กรุงเทพฯ--5 ก.พ.--Professional Image Maker
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร พร้อมด้วย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายา เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ในพิธีเปิดศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ ด้านกระทรวงการคลัง กรมธนารักษ์ และบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) หน่วยงานดูแลรับผิดชอบศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ฯ ประกาศเดินหน้าต้นแบบศูนย์รวมหน่วยงานทันสมัยและครบครัน ดึงเอกชนร่วมพัฒนาระบบอำนวยความสะดวกและสาธารณูปโภค บริการเจ้าหน้าที่และประชาชนครบรูปแบบ เตรียมความพร้อมขยายโครงการโซน C รองรับการขยายตัวของผู้ใช้บริการ
นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร พร้อมด้วย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายา เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ในพิธีเปิดศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อเจ้าหน้าที่ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด ตลอดจนผู้บริหารระดับสูงและข้าราชการหน่วยงานราชการต่างๆ ภายในศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ฯ แห่งนี้เป็นล้นพ้น โดยพิธีเปิดจะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ เวลา ๑๗.๐๐ น.
ในนามของรัฐบาลจีงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ฯ ได้ฤกษ์เปิดอย่างเป็นทางการ พร้อมรับการปฏิบัติงานเพื่อตอบสนองความต้องการของหน่วยงานราชการต่างๆ และถือเป็นฐานกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน ยังเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติต่อไป
ด้าน นายนริศ ชัยสูตร อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า ตามที่กรมธนารักษ์ได้จัดตั้งบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) ขึ้น ตามวัตถุประสงค์เพื่อดูแลและรับผิดชอบศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ฯ ตั้งแต่การระดมทุนมาใช้ในการก่อสร้าง การออกแบบ การควบคุมการก่อสร้าง และบริหารโครงการ ตลอดจนถึงการบริหารจัดการดูแลบำรุงรักษาอาคาร และอำนวยความสะดวกแก่หน่วยงานราชการผู้ใช้พื้นที่ในศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ฯ แห่งนี้ทุกราย สอดคล้องกับนโยบายที่ต้องการให้เป็นศูนย์รวมแห่งศักยภาพ และนวัตกรรมทันสมัย ซึ่งถือเป็นมิติใหม่แห่งระบบบริหารราชการยุคใหม่ ซึ่ง ธพส. ได้บริหารพื้นที่ราชพัสดุกว่า๒๙๗ ไร่ ด้วยระบบการจัดการอย่างเป็นระบบ ซึ่งปัจจุบันสามารถรองรับหน่วยงานราชการแล้วกว่า ๓๖หน่วยงาน แบ่งเป็น อาทิ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงยุติธรรม กรมการพัฒนาชุมชน กรมที่ดิน สำนักงานศาลปกครอง สำนักงานศาลยุติธรรม และ ศาลฎีกาฯลฯ ซึ่งสามารถอำนวยความสะดวกในการติดต่อประสานงานทั้งระหว่างหน่วยงานเอง และระหว่างหน่วยงานกับประชาชนได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ฯ ถือเป็นอาคารราชการที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ และเป็นสำนักงานยุคใหม่ ที่มีความโดดเด่น ทันสมัย มีเอกลักษณ์สำคัญระดับชาติแล้ว ยังถูกออกแบบขึ้น ให้ตระหนักถึงการใช้พลังงานที่เหมาะสมอย่างยั่งยืน ให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าที่สุดและเกิดการสิ้นเปลืองน้อยที่สุด สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศร้อนชื้นของประเทศไทย อาทิ การเลือกใช้วัสดุเปลือกอาคารในลักษณะฉนวนสูง ป้องกันความร้อนจากภายนอก ลดการใช้พลังงานจากเครื่องปรับอากาศ ตามแนวคิดให้ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติคล้ายกับตู้เย็น ที่สามารถสะสมมวลความเย็นได้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง เช่นเดียวกับการออกแบบอาคารให้มีผนังเอียง เพื่อที่จะรับแสงเข้ามาได้ แต่ลดพื้นที่ผิวสัมผัสที่จะรับความร้อนจากแสงอาทิตย์ และการสร้างโรงผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติผ่านระบบ Co-Generation ที่ให้พลังงานทั้งไฟฟ้าและระบบปรับอากาศ องค์ประกอบทั้งหมดนี้ทำให้ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ฯ เป็นอาคารประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูงที่ใช้พลังงานต่ำกว่าอาคารสำนักงานทั่วไป
