วิฟเอเชีย ไขปัญหาเนื้อหมูในตลาด ดันสหกรณ์ พร้อมผลิตตามมาตรฐาน GAP

ข่าวทั่วไป Thursday January 31, 2013 12:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 ม.ค.--มีเดีย พลัส คอนเนคชั่น วิฟเอเชีย ไขปัญหาเนื้อหมูในตลาด ดันสหกรณ์ พร้อมผลิตตามมาตรฐาน GAPชูเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ ลดการสูญเสีย ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต วิฟเอเชีย (VIV Asia) เร่งพัฒนาอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ไทย เดินหน้าจัดงานสัมมนา ‘เกษตรกรก้าวหน้า’ อย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 3 ที่จังหวัดนครราชสีมา ชี้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูต้องช่วยกันผลักดันการเป็นสหกรณ์ เพื่อแก้ไขปัญหาราคาเนื้อหมู และช่วยส่งเสริมระบบการจัดการอย่างครบวงจรที่มีประสิทธิภาพ พร้อมชูเทคโนโลยี และนวัตกรรมทางการเกษตรสมัยใหม่ สามารถช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตเนื้อหมูที่ปลอดภัยและมีคุณภาพได้ จากการสัมมนาเกษตรกรก้าวหน้า ในหัวข้อ “ก้าวหน้า ก้าวไกล ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ปศุสัตว์และพืชผล” ซึ่งจัดโดยบริษัท วีเอ็นยู เอ็กซิบิชั่นส์ เอเชีย แปซิฟิค จำกัด ผู้จัดงานแสดงเทคโนโลยีปศุสัตว์ครบวงจร ตั้งแต่การ ผลิตอาหารสัตว์ การขยายพันธุ์ การเลี้ยง อุปกรณ์เลี้ยงสัตว์ และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ตลอดจนการแปรรูปเนื้อสัตว์ หรือ VIV Asia 2013 ได้ข้อสรุปว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ไทยจะต้องปรับเปลี่ยนระบบการจัดการใหม่ที่ได้มาตรฐานมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรฐานความปลอดภัยในอาหาร (Food Safety) ที่เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของตลาดอาหารโลกในปัจจุบัน นอกจากนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์และผู้ประกอบการจะต้องหมั่นเสริมสร้างศักยภาพของตนเองให้มีกำลังต่อรองที่เข้มแข็ง ด้วยการจัดตั้งสหกรณ์เพื่อช่วยในการดำเนินธุรกิจที่ครบวงจรอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างมั่นคงมากขึ้น นางลัดดา มงคลชัยวิวัฒน์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท วีเอ็นยู เอ็กซิบิชั่นส์ เอเชีย แปซิฟิค จำกัด กล่าวว่า แนวโน้มความต้องการในอุตสาหกรรมอาหารโลกนั้น ล้วนให้ความสำคัญกับความปลอดภัย และการจัดการที่ได้มาตรฐานอย่างน้อยที่สุดคือ มาตรฐานทางการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (GAP) ความต้องการเนื้อหมูอนามัยคุณภาพมีเพิ่มมากขึ้น เห็นได้ชัดจากการที่ห้างสรรพสินค้าชั้นนำทั่วไปมีการนำหมูอนามัยปลอดสารมาจำหน่าย และได้รับความนิยมจากผู้บริโภคจำนวนมาก ถึงแม้จะมีราคาแพงกว่าหมูที่หน้าเขียงก็ตาม และเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมเปิดการค้าเสรีอาเซียนที่การส่งออกจะเข้มงวดมากขึ้น อีกทั้งหลักการส่งออกในอนาคตอันใกล้นี้ จะมีการนำเรื่องสิ่งแวดล้อมมาเป็นส่วนหนึ่งของเกณฑ์การพิจารณา ส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อยต้องพัฒนาศักยภาพและประสิทธิภาพในการผลิตมากขึ้น โดยจะต้องผลิตอาหารที่มีคุณภาพ ถูกหลักอนามัย ใส่ใจความปลอดภัยต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมในทุกๆ กระบวนการ ตั้งแต่แรกเริ่มของการเลี้ยง การให้อาหาร การดูแลสุขภาพ และความเป็นอยู่ของสัตว์ที่เลี้ยงอย่างดีตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ที่ดี (Animal