กรุงเทพฯ--31 ม.ค.--19 มีเดีย
สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (สอร.)แถลงข่าว เดินหน้ายุทธศาสตร์”สร้างโอกาสทางปัญญา ขยายเครือข่ายสู่ภูมิภาค” โดยร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกภูมิภาค เป็นการสร้างพื้นที่แห่งปัญญาให้แก่เยาวชนทั่วประเทศอย่างเท่าเทียมกัน ตั้งเป้าเปิด TK Hub อย่างน้อย 1 แห่งต่อหนึ่ง 1 ภูมิภาคภายใน 5 ปี
ดร.สิริกร มณีรินทร์ ประธานคณะอนุกรรมการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (สอร.) และกรรมการบริหารสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า สอร.เห็นความสำคัญในการสร้างโอกาสการเข้าถึงปัญญาแก่เยาวชนทั่วประเทศเพื่อความเท่าเทียมในสังคม ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศ(Country Strategy) ของรัฐบาลด้านการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม อีกทั้งเป็นการเตรียมการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอีกด้วย
เป้าหมายสำคัญคือ การสร้างพลังเปลี่ยนแปลงสังคมสู่ทิศทางสร้างสรรค์ ถือเป็นการลงทุนทางปัญญาของรัฐบาล โดยได้จัดทำ Road Map TK park 5 ปี เพื่อขยายเครือข่ายอย่างเป็นระบบ ครอบคลุมทุกภูมิภาค มุ่งร่วมงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งมีผู้นำที่มีศักยภาพและมีความพร้อม เพื่อให้อุทยานการเรียนรู้ทุกแห่งเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้วางกรอบการขยายผลเป็น 2 ระดับ ได้แก่ ระดับแม่ข่ายภูมิภาค (TK Hub) ในจังหวัดใหญ่แต่ละภาค และระดับจังหวัดขนาดต่างๆ แล้วแต่พื้นที่จังหวัด พร้อมตั้งเป้าเปิด TK Hub อย่างน้อย 1 แห่งต่อภูมิภาค TK Hub จะมีบทบาทสำคัญในการให้บริการประชาชน ตลอดจนเป็นพี่เลี้ยงให้หน่วยงานในจังหวัดข้างเคียง
“ วันนี้ สอร.ลงนามบันทึกข้อตกลงกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กับเทศบาลเมืองปัตตานีและเทศบาลเมืองนราธิวาสเพื่อจัดตั้งอุทยานการเรียนรู้ปัตตานีและอุทยานการเรียนรู้นราธิวาส ซึ่งพร้อมเปิดปลายปี พ.ศ. 2557 ส่วนอุทยานการเรียนรู้นครราชสีมาซึ่งพร้อมให้บริการเฟสแรกต้นปี พ.ศ. 2557 เป็นความร่วมมือกับเทศบาลนครนครราชสีมา ในขณะที่อุทยานการเรียนรู้เชียงใหม่ เป็นความร่วมมือกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ คาดว่าจะเปิดได้ราวปี พ.ศ. 2559
ดร.สิริกร เพิ่มเติมว่า “สอร.จะถ่ายทอดองค์ความรู้การพัฒนาห้องสมุดมีชีวิต โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน ขณะที่ท้องถิ่นจัดงบประมาณก่อสร้างหรือปรับปรุงอาคาร และการบริหารจัดการให้ยั่งยืน สอร.เน้นการเตรียมการด้านเนื้อหาสาระและจิตวิญญาณภายใน TK park รวมทั้งเตรียมการฝึกอบรมบุคลากร การเตรียมสาระจะทำทั้งในรูปหนังสือและสื่ออิเล็กทรอนิกส์ รวบรวมหนังสือและเรื่องราวดีๆ เกี่ยวกับท้องถิ่น และค้นหาอัตลักษณ์ท้องถิ่นเพื่อส่งต่อให้สะท้อนบนรูปแบบของอาคาร”
ยุทธศาสตร์และแผนงานดังกล่าวนี้จะเติมเต็มพื้นที่แห่งปัญญาแก่เยาวชนได้ครอบคลุมทุกภาค จากเดิมที่สอร.ได้เริ่มดำเนินการไว้ 10 จังหวัด 15 แห่ง
