พัฒนา "ซอฟแวร์บริหารเครือข่ายอัจฉริยะ” โดยผีมือคนไทย ทดแทนการนำเข้าฮาร์ดแวร์ราคาแพง

ข่าวทั่วไป Wednesday November 17, 2004 20:26 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 พ.ย.--ITAP
สวทช. หนุน ไอดิโอเทคฯ เอกชนไทยรายแรก พัฒนา "ซอฟแวร์บริหารเครือข่ายอัจฉริยะ” ทดแทนฮาร์ตแวร์ราคาแพงจากต่างประเทศ แก้ปัญหาการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในอาคาร สำนักงาน องค์กรขนาดใหญ่ คอนโดมิเนียม โรงแรม ไปจนถึงหอพัก ช่วยให้การต่อเชื่อมใช้เน็ต ตลอดจน Download files ได้ในระดับความเร็วที่เท่าเทียมกัน และคาดหวังได้ และมีค่าใช้จ่ายต่ำ ขณะเจ้าของอาคาร สามารถประหยัดต้นทุนถึงเท่าตัว แถมได้ประสิทธิภาพการใช้งานที่คงที่ ลดการรั่วไหลเงินตราต่างประเทศได้อย่างมหาศาล
ปัจจุบัน อินเทอร์เน็ตนับเป็นแหล่งความรู้ที่เข้าถึงได้ง่ายและรวดเร็ว รวมทั้งยังเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการติดต่อสื่อสารที่สำคัญโดยเฉพาะกับภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ “อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง” ที่กำลังเป็นที่นิยมของนักท่องเน็ตอยู่ในขณะนี้ จึงไม่แปลกที่เทคโนโลยีสารสนเทศได้ถูกพัฒนาให้มีขีดความสามารถเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อคนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านั้นได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น ไม่ว่าคนกลุ่มนั้นจะอยู่ที่ใดก็ตาม โดยเฉพาะกลุ่มคนจำนวนมากที่ทำงานอยู่ภายในอาคารสำนักงาน หรือ ในที่พักอาศัย อาทิ คอนโดมิเนียม โรงแรม อพาร์ตเม้นต์ และ หอพัก ก็สามารถใช้อินเทอร์เน็ต ได้ง่ายยิ่งขึ้น
ดั่งเช่น กลุ่มคนหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรงอดีตวิศวคอมพิวเตอร์ที่ผันตัวเองจากการเป็นลูกจ้าง มาร่วมกันจัดตั้งบริษัท ไอดิโอเทค จำกัด ขึ้นเมื่อปี 2546 ด้วยปณิธานที่ว่า “อยากมีส่วนที่ทำให้ความรู้ไปถึงกลุ่มคนต่างๆ มากขึ้น ” โดยสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้ง ประกอบด้วย กฤษดา ทองเปล่งศรี, พงศ์พันธ์ ด่านพิษณุพันธ์ และ พงศิศ เจริญ ซึ่งทั้ง 3 คน ร่วมกันเป็นกรรมการบริษัทฯ
บริษัท ไอดิโอเทค จำกัด เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับ ผู้ให้บริการ ให้คำปรึกษา และติดตั้ง บริหาร จัดการดูแลระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เพื่อให้ผู้ใช้บริการภายในอาคาร อาทิ องค์กร โรงแรม คอนโดมิเนียม และอพาร์ตเม้นต์ หรือ หอพัก สามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้โดยง่ายและไม่สิ้นเปลืองคู่สัญญาณโทรศัพท์ภายใน และยังสามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้ตลอดเวลา โดยมีค่าใช้จ่ายน้อย ในขณะที่ยังได้คุณภาพของสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่มีความเร็วสม่ำเสมอ เสถียร ไร้ปัญหาสายหลุดและไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเชื่อมต่อ