Welfare) ตลอดจนการขยายพันธุ์ การแปรรูปสินค้า และการคมนาคมขนส่งจนถึงมือผู้บริโภค หากเกษตรกรผู้เลี้ยงรู้จักนำเอาเทคโนโลยี และนวัตกรรมสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมก็สามารถช่วย ลดต้นทุน ลดการสูญเสีย และช่วยเพิ่มผลผลิตที่มีคุณภาพตรงตามที่ต้องการได้เช่นเดียวกัน อาทิเช่น ระบบโรงเรือนแบบปิด (Evaporative Cooling Greenhouse) ที่ช่วยให้สัตว์เกิดความสะดวกสบายในการอยู่อาศัย เนื่องจากมีการระบายอากาศที่ดี และสามารถควบคุมอุณหภูมิที่เหมาะสมได้ ซึ่งช่วยลดความเครียดของสัตว์อันเป็นสาเหตุหนึ่งของการเจ็บไข้ได้ หรือแม้แต่ นวัตกรรมชิ้นเล็กๆ อย่างอุปกรณ์ลำเลียงอาหารสัตว์ ก็สามารถช่วยลดต้นทุน และลดการสูญเสียปริมาณอาหารสัตว์ ซึ่งคิดเป็นต้นทุนกว่า 80% ของต้นทุนในการเลี้ยงทั้งหมด ด้านนายกิดดิวงศ์ สมบุญธรรม เลขาธิการสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า สำหรับแนวทางของเกษตรกรยุคใหม่ เพื่อรับกับการเปิดเสรีทางการค้า หรือ AEC นั้น จะต้องทำให้ครบวงจรมากยิ่งขึ้น โดยเกษตรกรผู้เลี้ยงจะต้องให้ความสำคัญ กับการผลิต เลือกใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาช่วยในการจัดการต่างๆ ตั้งแต่การเลี้ยง การผลิต การแปรรูป และการขนส่ง จนถึงมือผู้บริโภค ขณะเดียวกันก็จะต้องมีการดำเนินงานทางการตลาดที่ดีด้วยเช่นกัน สำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงรายย่อยที่มีกำลังทรัพย์ไม่เพียงพอ ก็สามารถรวมตัวกันเป็นสหกรณ์ โดยเลือกหาหุ้นส่วนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องเข้ามาเชื่อมโยง เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้กับธุรกิจที่ครบวงจรมากขึ้น อาทิเช่น ผู้ผลิตอาหารสัตว์, ห้องเย็น ห้องแช่แข็ง, สหกรณ์ขายสินค้า เป็นต้น นอกจากนี้การรวมตัวเป็นสหกรณ์ยังช่วยแก้ไขปัญหาเนื้อหมูหน้าเขียงมีราคาสูง แต่ราคาที่เกษตรกรได้จริงนั้นค่อนข้างต่ำ ทำให้เกิดส่วนเหลื่อมของราคาสูง เนื่องจากเนื้อหมูเป็นสินค้าที่มีความอ่อนตัวสูง เมื่อมีการขึ้นราคาก็มักจะมีการโต้ตอบอย่างรุนแรงจากผู้บริโภค ทำให้การขึ้นราคาเป็นไปได้ยาก เกษตรกรจึงจำเป็นต้องตกอยู่ในภาวะจำยอม ซึ่งหากเกษตรกรรวมตัวกันเป็นสหกรณ์ ลดกระบวนการซื้อขาย ผ่านพ่อค้าคนกลาง มีร้านค้าขายเองได้ เพื่อเพิ่มส่วนต่างระหว่างยอดขายกับต้นทุน ส่วนหนึ่งก็เป็นการลดราคา ให้ลูกค้าซื้อได้ในราคาถูกลง ก็จะสามารถสร้างกำไรเพิ่มได้ แต่ที่สำคัญที่สุดสหกรณ์เองก็จะต้องมี ธรรมมาภิบาลในการดำเนินธุรกิจเช่นเดียวกัน “หากท่านใดสนใจเทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านปศุสัตว์ระดับนานาชาติ สามารถเข้าชมงานแสดง เทคโนโลยี ปศุสัตว์ครบวงจร ตั้งแต่การผลิตอาหารสัตว์ การขยายพันธ์ การเลี้ยง อุปกรณ์เลี้ยงสัตว์ ตลอดจนถึง การแปรรูป เนื้อสัตว์ หรือ VIV Asia 2013 ได้ ในระหว่างวันที่ 13-15 มีนาคม 2556 ตั้งแต่เวลา 10.00-18.00 น. ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนา นอกจากนี้ยังจะได้พบกับงาน Aquatic Asia 2013 คือ งานแสดงสินค้า และสัมมนา ด้านอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแห่งเอเชีย — แปซิฟิค ที่จัดขึ้นพร้อมกัน ณ บริเวณ Main Foyer EH 105 โดยจะมุ่งเน้นในเรื่องของสัตว์น้ำเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อภาคประมงของไทย” นางลัดดาสรุป รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับงาน VIV Asia 2013 และ Aquatic Asia 2013 www.viv.net และ www.aquatic-asia.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