กรุงเทพฯ--1 ก.พ.--กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ ลับคมธุรกิจ: Digital & Social Media Trend 2013 กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556
นงค์นาถ ห่านวิไล
Twitter @ nongnart
น่าตื่นเต้นไม่น้อย กับประชากรเฟซบุ๊คทั่วโลกที่พุ่งพรวดขึ้นทะลุ 1,000 ล้านราย ขณะที่ผู้ใช้ทวิตเตอร์ ทะยานสู่ 200 ล้านราย เรียกได้ว่าความนิยมเพิ่มขึ้นเร็วราวกับติดปีก ล่าสุดแอพพลิเคชั่น แชท ยอดฮิต Line จากญี่ปุ่น ทำสถิติผู้ใช้ทะลุ 100 ล้านรายในเวลาไม่ถึง 2 ปี เจ้านี้มาแรงที่สุด เพราะนับจากวันเปิดตัวเดือน มิ.ย.ปี 54 ใช้เวลาน้อยกว่าเจ้าอื่น ในการสร้างสาวก
ด้านเครือข่ายสังคมออนไลน์ในไทย ก็ไม่พลาดกระแสฮิต ของบรรดาเทรนด์ดิจิทัล และโซเชียล เน็ตเวิร์กต่างๆ โดยมีจำนวนผู้ใช้งานเฟซบุ๊คปัจจุบันกว่า 18 ล้านราย ขณะที่ แอพไลน์พุ่งเกิน 10 ล้านรายไปแล้วเช่นกัน
เพราะทุกวันนี้ คนไทยเราใช้สมาร์ทโฟน ทุกที่ ไม่เว้นแม้แต่ในห้องน้ำ! โดยเฉพาะ บนรถไฟฟ้า รถสาธารณะ ลองสังเกตดู พอได้นั่งปุ๊บ ก้มหน้าก้มตา กดมือถือปั๊บ ทั้งแชท เล่นเกม โพสต์เฟสบุ๊ค ทวิต ข้อความ ส่งสติ๊กไลน์ สารพัดตามแต่รสนิยม
วันนี้มาลองอัปเดตเทรนด์ดิจิทัลกลุ่มต่างๆ ในปี 56 ที่ยังคงเป็นกระแสนิยมในกลุ่มผู้ใช้และถูกนำมาเป็นเครื่องมือและกลยุทธ์สื่อสารการตลาดกับผู้บริโภค
ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ บริษัท TARAD.com ให้มุมมองด้าน "โซเชียล มีเดีย" ในปีนี้ว่ายังคงมีอัตราการเติบโตสูง โดยได้แรงหนุนจากอุปกรณ์สมาร์ทดีไวซ์ยังขยายตัวต่อเนื่อง และจากการเปิดให้บริการ 3จี เต็มรูปแบบในปีนี้
อีกทั้งพฤติกรรม สว. หรือผู้สูงวัย ถือเป็นตลาดใหม่ ที่เริ่มใช้โซเชียล มีเดียเพิ่มขึ้น เนื่องจากความสะดวกสบายในการใช้งานผ่านสมาร์ทดีไวซ์ ที่เปิดใช้ได้ง่ายกว่าเปิดจอคอมพิวเตอร์ หรือ โน้ตบุ๊ค ตัวหนังสือ รูปภาพ ขยายใหญ่ได้ มองเห็นชัด ขณะที่กลุ่มวัยทีน ใช้มากขึ้นตลอดเวลา
ส่วนมุมของนักสื่อสารการตลาดและโฆษณา มีอัตราการใช้โฆษณาผ่านโซเชียล มีเดีย เพิ่มขึ้น ปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วนราว 7-8 % ของงบโฆษณาออนไลน์ เพราะโซเชียล มีเดีย มีจุดเด่นในการเลือกกลุ่มเป้าหมายที่ตรงกับสินค้าและแบรนด์ได้ เช่นการลงโฆษณาในเฟซบุ๊ค สามารถเลือกโปรไฟล์กลุ่มผู้ใช้งานได้ว่า จะเป็นผู้หญิง ผู้ชาย อายุเท่าไร เนื่องจากผู้ใช้งาน ได้ลงทะเบียนข้อมูลส่วนตัวไว้กับเฟซบุ๊ค อีกทั้งค่าใช้จ่ายยังถือว่าถูก เพราะคิดเป็นอัตรา pay per click
ในโลกของโซเชียล มีเดีย เป็นชุมชนออนไลน์ ที่ผู้บริโภคจะเชื่อข้อมูลของกลุ่มเพื่อนในสังคมกันเอง จากข้อมูลวิจัยพบว่าผู้บริโภค 78 % ไม่เชื่อโฆษณา และ 75 % เชื่อเพื่อนในสังคมออนไลน์ การรีวิวสินค้าในเว็บบล็อก การแชร์ข้อมูลของ influencer
