สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA เดินเกมสนับสนุนซอฟต์แวร์ไทย จับมือซิป้าหวังดึงส่วนแบ่งด้วยเทคโนโลยีคลาวด์

ข่าวเทคโนโลยี Monday February 4, 2013 10:26 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ก.พ.--สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA เดินเกมสนับสนุนซอฟต์แวร์ไทย จับมือซิป้าหวังดึงส่วนแบ่งด้วยเทคโนโลยีคลาวด์ แจ้งเกิดระบบซอฟต์แวร์มาตรฐานผ่านเว็บ พร้อมร่วมมือผลักแอพเซ็นเตอร์ภาครัฐ ดึงสพธอ.วางมาตรฐานระบบรักษาความปลอดภัยระบบบูรณาการข้อมูลภาครัฐ หวังประชาชนมั่นใจ นางไอรดา เหลืองวิไล รองผู้อำนวยการ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA เปิดเผยว่า จากแนวทางของรัฐบาลที่ต้องการสร้าง Smart Thailand โดย EGA จะเข้ามาขับเคลื่อนระบบไอทีให้กับภาครัฐทั้งหมดนั้น ในปี 2556 ได้วางเป้าหมายขยายเครือข่าย GIN หรือ เครือข่ายสื่อสารข้อมูลเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐเพิ่มขึ้นกว่า 2,000 หน่วยงาน ขึ้นระบบคลาวน์คอมพิวติ้งภาครัฐมากกว่า 130 ระบบ พัฒนาระบบซอฟต์แวร์พื้นฐานของภาครัฐให้ใช้บริการผ่านเว็บไซต์ได้ หรือเรียกว่า Software as a Service (SaaS) มีบริการเสริมในด้านต่างๆ บนคลาวด์คอมพิวติ้ง เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ให้กับภาครัฐ และมีการบูรณาการข้อมูลภาครัฐโดยจับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะด้าน เช่น โครงการเกษตรกรอัจฉริยะ หรือ Smart Farmer โครงการ POST@Home เป็นต้น ซึ่งเท่ากับเป็นการเดินแผนรุกเต็มตัว หลังจากปีที่ผ่านมาเน้นสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานทางด้านไอทีให้มีความแข็งแกร่ง ร่วมมือกับ SIPA เพื่อเปิดตลาดซอฟต์แวร์ไทยเข้าสู่บริการภาครัฐ อย่างไรก็ตามช่วงที่ผ่านมา EGA พบว่าซอฟต์แวร์ที่หน่วยงานภาครัฐเลือกใช้ส่วนใหญ่มาจากซอฟต์แวร์จากต่างประเทศ หรือจากซอฟต์แวร์ของคนไทยที่ต้องผ่านภาคเอกชนไอทีขนาดใหญ่ เนื่องจากต้องไปเกี่ยวข้องกับระบบการประมูล ที่หน่วยงานภาครัฐต้องการความมั่นคงและไม่เกิดปัญหาการทิ้งงานในอนาคต ดังนั้นโอกาสเติบโตของซอฟต์แวร์ขนาดเล็ก และซอฟต์แวร์ที่เกิดจากเทคโนโลยีใหม่ด้วยฝีมือของเด็กไทยนั้นจึงมีน้อยมาก แต่ขณะเดียวกันเทคโนโลยีสมัยใหม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ภาครัฐเองอยู่ระหว่างการปรับตัวเพื่อให้ทันกับเทคโนโลยีเหล่านี้ ขณะที่ระบบ G-Cloud ที่ทาง EGA ผลักดันจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบไอทีในภาครัฐอย่างมาก และจะเป็นการเปิดโอกาสให้ซอฟต์แวร์ไทยทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ได้เข้ามาขยายตลาดในระบบราชการไทยมากขึ้น โดยเฉพาะรูปแบบการจัดซื้อที่เปลี่ยนจากการซื้อลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์มาเป็นการซื้อบริการ หรือใช้มากจ่ายมากใช้น้อยจ่ายน้อย ซึ่งจะตรงกับแนวทางการสนับสนุนซอฟต์แวร์ไทยร่วมกับสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ SIPA ดังนั้นบทบาทของ EGA ในการสร้างระบบไอที จึงเน้นการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสถาปัตยกรรมต่างๆ โดยไม่ตัดโอกาสภาคเอกชน ไม่เข้าแข่งขัน หรือแย่งตลาดไอทีภาครัฐจากเอกชน โดยจะเน้นการกำหนดมาตรฐาน สร้างสาธารณูปโภคเอาไว้รองรับเพื่อทำให้วงการซอฟต์แวร์เกิดความเข้มแข็งและขยายตัวได้มากขึ้น ความร่วมมือของ EGA กับ SIPA ในปีนี้จะมีความชัดเจนมากขึ้น โดยมีแผนรูปธรรมจากงานของ EGA คือ 1.