“เพื่อตอกย้ำมิติของการเสริมสร้างระบบราชการสู่ความเป็นเลิศ ศูนย์ราชการ ฯ ยังออกแบบเน้นการจัดสรรพื้นที่อย่างลงตัว ตรงตามความต้องการของหน่วยงานและประชาชน ทั้งห้องประชุมขนาดใหญ่ ห้องอาหาร ร้านค้า สถานพยาบาล และส่วนนันทนาการต่างๆ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อพัฒนาระบบสาธารณูปโภคภายในศูนย์ราชการ ฯ สอดรับกับความจำเป็นในการทำงานและชีวิตประจำวัน” นายนริศกล่าว
นายอดุลย์ ตั้งศัตยาภิรมย์ รักษาการกรรมการผู้จัดการบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ธพส.ได้บริหารงานและดูแลรับผิดชอบศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ฯ อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ตอบสนองความพึงพอใจแก่ผู้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ในอัตราค่าเช่าที่เหมาะสม เสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีและเอื้ออำนวยต่อการให้บริการประชาชนแบบจุดเดียวอย่างเบ็ดเสร็จ ถือเป็นการพลิกหน้าประวัติศาสตร์การบริหารโครงการภาครัฐครั้งสำคัญ ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์หลักในการบริหารงานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
อย่างไรก็ตาม ธพส.เดินหน้าบริหารจัดการระบบสาธารณูปโภคภายในศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ฯ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนผู้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ทั้งหน่วยงานราชการ และประชาชนทั่วไป อาทิ การร่วมมือกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ฯ (ชสมก.) โดยจัดรถบริการสาธารณะ (รถเมล์) ที่วิ่งบริการตามเส้นทางถ.แจ้งวัฒนะ เข้ามาจอดรับส่งภายในศูนย์ราชการฯ โดยเพิ่มเป็นป้ายรถเมล์อีก ๑ ป้าย รวมทั้งอยู่ระหว่างการประสานงานกับ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เพื่อให้บริการรถบัส และ กรุงเทพมหานคร เพื่อให้บริการรถราง เข้ามาให้บริการรับส่งภายในศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ฯ เพื่อรองรับจำนวนคนที่มากขึ้น ซึ่งทาง ธพส. ยินดีเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด สำหรับการแก้ไขปัญหาที่จอดรถ ธพส. อยู่ระหว่างวางแผนการจัดสรรพื้นที่จอดรถใหม่ของแต่ละหน่วยงานภายในศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ฯ เพื่ออำนวยความสะดวกและเพียงพอต่อประชาชนผู้มาติดต่อ เป็นต้น
ทั้งนี้ ธพส.ได้ว่าจ้างบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) บริหารพื้นที่ในส่วนที่เป็นโรงแรม ห้องประชุม เพื่อใช้เป็นที่พักให้บริการแก่ข้าราชการที่มาประชุมหรือปฏิบัติราชการ รวมทั้งให้บริการกับบุคคลภายนอก เป็นอาคารสูง ๑๐ ชั้น มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ ๑๗,๐๐๐ ตารางเมตร พื้นที่แบ่งเป็นพื้นที่พาณิชย์ ๔ ชั้น ประกอบไปด้วยห้องพักทั้งหมด ๒๐๔ ห้อง ยกเว้น พื้นที่ชั้น ๒ และชั้น ๓ ธพส. เป็นผู้บริหารจัดการพื้นที่เอง
นอกจากนี้บริษัทมีแผนที่จะพัฒนาโครงการศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ฯ โซน ซี (โซน C) เพื่อพัฒนาพื้นที่รองรับความต้องการใช้พื้นที่สำนักงานของหน่วยราชการ และรัฐวิสาหกิจโดยจะเป็นโครงการส่วนขยายของโซน เอ (โซน A) และโซน บี (โซน B) รูปแบบการลงทุนจะดำเนินการในลักษณะของการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ หรือซีเคียวริไทเซชั่น (Securitization) ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดแผนการดำเนินงานที่ วางไว้ โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จเร็วๆนี้
ทั้งนี้ ได้พิจารณาแนวทางการดำเนินงานไว้ ๒ แนวทาง่ได้แก่ คือ ๑. การดำเนินโครงการเชิงธุรกิจ โดยพัฒนาพื้นที่อาคารสำนักงานเพื่อรองรับความต้องการใช้พื้นที่สำนักงานของ หน่วยราชการ และรัฐวิสาหกิจ และ ๒. การดำเนินโครงการเชิงบริการสังคม พัฒนาพื้นที่เป็นส่วนสันทนาการศูนย์กีฬาโดยบางส่วนอาจเป็นอาคารที่จอดรถโรง พยาบาลและอาคารคลังวัสดุเพื่อเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่ข้าราชการ ประชาชนและหน่วยงานราชการบริเวณโครงการศูนย์ราชการฯ ขณะนี้ อยู่ในขั้นตอนนำเสนอกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณานำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างไรก็ตาม ในส่วนของแผนการพัฒนาก่อสร้างส่วนต่อขยายดังกล่าว น่าจะอยู่ที่ประมาณ ๕ ปี โดยพื้นที่ทั้งหมดจะแบ่งออกเป็น ๗๐% ให้กับหน่วยงานราชการหรือรัฐวิสาหกิจที่จะมาเช่าพื้นที่สำนักงาน และอีก ๓๐% ที่เหลือจะเป็นพื้นที่ในเชิงพาณิชย์