เก็บมาฝากจากแม่โจ้...การดูแลรักษาลำไยช่วงออกดอก

ข่าวทั่วไป Monday February 4, 2013 09:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ก.พ.--มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เก็บมาฝากจากแม่โจ้... จะปลูกลำไยให้ได้เงินต้องใส่ใจกันทุกระยะ และช่วงออกดอกติดผลก็เป็นระยะสำคัญที่ต้องใส่ใจกันเป็นพิเศษ งานประชาสัมพันธ์แม่โจ้จึงเก็บเทคนิค วิธีในการดูแลลำไยช่วงออกดอกมากฝาก... การดูแลรักษาลำไยช่วงออกดอก ลำไยนับได้ว่าเป็นไม้ผลที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของภาคเหนือตอนบนในอดีต แต่ปัจจุบันมีความสำคัญระดับประเทศ เนื่องมาจากมีสารเคมีหลายชนิดที่สามารรถชักนำ หรือกระตุ้นให้ลำไยออกดอกได้ จึงสามารถปลูกได้ทุกภาคของประเทศไทย ลำไยเป็นไม้ผลที่ไม่จำเป็นต้องห่อผล เพียงแต่ต้องมีการตัดแต่งช่อผลที่ติดผลดกเกินไป การปลูกและการปฏิบัติดูแลเอาใจใส่ไม่ยุ่งยาก ถ้าหากมีความรู้และเข้าใจ ลักษณะนิสัย และการเจริญเติบโตของลำไย ผลลำไยนอกจากบริโภคสดแล้ว ยังสามารถนำไปแปรรูปได้ เช่น ลำไยกระป๋อง ลำไยอบแห้งเนื้อสีทอง และลำไยอบแห้งทั้งเปลือก ผลผลิตส่งออกไปขายยังประเทศจีน และอีกหลายประเทศ ปัจจุบันเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในการผลิตลำไยทั้งในฤดูและนอกฤดู จำเป็นต้องแข่งขันกันในเรื่องของปริมาณ คุณภาพ ต้นทุนการผลิต และความปลอดภัยของผู้ผลิต และผู้บริโภคเป็นสำคัญ แมลงศัตรูสำคัญช่วงลำไยออกดอกถึงติดผลขนาดเล็ก 1. หนอนกินดอกลำไย หนอนกินดอกมีพืชอาหารหลายชนิดนอกจากดอกลำไยแล้วยังกัดกินดอกลิ้นจี่ เงาะ และมะม่วง หนอนมีสีน้ำตาลอ่อน หัวสีดำ เมื่อโตเต็มที่มีขนาดตัวยาวประมาณ 2 เซนติเมตร หนอนสร้างเส้นใยดึงช่อดอกมาติดกัน แล้วกัดกินอยู่ภายในก่อนเข้าดักแด้หนอนถักเส้นใยยึดดอกแห้งปนกับขี้หนอนเป็นก้อนกลมห่อหุ้มดักแด้อยู่ภายใน ผีเสื้อของหนอนกินดอกลำไย ขณะเกาะอยู่กับที่ปีกหลุบลง ปีกมีสีน้ำตาลอ่อนปนม่วงอ่อน มีเส้นสีน้ำตาลพาดจากกลางปีกไปถึงปลายปีก ผีเสื้อเพศเมียวางไข่ตามช่อดอก เมื่อหนอนฟักจากไข่เริ่มกัดกินช่อดอกโดยใช้เศษชิ้นส่วนของกลีบดอกถักเป็นรังอยู่ตามช่อดอก เพื่อเป็นที่อาศัยหลบซ่อนอยู่ภายใน ศัตรูธรรมชาติ ในสภาพธรรมชาติมีแมลงศัตรูคอยทำลายหนอนกินดอกหลายชนิด - มดแดง - แตนเบียน - แมลงวันก้นขน การป้องกันกำจัด ถ้าพบหนอนเข้าทำลายดอกลำไยหนาแน่น พ่นสารเคมี เมทามิโดฟอส (ทามารอน 60% sc) อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ควรหลีกเลี่ยงการพ่นตอนดอกบาน 2. ด้วงกินดอกลำไย ด้วงหรือแมลงปีกแข็งกินดอกลำไยช่วงลำไยออกดอก พบด้วงปีกแข็งหลายชนิดกัดกินดอก และผลอ่อนทำให้ผลผลิตเสียหาย การป้องกันกำจัด ถ้ามีการระบาดฉีดพ่นด้วยคาร์บาริล (เซฟวิน 85% wp) อัตรา 45-60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร เฉพาะจุดที่พบแมลงเข้าทำลายหนาแน่น 3. เพลี้ยหอยหลังเต่า ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยอาศัยดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณช่อใบอ่อน ช่อดอก และผลลำไย โดยพบ อยู่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ ตามบริเวณส่วนต่าง ๆ ขณะดูดกินจะขับถ่ายของเหลวคล้ายน้ำเชื่อม ทำให้เป็นแหล่งอาหารของราดำ และมด การป้องกันกำจัด 1. ตัดแต่งกิ่งหรือส่วนที่ถูกเพลี้ยหอยทำลายไปเผาหรือฝัง 2. ใช้สารเคมี ควรใช้ตั้งแต่ระยะที่ตัวอ่อนเริ่มฟักออกมาจากไข่ใหม่ๆ จนถึงระยะตัวอ่อนที่ 2 และ 3 เนื่องจากระยะเหล่านี้เป็นระยะที่อ่อนแอต่อสารเคมีมากที่สุด 3. ในกรณีที่พบเพลี้ยหอยเข้าทำลายในระดับไม่รุนแรงก็ควรที่จะเลือกใช้ปิโตรเลียมออยล์ ไวท์ออยล์ และสารสกัดจากพืช เช่น สมุนไพรลูกซัก และสะเดาบด ตามอัตราที่แนะนำ ก็สามารถควบคุมประชากรของเพลี้ยหอยได้ในระดับหนึ่ง 4. สารเคมีที่มีประสิทธิภาพดีในการป้องกันกำจัดเพลี้ยหอยชนิดนี้ได้แก่ คาร์โบซัลแฟน อัตรา 80 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร คาร์บาริล อัตรา 60 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร และไดเมทโธเอท อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร การพ่นสารเคมี ควรพ่นซ้ำอีก 1-2 ครั้ง เมื่อยังตรวจพบระยะตัวอ่อนของเพลี้ยหอย 4. มวนลำไย มวนลำไยหรือแมงแกง ทำลายโดยดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณยอดอ่อน ก้านช่อดอกทำให้เหี่ยวแห้งและดูดกินน้ำเลี้ยงจากผลอ่อนทำให้ผลอ่อนแห้งและร่วง การป้องกันกำจัด ช่วงที่เป็นตัวอ่อนป้องกันกำจัดได้ผลดีกว่าตัวเต็มวัย ใช้สารเคมีแลมป์ดาไซฮาโลทริน (คาราเต้ 2.5% EC) อัตรา 10 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือเฟนวาลีเลต (ซูมิไซดิน 20% EC) อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือคาร์บาริล (เซฟวิน 85% WP) อัตรา 60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ท่านผู้อ่านท่านใดสนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ อาจารย์พิชัย สมบูรณ์วงศ์ นักวิชาการเกษตร ชำนาญการพิเศษ ฝ่ายนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โทร. 053-873938-9 ในวันและเวลาราชการ ข้อมูลโดย ฝ่ายนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โทร. 053-873938-9

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