การจัดทำซอฟต์แวร์พื้นฐานในระบบราชการให้เป็นแบบ Software as a Service 2.การสร้าง Government Application Center ซึ่งทั้งสองโครงการนี้จะสร้างแนวทางใหม่ให้กับตลาดซอฟต์แวร์ไทยในตลาดราชการอย่างมาก ในส่วนของการจัดทำซอฟต์แวร์พื้นฐานในระบบราชการแบบ SaaS นั้น ขณะนี้ EGA ได้ทำการสำรวจเบื้องต้นพบว่าชนิดของซอฟต์แวร์ที่หน่วยงานภาครัฐทั่วไปจำเป็นต้องมีใช้เหมือนกันจะประกอบด้วย ซอฟต์แวร์ด้านสารบรรณ ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์เกี่ยวกับการเดินหนังสือ การอนุมัติ และอื่นๆ ซึ่งขณะนี้แทบจะทุกหน่วยงานของภาครัฐต้องจัดซื้อจัดจ้างซอฟต์แวร์ประเภทนี้มาใช้งาน แต่เนื่องจากมาตรฐานของซอฟต์แวร์จากภาคเอกชน รวมถึงความต้องการใช้งานของภาครัฐทั้งหลายไม่ตรงกัน ทำให้การต่อเชื่อมระหว่างหน่วยงานไม่สามารถดำเนินการได้ ทำให้ภาครัฐสิ้นเปลืองงบประมาณไปกับซอฟต์แวร์ประเภทนี้อย่างมาก แนวคิดของ EGA คือปรับระบบซอฟต์แวร์นี้มาใช้บน Cloud ในพื้นฐานเดียวกัน แต่มีความหลากหลายแบรนด์ หลายแหล่งผลิตซอฟต์แวร์ เปิดกว้างให้ทุกรายได้เข้าถึง และให้หน่วยงานรัฐทั้งหลายเข้ามาเลือกใช้และตัดสินเองว่าของใครดีที่สุดเหมาะกับตัวเองที่สุด ซึ่งในขั้นต้นภายในครึ่งปีนี้จะมีซอฟต์แวร์ต้นแบบจากภาคเอกชนสามารถขึ้นให้บริการบน G-Cloud ได้ทันที ส่วนซอฟต์แวร์อีก 3 ชนิดที่ EGA ประเมินเบื้องต้นว่าสมควรเป็นบริการพื้นฐานคือ ซอฟต์แวร์ด้าน web conference หรือการจัดประชุมทางไกลทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งขณะนี้มีความต้องการจากหน่วยงานจำนวนมาก และต้องทำให้เชื่อมต่อกันได้ทีละหลายหน่วยในเวลาเดียวกัน, ซอฟต์แวร์ทางด้าน Document Management หรือระบบจัดการเอกสาร และซอฟต์แวร์ทางด้าน Project Management หรือการบริหารโครงการ ซึ่งซอฟต์แวร์ทั้งหมดต้องอยู่บนเงื่อนไขของการทำงานบน G-Cloud และต้องเป็น SaaS สิ่งที่ EGA มีแผนที่จะดำเนินการร่วมกับทาง SIPA ในส่วนนี้คือ ทาง EGA จะให้ SIPA ช่วยดำเนินการในส่วนของการคัดเลือกซอฟต์แวร์จากภาคเอกชนเข้าร่วม ภายใต้เงื่อนไขกติกาที่กำหนดร่วมกันเนื่องจาก SIPA จะใกล้ชิดกับภาคเอกชน และสมาคมทางด้านซอฟต์แวร์มากกว่า สามารถเข้าใจผลิตภัณฑ์และทำงานใกล้ชิดได้ นอกจากนั้น SIPA ยังมีโครงการบ่มเพาะ หรือโครงการสนับสนุนซอฟต์แวร์ทางด้านต่างๆ อยู่แล้ว ซึ่ง EGA เชื่อมั่นว่า จะสร้างกลไกที่ทำให้ซอฟต์แวร์เหล่านี้ตรงตามมาตรฐานที่ EGA และภาครัฐต่างๆ วางไว้ได้ ซึ่งคาดว่าภายในปีนี้จะมีซอฟต์แวร์ทุกด้านที่เป็นมาตรฐานกลางให้ภาครัฐได้ทดลองใช้ และจะเกิดการแข่งขันอย่างเป็นจริงในปีงบประมาณหน้าเป็นต้นไป ส่วนโครงการที่ 2 คือ Government Application Center ซึ่งจะทำหน้าที่เหมือน App Store หรือ Android Market ที่จะร่วมมือกับทุกภาคส่วนให้เกิดแอพพลิเคชั่นทั้งสำหรับหน่วยงานราชการ และประชาชน ขณะนี้ทาง EGA ได้จัดตั้งทีมที่ปรึกษาเพื่อศึกษาเรื่องนี้โดยเฉพาะ ทั้งในส่วนของเทคนิคไปจนถึงโครงสร้างทางธุรกิจและการให้บริการ นอกจากนั้นจะศึกษาในส่วนของความต้องการภาครัฐและความสามารถของภาคเอกชนในการผลิตซอฟต์แวร์รองรับ โดยยึดหลัก Customer Centric หรือลูกค้าเป็นศูนย์กลาง EGA จะดำเนินการร่วมกับทาง SIPA ในส่วนของ Government Application Center ได้เช่นเดียวกับโครงการในส่วนแรก โดยที่โครงการในส่วนที่ 2 นี้ยังอาศัยประสบการณ์จากที่ทาง SIPA ร่วมกับสมาคมภาคเอกชนด้านไอทีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการใช้เวทีในรูปแบบเดียวกับ Thailand ICT Award หรือ TICTA เพือเป็นกลไกหรือเครื่องมือหนึ่งในการคัดเลือกแอพพลิเคชั่นสำหรับให้บริการผ่าน Government Application Center ซึ่งเป็นการสร้างกลไกให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนหรือผู้ใช้บริการ รวมถึงสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วนได้ สำหรับระบบ Core System ของระบบทั้งหมดขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการพัฒนา ซึ่งทาง EGA จะเป็นผู้รับผิดชอบและลงทุนทั้งหมด ซึ่งในปีแรกการดำเนินการให้ระบบติดตั้งได้สำเร็จจะใช้งบประมาณ 30 ล้านบาท และได้เตรียมแผนและงบประมาณสำหรับดูแลและพัฒนาอย่างต่อเนื่องทุกปี EGA บูรณาการข้อมูล ETDA กำหนดมาตรฐานความปลอดภัย ในส่วนของการเชื่อมโยงการทำงานกับสำนักงานธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA นั้นทาง EGA จะร่วมกันสองแนวทางคือ การผนึกกำลังในการร่วมผลักดันโครงการเฉพาะด้าน กับการร่วมในส่วนของการสร้างระบบบูรณาการข้อมูลและ e-Service โดยทั้งหมดจะทำให้เกิดระบบการบริหารงานภาครัฐ เกิดการบูรณาการที่นำไปสู่การให้บริการประชาชนและภาคธุรกิจเกิดความเชื่อมั่นมากขึ้น ส่วนของโครงการเฉพาะด้านนั้น EGA จะเข้าร่วมในโครงการ National Single Window ที่ดูแลเกี่ยวกับเรื่องการนำเข้า-ส่งออก โดย ETDA จะรับผิดชอบในส่วนของการจัดทำมาตรฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการปรับแก้กฎหมายและกฎระเบียบซึ่งจะช่วยให้โครงการดังกล่าวสามารถเดินหน้าได้ แต่ในส่วนของ EGA จะเข้ามาดูแลและสนับสนุนในส่วนของบริการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานเช่น เครือข่าย GIN สำหรับการเชื่อมโยงระบบของหน่วยงานภาครัฐจำนวน 37 หน่วยงาน และบริการ G-Cloud สำหรับแอพพลิเคชั่น สำหรับความร่วมมือในส่วนของการสร้างระบบบูรณาการข้อมูลและ e-Service ซึ่งเป็นโครงการสำคัญที่จะช่วยให้ภาครัฐมีความพร้อมในการบูรณาการข้อมูลให้มีคุณภาพและนำไปสู่การพัฒนา Service/e-Service ที่ใช้ประโยชน์จากเลข 13 หลักหรือบัตร Smart Card เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการทำธุรกรรมกับภาครัฐ ซึ่งโครงการนี้ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจาก ETDA ในส่วนของการปรับแก้กฎหมายและระเบียบเช่นเดียวกับการมีแนวปฎิบัติที่เหมาะสมและการมีมาตรฐานความปลอดภัย ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับทั้งหน่วยงานผู้ให้บริการและประชาชนผู้ใช้บริการอีกด้วย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่: ส่วนส่งเสริมการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ นายธรรณพ ศิริธรรมวิไล โทรศัพท์ 0-2612-6000 ต่อ 6203 อีเมล์ thannop.sirithamwilai@ega.or.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