เมื่อเป็นเช่นนี้ นักสื่อสาร นักโฆษณา จะต้องครีเอทคอนเทนท์ ให้ "โดนใจ" ผู้คนใน โซเชียล เน็ตเวิร์ก เพื่อให้คนพูดถึงสินค้า เพราะหากทำได้ดี จะทำให้แบรนด์สร้างการรับรู้นใน โซเชียล มีเดียได้อย่างกว้างขวางด้วยต้นทุนต่ำ
ด้าน อุไรพร ชลสิริรุ่งสกุล ประธานกรรมการ บริหารบริษัท ธอมัสไอเดีย จำกัด บอกว่าดิจิทัล เทรนด์ในปีนี้จะก้าวไปอีกขั้น สู่รูปแบบ "ดิจิทัล คอมเมิร์ซ เทรนด์" เนื่องด้วยหลายปีที่ผ่านมานักการตลาดได้เรียนรู้หลักการ "ดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง" มาแล้ว มาปีนี้สิ่งที่สินค้าและแบรนด์ต้องการ ให้ลูกค้าเข้ามามีส่วนร่วม โดยเฉพาะการเป็นลูกค้าของแบรนด์ เพื่อพยายามให้เกิดการ "ซื้อ" ผ่านระบบดิจิทัลหรือช่องทางที่จัดเตรียมไว้ให้
เพราะวันนี้ คนไทยมีความคุ้นชินกับการใช้มือถือและดาวน์โหลดแอพที่ต้องจ่ายเงิน และเชื่อมั่นในระบบจ่ายเงินออนไลน์และแอพมากขึ้น ขณะที่การเสนอโปรโมชั่นออนไลน์ จะช่วยผลักดันความสนใจในการซื้อสินค้าด้วยรูปแบบ "หากซื้อเดี๋ยวนี้จะได้รับส่วนลดพิเศษทันที" ซึ่งการเปิดให้บริการ 3จี จะทำให้การเชื่อมต่อผ่านโครงข่ายโมบาย บรอดแบนด์ "เร็วและแรง" ขึ้น อีกปัจจัยสนับสนุนคือการขยายตัวจำนวนสมาร์ทโฟนราคาถูกในปีนี้ที่จะมีให้เลือก หลากหลาย และการพัฒนาแอพใหม่ๆ ทำให้ผู้บริโภค มีโอกาสที่จะใช้บริการดิจิทัล คอมเมิร์ซ มากขึ้น
ทุกวันนี้ประสบการณ์การชอปปิงของคนไทยกำลังถูกเชื่อมต่อด้วยดิจิทัล มีเดีย จะเห็นได้จากเมื่อเราเดินเข้าไปในศูนย์การค้า จะพบว่ามีแอพบางแอพ ปรากฏข้อมูลขึ้นบนสมาร์ทโฟนทันที เพื่อนำเสนอโปรโมชั่นส่วนลดสินค้า กระทั่งพาเราไปยังร้านค้าที่กำลังเสนอโปรโมชั่น ซึ่งมาจากจุดเด่นของมือถือที่รู้ว่า ผู้ใช้งานกำลังอยู่ ณ สถานที่ใด เพื่อพาเราไปยังสถานที่กำลังจัดโปรโมชั่นหรือชั้นวางสินค้า
"ในยุคนี้แอพ เป็นเครื่องมือที่สามารถช่วยกระตุ้นยอดขายได้เป็นอย่างดี"เครื่องมือการตลาดจะย้ายมาอยู่ในสมาร์ทโฟนมากขึ้น การโฆษณาในมือถือจะเข้าถึง ผู้บริโภคตรงกลุ่มและรวดเร็ว นักการสื่อสารและโฆษณาจะต้อง สร้างสรรค์คอนเทนท์ที่ เหมาะกับการใช้งานผ่านมือถือ
การวางกลยุทธ์ดิจิทัล จะต้องมองเป็นภาพใหญ่ ต้องทำไปพร้อมกับ ดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง และดิจิทัล คอมเมิร์ซ เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคในการเซอร์วิสที่ดี เพราะทุกอย่างที่เกิดขึ้นในยุคนี้มาเร็วและแรง
ปีนี้คำว่า Digital or Die!! เราอาจจะได้ยิน พอๆ กับ Differentiate or Die ในอดีต เพราะธุรกิจต้องก้าวให้ทันผู้บริโภคที่รอพร้อมเสพ คอนเทนท์ผ่านเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา !