กรุงเทพฯ--1 ก.พ.--มูลนิธิสยามกัมมาจล
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ แถลงข่าวจัดงานมหกรรมประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 12 พร้อมจับมือมูลนิธิสยามกัมมาจลหนุนเยาวชนพัฒนาผลงานให้ใช้งานได้จริง ขยายผลสู่การค้า — เกิดผู้ประกอบการหน้าใหม่ ด้าน ผอ. สสส. สำนัก 7 แนะเยาวชนต้องใส่ใจกับการศึกษาหาข้อมูล ใช้ ICT เป็นช่องทางเผยแพร่เนื้อหาที่ดีสู่สังคมในวงกว้าง
เมื่อวันที่ 30 มกราคม ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นประธานแถลงข่าวการจัดงานมหกรรมประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 12 หรือ Thailand ICT Contest Festival 2013 ณ ห้องโถงอาคารพระจอมเกล้า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยกล่าวว่าเนคเทคได้จัดงานดังกล่าวต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 12 เพื่อเป็นเวทีการแข่งขันสุดยอดผลงานนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารจากฝีมือและมันสมองของเยาวชนไทยทั่วประเทศ
สำหรับปีนี้ได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรหลายหน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) บริษัทอินเทลไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยการประกวดแบ่งออกเป็น 4 กิจกรรมหลัก ได้แก่
1.การแข่งขันโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 15 (The Fifteenth National Software Contest: NSC 2013) ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
2.การประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ครั้งที่ 15 (The Fifteenth Young Scientist Competition: YSC 2013) สรรหาตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมชิงชัยในงาน Intel International Science and Engineering Fair (Intel ISEF) ณ เมืองฟินิกส์ มลรัฐแอริโซนา ประเทศสหรัฐอเมริกา
3. การแข่งขันประกอบวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ครั้งที่ 12 (The Twelfth Youth’s Electronics Circuit Contest: YECC 2013) โดยตัวแทนค่ายนักอิเล็กทรอนิกส์รุ่นเยาว์จากทั่วประเทศ เพื่อชิงชัยและค้นหาสุดยอดนักประดิษฐ์ นักอิเล็กทรอนิกส์วัยเยาว์สร้างสรรค์อุปกรณ์ “อิเล็กทรอนิกส์เพื่อสังคมผู้สูงอายุ” (Aging Society) และ
4. การแข่งขันโค้ดจม (Thailand Code Jom) ครั้งที่ 3 หรือการแข่งขันเขียนโปรแกรมที่เน้นความสามารถด้านความเร็วในการพัฒนา ดำเนินการโดยคณะกรรมการวิชาการโครงการจัดการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกนานาชาติ (IOI2011) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ทางด้าน นางปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล องค์กรร่วมจัดงาน กล่าวว่า มูลนิธิสยามกัมมาจลมีบทบาทในการสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพเชิงบวกของเยาวชน โดยส่งเสริมให้เยาวชนไทยได้ใช้ศักยภาพของตัวเองทำประโยชน์ให้กับสังคม ทั้งนี้ในด้านของ ICT พบว่าเยาวชนรุ่นใหม่มีความใส่ใจและใช้ชีวิตเกี่ยวข้องกับ ICT มาก เป็นคำถามว่าทำอย่างไรที่จะทำให้เยาวชนใช้งานเชิงบวก ด้วยเหตุนี้มูลนิธิสยามกัมมาจลจึงร่วมสนับสนุนและต่อยอดการจัดประกวดดังกล่าวโดยสนับสนุนงบประมาณพัฒนาต่อยอดผลงานของเยาวชนจำนวน 10 โครงงานให้เป็นผลิตภัณฑ์หรือซอฟต์แวร์ที่สามารถใช้งานได้จริง ด้านผู้ประกอบการสามารถขยายผลเชิงพาณิชย์ได้ รวมถึงให้การสนับสนุนเยาวชนเจ้าของผลงานที่ต้องการก้าวขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการเองได้ทำตามความฝัน และการสนับสนุนให้เยาวชนที่มีผลงานโดดเด่นได้เดินทางไปร่วมการประกวดแข่งขันระดับนานาชาติเวทีใหม่ๆ ที่ยังไม่มีผู้ให้การสนับสนุน เพื่อให้เยาวชนได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์นำกลับมาพัฒนางานของตนเองและถ่ายทอดแก่น้องๆ รุ่นหลังได้ร่วมเรียนรู้
“เนคเทคได้เยาวชนที่เข้ารอบ เรียกว่าคัดสรรเพชรมาแล้ว รอการเจียระไน สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นก็คือ ภาคเอกชนที่ต้องการคนเก่งคนดีเข้ามาสนับสนุนน้องๆ ที่มีความสามารถ เอาไปปั้นต่อ ในอีกด้านหนึ่งจะเห็นได้ว่าเรามีเยาวชนที่เก่งและมีผลงานที่ดีจำนวนมาก มูลนิธิสยามกัมมาจลขอเข้าไปสนับสนุนน้องๆ ที่มีผลงานดีเพื่อให้เข้าไปถึงผู้ใช้โดยตรง พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขายได้ หรือเป็นซอฟต์แวร์ฟรีเพื่อผู้ด้อยโอกาส และถ้าน้องๆ สามารถพัฒนาตนเองเป็นผู้ประกอบการรุ่นเยาว์ได้ก็ควรได้รับการสนับสนุน โดยมีนักเทคโนโลยี นักธุรกิจ และผู้ประกอบหรือผู้ใช้งานด้านนั้นๆ มาช่วยมองว่าอะไรที่เป็นช่องว่างที่ต้องพัฒนาต่อ จุดนี้ได้หารือกับเนคเทคถึงการมีคณะผู้เชี่ยวชาญที่มาจากเนคเทค สวทช. ธนาคาร และผู้ประกอบการ เป็นที่ปรึกษาแก่น้องๆ หากทำสำเร็จจะมีประโยชน์มาก และจะเป็นตัวพิสูจน์ว่าเวทีการประกวดนี้ช่วยให้น้องๆ ประสบความสำเร็จได้”
ขณะที่มุมมองต่อการพัฒนาซอฟต์แวร์ของเยาวชนไทย นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ (สำนัก 7) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า เยาวชนไทยส่วนใหญ่ที่มีความรู้ความสามารถเชิงเทคนิคทางด้านซอฟต์แวร์มักขาดการศึกษาหาข้อมูลความรู้ที่เกี่ยวข้องอย่างเพียงพอ เพื่อจัดทำเนื้อหาและใช้ ICT ผลิตเป็นสื่อรูปแบบใหม่ๆ ทำให้ที่ผ่านมาแม้จะสามารถผลิตชิ้นงานได้น่าสนใจ แต่เนื้อหาที่นำมาเสนอกลับไม่ค่อยเป็นประโยชน์ตรงตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย แต่หากเยาวชนเข้าถึงข้อมูลความรู้ที่ดี ก็จะสามารถหยิบจับข้อมูลที่มีประโยชน์ไปเผยแพร่สู่สังคมได้ อาทิ ข้อมูลด้านการดูแลส่งเสริมสุขภาพของคนไทยที่มีเป็นจำนวนมากรอการเผยแพร่
ทั้งนี้ งานมหกรรมประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศไทยครั้งที่ 12 นี้จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 12 - 14 กุมภาพันธ์ 2556 ณ หอประชุมมหิศร เอสซีบี พาร์ค พลาซ่า ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ (รัชโยธิน) กรุงเทพมหานคร ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.nectec.or.th