ทั้งนี้ นาย กฤษดา ทองเปล่งศรี 1 ในกรรมการ บริษัท ไอดิโอเทค จำกัด เปิดเผยว่า เนื่องจากปัจจุบันการใช้งานอินเทอร์เน็ตภายในอาคาร มีความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ประสบปัญหาการแบ่งปันความเร็วในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต (Internet speed sharing) ที่มีผู้ใช้งานพร้อมกันจำนวนมากไม่เท่ากัน และไม่สม่ำเสมอ เนื่องจากมักมีผู้ใช้งานส่วนหนึ่ง Download files ที่มีขนาดใหญ่อยู่ตลอดเวลาทำให้ความเร็วในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่ ต้องสูญเสียไป หรือ ตกไปอยู่ที่กลุ่มผู้ใช้งานกลุ่มดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ใช้งานกลุ่มที่เหลือไม่สามารถใช้งานอินเทอร์เน็ต ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในเวลาเร่งด่วน ถึงแม้ว่าทางเจ้าของอาคาร หรือ องค์กร จะพยายามแก้ปัญหาโดยการเช่าซื้อสัญญาณ Internet ความเร็วที่สูงมากขึ้น 2 หรือ 3 เท่าแล้ว (เช่น จากเดิม 256 Kbps เพิ่มเป็น 512 Kbps) ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกจุด อีกทั้งยังทำให้ต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายต่อไปเป็นมูลค่าสูงโดยไม่จำเป็นแล้ว ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาการดึงความเร็วส่วนใหญ่ไปสำหรับคนบางกลุ่มได้
หรือแม้แต่การนำเข้าอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์(Hardware) ราคาแพงจากต่างประเทศมาช่วยควบคุมคุณภาพการใช้อินเตอร์เน็ต ซึ่งสามารถแก้ปัญหาได้ แต่อุปกรณ์เหล่านั้นมีราคาแพง และรูปแบบการปรับความเร็วยังมีจำกัด ไม่เหมาะต่อการทำ Quality of services ที่สอดคล้องกับความต้องการทางธุรกิจ และที่สำคัญ คือ การแก้ปัญหาไม่ใช่ความเร็วในการต่อเชื่อมที่ไม่เพียงพอ แต่เป็นปัญหาในเรื่องของการจัดสรรทรัพยากรอย่างไม่ทั่วถึง และไม่เท่าเทียม
ดังนั้น บริษัท ไอดิโอเทค จึงได้คิด “พัฒนาระบบโปรแกรมบริหารจัดการและควบคุมทรัพยากร Internet ที่มีความสามารถสูง” ขึ้นทดแทนการนำเข้าอุปกรณ์ Hardware จากต่างประเทศที่มีราคาสูง โดยการพัฒนา Software ดังกล่าวของบริษัท ไอดิโอเทค จำกัด ได้รับการสนับสนุนจาก โครงการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (ITAP) ของสำนักงานการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
โดยทาง ITAP ได้สนับสนุนด้านค่าใช้จ่ายสำหรับนายกรพรหม ถิระวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์สารสนเทศทางภูมิศาสตร์เพื่อการเกษตรและการจัดการทรัพยากรณ์ ที่เข้ามาให้คำปรึกษาแนะแนวทางการพัฒนาซอฟแวร์โปรแกรมระบบบริหารจักการ และควบคุมทรัพยากรอินเทอร์เน็ตจนประสบความสำเร็จ ถือเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ของบริษัทฯ
