กรุงเทพฯ--4 ก.พ.--เอแบคโพลล์
ศูนย์วิจัยเอแบคนวัตกรรมทางสังคม การจัดการและธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง การจับจ่ายในช่วงเทศกาลตรุษจีน : กรณีศึกษาคนไทยเชื้อสายจีนที่พักอาศัยในพื้นที่ 17 จังหวัดทั่วประเทศ
“แนวโน้มในภาพรวมของเงินสะพัดในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้ของพี่น้องชาวไทยเชื้อสายจีนคาดว่าจะสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาทั้งในการจับจ่ายใช้สอยซื้อของเซ่นไหว้ จ่ายแต๊ะเอีย รวมถึงไปทำบุญตามประเพณีที่สืบทอดกันมาอย่างเคร่งครัด ฝันซื้อบ้านหลังละสามล้าน รถยนต์คันใหม่คันละหนึ่งล้านบาท เศรษฐกิจดีเงินสะพันกว่าแสนล้านบาท”
นางสาวปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเอแบคนวัตกรรมทางสังคม การจัดการและธุรกิจ (Social Innovation Management and Business Analysis, SIMBA) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่อง การจับจ่ายในช่วงเทศกาลตรุษจีน: กรณีศึกษาคนไทยเชื้อสายจีนที่พักอาศัยในพื้นที่ 17 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จันทบุรี ลพบุรี ปทุมธานี ชลบุรี พิจิตร เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ หนองคาย ชัยภูมิ สุรินทร์ อุดรธานี ขอนแก่น นครราชสีมา พัทลุง สุราษฎร์ธานี และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 1,269 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 29 มกราคม — 3 กุมภาพันธ์ 2556 ที่ผ่านมา พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนมากหรือร้อยละ 78.6 ระบุรับรู้/รับทราบเกี่ยวกับวันตรุษจีน ที่เหลือร้อยละ 21.4 ไม่รับรู้/รับทราบ
เมื่อสอบถามถึงค่าใช้จ่ายที่เตรียมไว้สำหรับใช้จ่ายในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้ พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 30.6 จะจับจ่ายใช้สอย 6,001 บาทขึ้นไป รองลงมา คือร้อยละ 24.9 ระบุไม่เกิน 2,000 บาท ร้อยละ 22.5 ระบุ 2,001 — 4,000 บาท และร้อยละ 22.0 ระบุ 4,001 — 6,000 บาท ซึ่งค่าเฉลี่ยโดยรวมอยู่ที่ 7,681 — 60,000 บาท
นอกจากนี้เมื่อทำการประมาณการทางสถิติ พบว่า จะมีเงินสะพัดในช่วงเทศกาลตรุษจีนทั่วประเทศ 130,670,582,717 บาท โดยพบว่า จะมีวงเงินสะพัดจากค่าใช้จ่ายสำหรับซื้อของเซ่นไหว้ 56,403,408,923 บาท ค่าใช้จ่ายสำหรับเงินแต๊ะเอียหรือ อังเปา 55,091,334,128 บาท ค่าใช้จ่ายสำหรับท่องเที่ยว 18,354,263,192 บาท และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ทำบุญ ซื้อของขวัญ เป็นต้น 821,576,478 บาท ตามลำดับ
เมื่อสอบถามถึงการใช้จ่ายช่วงเทศกาลตรุษจีนเปรียบเทียบกับปี พ.ศ. 2555 ที่ผ่านมาพบว่า กลุ่มตัวอย่างครึ่งต่อครึ่งหรือร้อยละ 50.0 มีแนวโน้มการจับจ่ายซื้อของไว้เพิ่มขึ้น ร้อยละ 41.8 ระบุจะมีการใช้จ่ายสำหรับอั่งเปาเพิ่มขึ้น และร้อยละ 44.2 ระบุจะใช้จ่ายในการท่องเที่ยวและอื่นๆ เพิ่มขึ้น
5 อันดับของกิจกรรมที่กลุ่มตัวอย่างตั้งใจจะทำในช่วงเทศกาลตรุษจีน นอกเหนือจากซื้อของเซ่นไหว้ ได้แก่ อันดับแรกหรือร้อยละ 44.7 ระบุทำบุญ/บริจาคทาน อันดับสองหรือร้อยละ 39.7 ระบุรวมญาติ อันดับสามหรือร้อยละ38.0 ระบุไปศาลเจ้า อันดับสี่หรือร้อยละ 34.6 ระบุแสดงความเคารพผู้มีพระคุณ และอันดับห้าหรือร้อยละ 28.3 ระบุไม่มีอะไรเป็นพิเศษไปจากชีวิตประจำวันปกติที่ไม่ใช่เทศกาลตรุษจีน ตามลำดับ
สำหรับความตั้งใจจะไปท่องเที่ยวภาคต่างๆ ของประเทศของกลุ่มตัวอย่างพบว่า กลุ่มตัวอย่างเกินกว่าครึ่งหรือร้อยละ 66.1 ระบุจะไม่ไปท่องเที่ยวที่ไหน ในขณะที่ร้อยละ 9.1 ระบุจะเดินทางไปภาคเหนือ ร้อยละ 7.8 ระบุภาคตะวันออก ร้อยละ 7.0 ระบุ ภาคกลาง ร้อยละ 5.7 ระบุภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 4.3 ระบุภาคใต้
เมื่อสอบถามต่อไปอีกถึงจังหวัดในแต่ละภาคที่ตั้งใจจะเดินทางไป พบว่า ภาคเหนือประชาชนจะไปเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พิษณุโลก ลำพูน ลำปาง ภาคกลางประชาชนตั้งใจจะไป กรุงเทพมหานคร สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี เพชรบุรี ภาคตะวันออกประชาชนตั้งใจจะไปเที่ยว จันทบุรี ชลบุรี ระยอง ตราด ฉะเชิงเทรา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือประชาชนตั้งใจจะไปเที่ยว อุดรธานี นครราชสีมา ขอนแก่น เลย หนองคาย และภาคใต้ประชาชนตั้งใจจะไปเที่ยว สงขลา ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี กระบี่ และชุมพร ตามลำดับ
สำหรับค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้เมื่อต้องเดินทางไปเที่ยวต่างจังหวัด สามอันดับแรก ได้แก่ อันดับแรกหรือร้อยละ 54.7 ระบุค่าการเดินทาง เช่น ตั๋วโดยสาร ค่าน้ำมัน อันอับสองหรือร้อยละ 29.2 ได้แก่ ค่าอาหารและเครื่องดื่ม และอันดับสามหรือร้อยละ 12.4 ได้แก่ ค่าที่พักและรอง ๆ ลงมา คือ ค่าของที่ระลึกและค่าเข้าชมและกิจกรรมต่างๆ ตามลำดับ ส่วนสินค้าราคาสูงที่คิดฝันอยากซื้อในช่วงเทศกาลตรุษจีน ปี 2556 นี้ ได้แก่ บ้านหลังใหม่ โดยตั้งราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 3,014,286 บาท รถยนต์คันใหม่ 1,098,333 บาท โทรทัศน์เครื่องใหม่ 17,790 บาท และตู้เย็นหลังใหม่ 8,967 บาท
นอกจากนี้เมื่อสอบถามถึงความตั้งใจที่จะใช้จ่ายเงินจำนวนมากหรือก้อนใหญ่ในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้ พบว่า เกือบร้อยละร้อยหรือร้อยละ 96.2 ระบุจะไม่ใช้เงินจำนวนมากเพื่อซื้ออะไรเป็นพิเศษ มีเพียงแค่ร้อยละ 3.8 ระบุตั้งใจจะใช้เงินจำนวนมาก เพื่อซื้อของขวัญให้ลูกหลาน ซื้อของเพื่อแสดงความเคารพผู้มีพระคุณ อาหารเลี้ยงภายในครอบครัว เป็นต้น
ที่น่าสนใจคือ เมื่อสอบถามถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยของคนจีนในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้ พบว่า กลุ่มตัวอย่างเกินกว่าครึ่งหรือร้อยละ 58.1 ระบุเพิ่มขึ้น ร้อยละ 32.9 ระบุเท่าเดิม และร้อยละ 9.0 ระบุลดลง
จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่าตัวอย่างร้อยละ 34.0 เป็นชาย และร้อยละ 66.7 เป็นหญิง ร้อยละ 6.8 ระบุอายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 12.2 ระบุอายุ 20-29 ปี ร้อยละ 12.2 ระบุอายุ 30-39 ปี ร้อยละ 19.8 ระบุอายุ 40-49 ปี ร้อยละ 48.9 ระบุอายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 15.8 ระบุรายได้ไม่เกิน 5,000 บาท ร้อยละ 14.4 ระบุรายได้ 5,001-10,000 บาท ร้อยละ 13.5 ระบุรายได้ 10,001-15,000 บาท ร้อยละ 10.4 ระบุรายได้ 15,001-20,000 บาท และร้อยละ 45.9 ระบุรายมากกว่า 20,000 บาท ตัวอย่างร้อยละ 55.5 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าระดับปริญญาตรี ร้อยละ 36.5 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อยละ 8.0 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าระดับปริญญาตรี