กรุงเทพฯ--17 พ.ย.--สนพ.
ก.พลังงาน สนับสนุน กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี ศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อม สร้างท่าเรือขนส่งสินค้า ระหว่างจุดเชื่อมต่อแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำป่าสัก เพื่อประหยัดน้ำมัน และลดการขนส่งสินค้าโดยรถบรรทุกเข้าสู่กรุงเทพและปริมณฑล
ดร.พรชัย รุจิประภา รองปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผย ถึงความคืบหน้าการดำเนิน ยุทธศาสตร์ลดการใช้พลังงาน โดยการขนส่งทางน้ำในบริเวณกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ว่ากระทรวงพลังงานได้พิจารณาถึงความเหมาะสมในการสำรวจ ออกแบบ ก่อสร้างสถานีขนส่งสินค้าทางน้ำ ซึ่งจะทำให้เกิดการประหยัดพลังงานและช่วยเสริมสร้างการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ตลอดจนเพิ่มศักยภาพให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการขนส่งของภูมิภาคในอนาคต
ดังนั้นกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานจึงได้ให้การสนับสนุน กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี กระทรวงคมนาคม ดำเนินโครงการศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อม สำรวจ ออกแบบเพื่อก่อสร้างสถานีขนส่งสินค้าทางลำน้ำเพื่อการประหยัดพลังงาน บริเวณจุดเชื่อมต่อทางน้ำที่อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง และอำเภอนครหลวง จังหวัดอยุธยา จำนวน 9.5 ล้านบาท
ทั้งนี้ ปัจจุบันแม่น้ำเจ้าพระยามีการขนส่งสินค้าทางน้ำวันละประมาณ 100,000 ตัน โดยขนส่งทางน้ำระหว่างเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรีไปอำเภอท่าเรือ,อำเภอนครหลวง จังหวัดอยุธยา และ อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง ดังนั้น การพัฒนาจุดเชื่อมต่อทางน้ำ ที่อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง และอำเภอนครหลวง
จังหวัดอยุธยา จะช่วยลดการขนส่งสินค้าโดยรถบรรทุกเข้าสู่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงสามารถลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงลงได้
สำหรับ การขนส่งสินค้าทางน้ำ จะช่วยลดการใช้พลังงานของประเทศได้ โดยน้ำมันเชื้อเพลิง 1 ลิตร จะใช้ขนส่งสินค้าทางน้ำได้ 217.6 ตัน ต่อระยะทาง 1 กิโลเมตร ในขณะที่ขนส่งสินค้าทางรถไฟได้ 85.5 ตัน ต่อระยะทาง 1 กิโลเมตร และขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุกได้ 25.5 ตันต่อระยะทาง 1 กิโลเมตร ทั้งนี้ การขนส่งทางน้ำ ซึ่งประกอบด้วยเรือจูง 1 ลำ กับเรือลำเลียง 2-4 ลำ สามารถบรรทุกสินค้าได้เที่ยวละประมาณ 1,200 — 6,400 ตัน
การดำเนินโครงการศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อม
ก่อนการออกแบบก่อสร้างสถานีขนส่งสินค้าทางลำน้ำ เพื่อขยายเส้นทางเดินเรือขนส่งสินค้าที่จะทำให้เกิดการประหยัดพลังงานและช่วยเสริมสร้างการพัฒนาทางเศรษฐกิจ อันเป็นการสนับสนุนให้มีการพัฒนาระบบการขนส่งทางน้ำ ทางบก ที่จะเชื่อมโยงการขนส่งทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มายังท่าเรือต่างๆ ต่อไป--จบ--