นาย พงศ์พันธ์ ด่านพิษณุพันธ์ กรรมการ บริษัท ไอดิโอเทค จำกัด อีกท่านหนึ่งกล่าวว่า "เนื่องจากตนเองจบมาทางด้านซอฟแวร์ จึงคิดว่า น่าจะสามารถพัฒนาโปรแกรมซอฟแวร์ โดยการเพิ่มคุณสมบัติให้ครอบคลุมเข้ามาใช้แทนส่วนของอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ได้ อีกทั้งซอฟแวร์สามารถที่จะอัพเกรดปรับเพิ่มรูปแบบการใช้งานได้ ขณะที่ฮาร์ดแวร์มีข้อจำกัด และเสียค่าใช้จ่ายต่อหน่วยสูงกว่ามากโดยปัจจุบัน ประเทศไทยมีการนำเข้าอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์เป็นจำนวนมาก ปีละหลายพันล้านบาท ขณะที่ตนคิดว่า คนไทย สามารถเขียนโปรแกรมได้ไม่แพ้ต่างชาติ หากภาครัฐหันมาให้การสนับสนุนการพัฒนาซอฟแวร์ ที่เกิดจากฝีมือโปรแกรมเมอร์คนไทยเองทดแทนการนำเข้าแล้ว เชื่อว่าช่วยให้ไทยได้เปรียบดุลการค้าทางด้านนี้ และยังเป็นการส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางด้านเทคโนโลยีในประเทศไทยให้เพิ่มขึ้นด้วย”
สำหรับคุณสมบัติซอฟแวร์ที่พัฒนาขึ้นนี้ นอกจากช่วยลดต้นทุนในการนำเข้าอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์จากต่างประเทศ ที่มีราคาแพง ( เฉลี่ยประมาณหลักแสนบาท ) ขณะที่ซอฟแวร์ที่พัฒนาขึ้น มีราคาถูกกว่า ( เฉลี่ยประมาณหลักหมื่นบาท ) แล้ว ยังมีคุณสมบัติการใช้งานมากกว่า อาทิ นอกจากจะสามารถควบคุมการใช้บริการอินเทอร์เน็ตให้มีความเร็วคงที่ สม่ำเสมอแล้ว ยังมีระบบจัดรูปแบบการใช้งานอินเทอร์เน็ต คือ สามารถจัดรูปแบบการให้บริการอินเทอร์เน็ตให้กับผู้ที่ต้องการใช้ความเร็วที่สูงกว่าห้องอื่นๆ ได้ โดยไม่รบกวนความเร็วอินเทอร์เน็ตของคนอื่น นอกจากนี้ ยังมีระบบ การคิดราคา ระบบการออกรายงาน และระบบการตรวจสอบ หรือ Network monitor bandwidth ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้เป็นสิ่งที่ฮาร์ดแวร์ไม่มี
"ปัจจุบัน มีบริษัทที่ให้บริการทางด้านนี้อยู่เพียง 5 รายเท่านั้น นับว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับขนาดของตลาดที่มีส่วนแบ่งค่อนข้างใหญ่แล้ว เฉพาะคอนโดมิเนียม ในเขตกรุงเทพมหานคร ที่มีจำนวนกว่า 4,000 - 5,000 แห่ง จึงมองว่าแนวโน้มทางการตลาดยังไปได้อีกไกล เพราะเชื่อว่า ในอนาคตการใช้ Internet เริ่มจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคน เหมือนกับการใช้โทรทัศน์ ล่าสุด บริษัทฯ กำลังมองหาแหล่งเงินทุนที่จะเข้าขยายธุรกิจ หลังจากที่บริษัทฯ ได้นำระบบซอฟแวร์ฯ ที่พัฒนาขึ้นนี้มาให้บริการแก่ลูกค้า ปรากฏว่าได้ผลตอบรับเป็นอย่างดี ทำให้มีลูกค้าหลายแห่งติดต่อเข้ามา โดยเฉพาะโรงแรม ซึ่งถือเป็นกลุ่มป้าหมายที่มีกำลังซื้อสูง โดยบริษัทฯ ได้ตั้งเป้าไว้ภายในสิ้นปี 47 จะขยายการให้บริการไปยังหัวเมืองใหญ่ๆ อาทิ หัวหิน เชียงใหม่ ฯลฯ” นาย กฤษดา กล่าว
"ระบบซอฟแวร์ที่ บริษัท ไอดิโอเทค พัฒนาขึ้น เป็นระบบที่น่าสนใจ และทำงานได้ผลดี ช่วยจัดการด้านการใช้ทรัพยากรทางอินเทอร์เน็ตในอาคารได้ ทำให้การเชื่อมต่อสะดวกไม่ติดขัด ที่สำคัญสามารถทำงานได้มากกว่า และราคาถูกกว่าฮาร์ดแวร์ ถือเป็นบริษัท SMEs ของคนรุ่นใหม่ ที่มีแนวคิดที่จะพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ขึ้นมาใช้เอง โดยใช้ผู้เชี่ยวชาญและบุคลากรภายในประเทศ สิ่งที่เขาทำช่วยขึ้นนี้ทำให้เราลดต้นทุนการนำเข้าได้มาก" นางสินีนาฏ เจนศิริพิกุล ที่ปรึกษาเทคโนโลยี โครงการ ITAP กล่าว