ด้านนายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่าอุทยานการเรียนรู้เชียงใหม่เป็นโครงการเก่าตั้งแต่สมัยที่ตนดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรี นำมาปัดฝุ่นใหม่โดยโอนย้ายโครงการเข้ามาอยู่ในส่วนของ อบจ. เพื่อสานต่อให้แล้วเสร็จ เนื่องจากเชียงใหม่เป็นเมืองการศึกษา มีมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษามากกว่า 10 แห่งจึงต้องการให้มีอุทยานการเรียนรู้ที่ทันสมัย เพื่อกระตุ้นการอ่าน การเรียนรู้และสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็ก และเยาวชน นอกจากนี้ยังตั้งใจให้เป็นแหล่งรวบรวมสาระท้องถิ่นที่เป็นอัตลักษณ์และรากเหง้าของเชียงใหม่เพื่อให้เด็ก เยาวชน ตลอดจนประชาชนได้ศึกษาอีกด้วย
ทั้งนี้โครงการดังกล่าวกำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการของบประมาณ ซึ่งคาดว่าจะใช้งบทั้งสิ้น 150 ล้านบาท โดยสร้างอาคาร 1 หลังพร้อมลานกิจกรรมบนเนื้อที่ส่วนหนึ่งของทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่เดิม ซึ่งอยู่ในระหว่างการประสานงาน คาดว่าโครงการดังกล่าวจะได้รับงบประมาณในปี พ.ศ. 2557 โดยคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ช่วงต้นปี พ.ศ. 2557 นี้ ใช้เวลาก่อสร้าง 18 เดือน ดังนั้นภายในปี พ.ศ. 2559 อุทยานการเรียนรู้เชียงใหม่ ในฐานะแม่ข่ายของภาคเหนือจะสามารถเปิดให้บริการได้อย่างเป็นทางการ
เช่นเดียวกับอุทยานการเรียนรู้นครราชสีมา ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการของบประมาณปี พ.ศ. 2557 โดยนายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา กล่าวว่าเนื่องจากเป็นคนชอบอ่านหนังสือมาก ถึงขนาดเป็นเจ้าภาพจัดงานสัปดาห์หนังสือขึ้นที่โคราช เพราะต้องการปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน การเรียนรู้ให้กับคนโคราช จึงมีแนวคิดที่จะจัดตั้งอุทยานการเรียนรู้มาหลายปีแล้ว เพราะอยากมีแหล่งเรียนรู้สร้างสรรค์ที่เป็นได้มากกว่า ห้องสมุด
สำหรับการจัดตั้งอุทยานการเรียนรู้ นครราชสีมา นายกฯ นักอ่านเปิดเผยว่า ในเฟสแรกจะดำเนินการพัฒนาอาคารชุณหะวัณ ซึ่งเป็นอาคารเก่าตั้งอยู่บริเวณคูเมืองอนุสรณ์สถาน ติดชิดกับลานย่าโม และสวนสาธารณะซึ่งจะปรับภูมิทัศน์ให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ ลานกิจกรรมของเด็กๆ โดยคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์อันโดดเด่นของนครราชสีมาที่มีการเชื่อมโยงด้วยภาพอดีต ปัจจุบันและอนาคตอย่างกลมกลืน ทั้งนี้เฟสแรกคาดว่าจะพร้อมเปิดให้บริการได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 โดยมีเทศบาลนครนครราชสีมาให้การสนับสนุนและบริหารจัดการ เพื่อสร้างสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกหลาน และคนโคราช
