กรุงเทพฯ--4 ก.พ.--WWF ประเทศไทย
จังหวัดขอนแก่น WWFเครือข่ายชุมชนอนุรักษ์และฟื้นฟูแก่งละว้า และองค์กรร่วมจัด 30 หน่วยงาน ชูความสำคัญของพื้นที่แก่งละว้าในฐานะพื้นที่ชุ่มน้ำระดับชาติ ในวันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก 2 กุมภาพันธ์ พร้อมมอบยุทธศาสตร์การจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำแบบมีส่วนร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นแนวทางการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างเป็นรูปธรรม
วันนี้ จังหวัดขอนแก่น ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดขอนแก่น สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 10 สำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 4 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โครงการชลประทานขอนแก่น สำนักงานประมงจังหวัดขอนแก่น ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดขอนแก่น สำนักงานทรัพยากรน้ำบาลดาล เขต 4 ขอนแก่น การประปาส่วนภูมิภาค สาขาบ้านไผ่ กองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF ประเทศไทย) มูลนิธิ โคคา-โคล่าประเทศไทย ศูนย์มีชัยบ้านไผ่ องค์การบริหารส่วนตำบลเมืองเพีย เทศบาลโคกสำราญ โรงเรียนบ้านชีกกค้อ เครือข่ายชาวบ้านเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูแก่งละว้า และหน่วยงานร่วมจัดทั้งภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัยขอนแก่น สำนักประชาสัมพันธ์เขต 1 ขอนแก่น และเครือข่ายชุมชนรวม 36 แห่ง ร่วมจัดงานวันพื้นที่ชุ่มน้ำโลกขึ้นเพื่อชูความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำแก่งละว้า เพื่อแสดงเจตนารมย์ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูแก่งละว้าแบบมีส่วนร่วม
นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวระหว่างเป็นประธานในพิธีเปิดงานวันชุ่มน้ำโลกว่า ความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมของภาครัฐ เอกชน และเครือข่ายชุมชนในพื้นที่แก่งละว้า เป็นแรงผลักและสนับสนุนซึ่งกันและกันให้พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาตินี้มีประโยชน์มหาศาลในทุกมิติ ทั้งต่อระบบนิเวศ จนถึงวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของผู้คนในพื้นที่นอกจากนี้ ชุมชนที่อาศัยโดยรอบแก่งละว้า ยังมีบทบาทสำคัญในการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ในการปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นตัวอย่างที่นำไปสู่งานอนุรักษ์แบบบูรณาการในภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศด้วย
พื้นที่ชุ่มน้ำแก่งละว้ามีคุณประโยชน์ที่เอื้อต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ต่อเกษตรกรรม การประมง ปศุสัตว์ คมนาคม ท่องเที่ยว การศึกษาวิจัย วัฒนธรรมประเพณี และเป็นแหล่งผลิตน้ำประปาในชุมชนในท้องถิ่นด้วย พื้นที่ชุ่มน้ำแก่งละว้าอยู่ในเขตอำเภอบ้านไผ่และบ้านแฮด จังหวัดขอนแก่น ครอบคลุมพื้นที่ 17,000 ไร่
“การศึกษาวิจัยของโครงการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำของ WWF ประเทศไทย พบพันธุ์ปลาถึง 69 ชนิด นก 106 ชนิด ในจำนวนนี้เป็นเหยี่ยวดำ ซึ่งเป็นชนิดพันธุ์ที่เข้าข่ายใกล้สูญพันธุ์ เป็นแหล่งขยายพันธุ์พืช 76 ชนิด ทั้งไม้น้ำและไม้ยืนต้น พื้นที่ชุ่มน้ำแก่งละว้าจึงมีความหลากหลายทางชีวภาพในระดับสูง ขณะที่สถานการณ์ปัจจุบัน ชุมชนในพื้นที่กำลังพิสูจน์ถึงแผนยุทธศาสตร์อย่างเป็นรูปธรรมในการรับมือและปรับตัวจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในพื้นที่ชุ่มน้ำแก่งละว้า” รัฐพล พิทักษ์เทพสมบัติ ผู้จัดการโครงการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำแก่งละว้า WWF ประเทศไทย กล่าว
ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาแรมซาร์ว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำและปฎิบัติตามพันธกรณี คือ ดำเนินงานอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำภายในประเทศทั้ง 12 แห่งของไทยอย่างชาญฉลาด โดยแผนยุทธศาสตร์การจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำแบบมีส่วนร่วมในพื้นที่แก่งละว้า ได้ครอบคลุมการพัฒนาศักยภาพชุมชนและความมั่นคงของระบบนิเวศโดยใช้ประสบการณ์และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเป็นแนวทางในการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาค ที่เกื้อหนุนต่อการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืนในการลดความเสี่ยง เปราะบาง และป้องกันผลกระทบที่เกิดขึ้นจาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อชุมชนท้องถิ่นเป็นสำคัญ
กิจกรรมวันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก ประจำปี 2556 จัดขึ้นที่เขตอนุรักษ์หัวโนนจาน บ้านชีกกค้อ ตำบลเมืองเพีย อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ประกอบด้วยการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับแกนนำชุมชนและนักอนุรักษ์พันธุ์ปลา แนวทางการจัดการป่าชุมชน ผู้นำในการส่งเสริมการปลูกผักปลอดสารพิษ การทำปุ๋ยชีวภาพและแนวทางในการพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์ในอนาคต รวมทั้งกิจกรรมสาระบันเทิงแบบพื้นบ้าน อาทิ การประกวดทำอาหารพื้นบ้าน "ก้อยหอยปัง" การแข่งขัน หว่านแหบก จับปลาไหล การแข่งขันวาดภาพของเยาวชน-นักเรียน กิจกรรมตามซุ้มต่าง ๆ เป็นต้น