราะห์คุณภาพน้ำซึ่งตรวจสอบโดย เอสจีเอส ซึ่งเป็นบริษัทรับตรวจสอบคุณภาพน้ำที่มีเครือข่ายทั่วโลก ที่ได้มีการรายงานต่อดีเอสไอและตัวแทนชุมชนไปก่อนหน้านี้ โดยการตรวจวัดปริมาณสารปรอทของกรมโรงงาน ฯ นั้น มาจากการลงพื้นที่สุ่มเก็บตัวอย่างเมื่อวันที่ 10 ม.ค. ที่ผ่านมาและใช้เวลาในการตรวจวิเคราะห์ประมาณ 2 สัปดาห์ โดยมีการเก็บตัวอย่างทั้งจากน้ำในแหล่งน้ำผิวดิน น้ำทิ้งที่ระบายออกจากโรงงาน พร้อมตัวอย่างกากตะกอน ดิน และถ่านหิน ไปตรวจสอบผลปรากฎว่าไม่พบสารปรอทเกินมาตรฐานที่กำหนดในพื้นที่ของ 304 อินดัสเตรียล ปาร์ค และบริเวณชุมชนโดยรอบ
นายพูลศักดิ์ สุตัณฑวิบูลย์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท 304 อินดัสเตรียล ปาร์ค จำกัด เปิดเผยว่า “ผลการทดสอบตัวอย่างน้ำ กากตะกอน ดิน และถ่านหิน ที่กรมโรงงาน ฯ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างจากพื้นที่ในสวนอุตสาหกรรมและบริเวณโดยรอบไปตรวจสอบนั้น ยิ่งช่วยย้ำให้เห็นข้อเท็จจริงที่สอดคล้องกับข้อมูลที่ทาง 304 ได้ชี้แจงกับดีเอสไอและตัวแทนชุมชนไปก่อนหน้านี้ว่า ไม่พบสารปรอทเกินมาตรฐานในพื้นที่ของ 304 และบริเวณชุมชนโดยรอบ จึงขอยืนยันผลการตรวจสอบจากหลาย ๆ หน่วยงานให้ทราบอีกครั้ง เพื่อสร้างความเข้าใจกับชุมชน”
ทั้งนี้ นายพูลศักดิ์ ได้ชี้แจงผลการทดสอบตัวอย่างน้ำ กากตะกอน ดิน และถ่านหิน ที่ได้รับทราบจากกรมโรงงาน ฯ จากการลงพื้นที่สุ่มเก็บตัวอย่างไปเมื่อวันที่ 10 ม.ค. ที่ผ่านมา ดังนี้ ผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดิน ในบริเวณคลองชะลองแวง คลองวังรู และลำรางข้างสวนอุตสาหกรรม พบค่าสารปรอทดีกว่าค่ามาตรฐานถึง 3 เท่า และผลการตรวจสอบคุณภาพดินบริเวณคลองชะลองแวง คลองวังรู และลำรางข้างสวนอุตสาหกรรม รวมถึงถ่านหิน พบค่าสารปรอทดีกว่าค่ามาตรฐาน กว่า 400 เท่า ผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำที่บำบัดแล้วในบ่อพักน้ำสุดท้ายของสวนอุตสาหกรรม 304 พบว่าค่าปรอทดีกว่าค่ามาตรฐาน 6 เท่า ผลการตรวจกากตะกอนดินจากการผลิต พบค่าสารปรอทดีกว่าค่ามาตรฐานถึง 25 เท่า
ทั้งนี้ ผลการทดสอบทั้งหมดโดยกรมโรงงาน ฯ สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับผลการทดสอบที่ดำเนินการโดย เอสจีเอส ซึ่งได้มีการสุ่มตรวจอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 13 ม.ค. ที่ผ่านมาได้มีการสุ่มตรวจหาสารปรอทในผักตบชวาในคลองชะลองแวงเพิ่มเติม ซึ่งผลการตรวจไม่พบปริมาณสารปรอทในพืชน้ำดังกล่าวเช่นกัน
จากข้อเท็จจริงทั้งหมดแสดงให้เห็นชัดว่า ผลวิเคราะห์จากการสุ่มตรวจในพื้นที่สวนอุตสาหกรรม 304 ดีกว่าค่ามาตรฐานของกระทรวงอุตสาหกรรมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการตรวจวัดค่าปรอทอย่างต่อเนื่อง หรือจากผลการสุ่มตรวจล่าสุด จึงสามารถยืนยันได้อย่างชัดเจนว่าโรงงานในพื้นที่สวนอุตสาหกรรม 304 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสารปรอทปนเปื้อนต่อชุมชนแน่นอน โดยคาดว่าจะทราบผลการตรวจสอบจากกรมควบคุมมลพิษอีกหน่วยงานหนึ่งในเร็ว ๆ นี้