ด้านนายพิทักษ์ ก่อเกียรติพิทักษ์ นายกเทศมนตรีเมืองปัตตานี กล่าวถึงที่มาของการจัดตั้งอุทยานการเรียนรู้ปัตตานีว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์ของ 3 จังหวัดภาคใต้ ทำให้เด็กขาดโอกาสมากในเรื่องการอ่าน การเรียนรู้โดยเฉพาะนวัตกรรมการเรียนรู้ใหม่ๆ ทำให้รู้สึกว่าเด็กของเราเสียโอกาสอย่างมาก พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. เห็นตัวอย่างความสำเร็จของอุทยานการเรียนรู้ยะลาที่ตั้งมาเมื่อ 6 ปีที่ผ่านมา ที่เป็นพื้นที่สำหรับกิจกรรมสร้างสรรค์ร่วมกันระหว่างเยาวชนต่างศาสนาและวัฒนธรรม จึงเสนอตั้งโครงการขยายอุทยานการเรียนรู้ไปยังปัตตานีและนราธิวาส มั่นใจว่าจะทำให้เด็กมีความรู้อย่างเท่าเทียมทั้งด้านวิชาการ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ควบคู่ไปกับการศึกษาวัฒนธรรม ภาษา และศาสนาอย่างถ่องแท้ สถานที่ตั้งนั้นอยู่กลางเมืองบนถนนปัตตานีภิรมย์
นอกจากนี้ยังมีการสำรวจความคิดเห็นและความต้องการของคนในพื้นที่เกี่ยวกับการจัดตั้งอุทยานการเรียนรู้ปัตตานี จนเป็นที่มาของสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นด้วยรูปทรงอาคารที่ได้รับแรงบันดาลใจจากรูปทรงเรือกอแระ และลวดลายกระจกที่สะท้อนลงมาเป็นเมืองสามวัฒนธรรม ได้แก่ จีน ,ไทย-พุทธและไทย-มุสลิม ซึ่งเป็นอัตลักษณ์และความภาคภูมิใจของคนปัตตานี ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ปลายปี พ.ศ. 2557 จากงบประมาณเริ่มต้นที่ 100 ล้านบาทที่ ศอ.บต. ตั้งให้
ในส่วนของอุทยานการเรียนรู้นราธิวาส บ้านใกล้เรือนเคียงกับปัตตานี นายธนาวิทย์ ไชยานุพงศ์ นายกเทศมนตรีเมืองนราธิวาส กล่าวว่านราธิวาสขาดโอกาสด้านแหล่งเรียนรู้ และไอทีมาก จึงไปศึกษาดูงานที่อุทยานการเรียนรู้ยะลา จนเป็นที่มาของการดำเนินการของบประมาณจาก ศอ.บต. จำนวน 100 ล้านบาท เพื่อจัดตั้งอุทยานการเรียนรู้นราธิวาส โดยจัดสร้างอาคารขนาด 2 ชั้นพร้อมลานสานฝันบนพื้นที่จำนวน 2 ไร่ครึ่งขึ้นที่ริมสวนกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
โดยแบบร่างอาคารได้รับการออกแบบ จากการนำเอกลักษณ์ของจังหวัดมาสร้างให้เกิดอัตลักษณ์ที่โดดเด่น เช่นใบไม้สีทอง เรือกอแระ น้ำตก และทะเล นอกจากนี้ยังภูมิใจนำเสนอ ภาษาเก่าแก่ของจังหวัดนราธิวาส ได้แก่ ภาษา “เจ๊ะเห” ซึ่งเป็นภาษาพูดของคนนราธิวาสที่สืบทอดมานาน โดยกำลังอยู่ระหว่างการจัดทำเป็นหนังสือ ทั้งนี้การก่อตั้งอุทยานการเรียนรู้นราธิวาสมีกำหนดแล้วเสร็จในปลายปี พ.ศ. 2557
นอกจากนี้ ดร.สิริกร ยังกล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับภารกิจการขยายเครือข่ายไปสู่ระดับภูมิภาคอีกด้วยว่า “หน้าที่ของเราคือ ถ่ายทอดองค์ความรู้การพัฒนาห้องสมุดมีชีวิตในรูปแบบอุทยานการเรียนรู้ โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในแต่ละพื้นที่เพื่อให้แต่ละแห่งมีความเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง ทั้งนี้ แต่ละท้องถิ่นจะต้องจัดงบประมาณด้านการก่อสร้างหรือปรับปรุงอาคารสถานที่ และการบริหารจัดการให้ยั่งยืน ส่วนงบประมาณของเราจะเน้นการเตรียมการด้านเนื้อหาสาระและจิตวิญญาณที่จะอยู่ใน TK park แต่ละแห่ง รวมทั้งเตรียมการฝึกอบรมบุคลากร จะเตรียมด้านสาระและสื่อทั้งในรูปหนังสือและสื่ออิเล็กทรอนิกส์ รวบรวมหนังสือและเรื่องราวดีๆ ต่างๆ เกี่ยวกับท้องถิ่น ค้นหาอัตลักษณ์ของท้องถิ่นที่คนในพื้นที่ภูมิใจเพื่อส่งต่อให้สะท้อนบนรูปแบบของอาคารห้องสมุดนี้