ด้าน ดร.ศิริชัย กิตติวราพงศ์ ที่ปรึกษาเทคโนโลยี โครงการ ITAP ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าระบบซอฟแวร์ดังกล่าว บริษัทใหญ่ๆ เช่น ไมโครซอฟต์ หรือ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไทยไม่สามารถจะเข้ามาเป็นผู้บริการและดูแลในรายละเอียดต่างๆ เหล่านี้ได้ จึงเป็นช่องว่างที่ให้ บริษัท ไอดิโอเทค จำกัด สบโอกาสทางการตลาดเข้ามาพัฒนาซอฟแวร์ทดแทนการใช้ฮาร์ดแวร์เป็นรายแรกของไทย เรียกได้ว่า "ระบบฉลาดหรือ ระบบอัจฉริยะ” ที่ทำให้ผู้ใช้ใช้งานได้ง่ายขึ้น และสามารถล็อคความเร็วได้ ทำให้ผู้ใช้บริการยินดีจ่ายในราคาที่เท่ากัน หรือ จะแพงขึ้นสำหรับผู้ที่ต้องการความเร็วที่สูงขึ้นอีก ซึ่งระบบนี้สามารถการันตีความเร็วในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตของผู้ใช้แต่ละคนว่าจะได้รับความเร็วสม่ำเสมอคงที่แน่นอน นอกจากนี้ ยังถูกพัฒนาในรูปแบบ Zero Configuration หรือไม่ต้องปรับตั้งค่าใดๆ ก็ใช้งานได้เลย เพื่อรองรับการใช้งานของโน๊ตบ๊คจากภายนอกเข้ามาใช้ภายในอาคารที่ทางไอดิโอเทคทำระบบให้จะสามารถเปิดใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ทันทีโดยไม่ต้องทำการเซ็ต หรือ แก้ไขค่าใดๆ สำหรับโปรแกรมท่องเน็ตอีก เพิ่มความสะดวกรวดเร็ว โดยเฉพาะกับนักท่องเที่ยว หรือ นักธุรกิจต่างประเทศ ที่ต้องเดินทางตลอดเวลา อนาคตยังสามารถให้บริการกับเครือข่ายไร้สายได้อีกด้วย ถือเป็นระบบที่สามารถให้บริการได้หลายรูปแบบ จึงเป็นเรื่องที่ดี ช่วยลดการรั่วไหลเงินออกต่างประเทศได้อย่างมหาศาล และมองว่าเจ้าของอาคารต่างๆ จะสามารถให้บริการอินเทอร์เน็ตถึงห้องพักได้อย่างดี เป็นบริการที่ส่งเสริมธุรกิจได้โดยตรง
ระบบซอฟแวร์ ที่บริษัท ไอดิโอเทค จำกัด พัฒนาขึ้นนี้ ส่งผลดีต่อภาพรวมความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีของไทย ช่วยส่งเสริมขยายโอกาสให้ผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตในอาคารต่างๆ สามารถเชื่อมต่อด้วยความเร็วสูงได้ง่าย และเสียค่าใช้จ่ายต่ำ เนื่องจากต้นทุนระบบ และต้นทุนค่าเช่าบริการเชื่อมอินเทอร์เน็ตลดลง ซึ่งจะเสริมศักยภาพในการแข่งขันทางธุรกิจ (E — Biz ) และการเรียนรู้ด้วยตนเอง ( E - Learning ) ผ่านเครือข่าย Internet นับเป็นจุดแข็งของบริษัท ไอดิโอเทค ที่ใช้ระยะเวลาเพียงสั้นๆ ก็สามารถจับธุรกิจช่องทางใหม่นี้ได้สำเร็จเป็นรายแรกของไทย แม้ประสบปัญหาอยู่บ้างในเรื่องของเงินทุน แต่ก็มิได้เป็นอุปสรรคของบริษัทฯ จะก้าวต่อไปสู่การเป็น "ผู้นำในการประยุกต์ใช้ Information Technology” เพื่อตอบสนองรูปแบบความต้องการของผู้ใช้งานในตลาดที่หลากหลาย และผลิต Solution ที่ทำให้ธุรกิจใหม่เกิดขึ้นได้
สำหรับผู้ประกอบการรายใดที่สนใจ ขอรับการสนับสนุนโครงการ ITAP สามารถขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่โทร. 02-564-8000 หรือ www.nstda.or.th/itap--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