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การศึกษาว่า สารปรอทเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ดังกล่าวจริงหรือไม่ อยากให้ผู้วิจัย เร่งทำการศึกษากลุ่มตัวอย่างให้มากกว่าการศึกษาเส้นผมชาวบ้าน 20 คน และปลาช่อน 20 ตัวอย่าง โดยอยากให้เพิ่มจำนวนตัวอย่างของการศึกษาซ้ำในพื้นที่เดิม และขยายไปศึกษายังพื้นที่อื่น ๆ ที่ไม่มีโรงงานอุตสาหกรรมอยู่ เพราะจากการรวบรวมข้อมูลการศึกษาเรื่องสารปรอทในอดีตของประเทศไทย และในต่างประเทศ มีหลายประเด็นที่น่าจะนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบ ทั้งนี้จากการทบทวนรายงานของหน่วยงานระบาดวิทยาและพิษวิทยาสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข ของประเทศสหรัฐอเมริกา (ATSDR, 1999, 2003) พบว่า การตรวจวัดค่าปรอทในเส้นผม มีค่าความถูกต้องต่ำกว่าวิธีการตรวจวัดด้วยวิธีการอื่น เช่น เลือด หรือ ปัสสาวะ
ประเด็นแรกคือ เคยมีผลการศึกษาปรอทในปลาช่อนในพื้นที่อื่น ซึ่งพื้นที่นั้นไม่มีโรงกระดาษและโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยเป็นผลการศึกษาของ ณรงค์ ณ เชียงใหม่ และอรุณโชติ คงพล ม.สงขลานครินทร์ เมื่อปี 2530 หรือ 20 กว่าปีมาแล้ว ก็พบค่าสารปรอทในปลาช่อนสูงสุดอยู่ที่ 0.39 ส่วนในล้านส่วน (PPM) และต่ำสุดอยู่ที่ 0.13 ส่วนในล้านส่วน (PPM) ซึ่งก็เกินค่ามาตรฐานที่ผู้วิจัยระบุไว้ที่ 0.02 ส่วนในล้านส่วน (PPM) เช่นกัน และผลจากการสำรวจของกรมควบคุมมลพิษที่ปากแม่น้ำต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นปลากระบอก ปลาทู ปลาไส้ตัน ก็เกินค่ามาตรฐานที่นักวิจัยอ้างอิงเช่นกัน หรือแม้แต่ปลาทูน่ากระป๋องและปลาทูน่าแช่แข็งก็มีค่าสูงเกินค่าอ้างอิงดังกล่าว
เช่นเดียวกับการศึกษาปรอทในเส้นผม ซึ่งในต่างประเทศเอง ก็มีการศึกษาเช่นกัน โดยหากใช้ค่ามาตรฐานอ้างอิงที่ผู้วิจัยระบุ ไม่ว่า เส้นผมของคนที่เคยถูกศึกษาในประเทศญี่ปุ่น อินโดนีเซีย บราซิล โปรตุเกส ก็มีค่าเกินมาตรฐาน 1 ส่วนในล้านส่วน (PPM) ตามที่นักวิจัยอ้างอิงเช่นกัน ในขณะที่ องค์การอนามัยโลกกำหนดให้ค่าปรอทในเส้นผม ไม่ควรมีค่าเกิน 50 ส่วนในล้านส่วน (PPM) ซึ่งเมื่อเทียบเทียบกับข้อมูลที่ตรวจวัดโดยมูลนิธิฯ พบว่า ค่าปรอทในเส้นผมที่ตรวจวัดได้ คือ 4.60 ส่วนในล้านส่วน (PPM) ดังนั้น ค่าที่ตรวจวัดได้จึงอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (พ.ศ. 2533)
อย่างไรก็ตามการพบปรอทในเส้นผม ยังมีปัจจัยภายนอกได้จากหลาย ๆ ทางไม่ใช่เฉพาะปัญหาทางสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่อาจจะเป็นการเติมสารเคมีดังกล่าวเข้ามาได้เอง ไม่ว่าจะเป็น การใช้ยาฆ่าแมลง ครีมหน้าขาว ยาย้อมผม เป็นต้น จึงอยากให้ผู้วิจัยทำให้ชาวบ้านเข้าใจและมีความรู้เกี่ยวกับปรอทมากยิ่งขึ้น เพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตประจำวันของชาวบ้านในพื้นที่
“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาทาง สวนอุตสาหกรรม 304 รวมถึงโรงงานลูกค้าที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ ก็ได้ให้ความสำคัญต่อการรับผิดชอบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด โดยในปี 2555 ที่ผ่านมา ได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงอุตสาหกรรม เป็น 1 ใน 5 โครงการนำร่องในโครงการสวนอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเชิงพื้นที่ ซึ่งเป็นโครงการที่จัดทำขึ้นเพื่อกระตุ้นและส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของพื้นที่ ให้เจริญเติบโตไปพร้อมกับการดูแลสภาพแวดล้อมที่ดี ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน และสิ่งแวดล้อมครับ ” นายพูลศักดิ์ กล่าวปิดท้าย