กรุงเทพฯ--5 ก.พ.--สมาคมไทยรับสร้างบ้าน
ส.ไทยรับสร้างบ้าน (THCA) เชื่อกำลังซื้อปี 56 โตแตะหมื่นล้าน เผยเตรียมปรับราคาบ้านไตรมาส 2 อีกร้อยละ 2-4 ตามต้นทุนใหม่ ขณะที่ผู้ประกอบการยังกังวลปัญหาแรงงานขาดแคลน ต้นทุนเพิ่มจากผลกระทบค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท แนะนำระบบก่อสร้างและวัสดุสำเร็จรูปมาใช้แทนแรงงานมากขึ้น พร้อมทั้งปรับค่าแรงรับเหมาอีกร้อยละ 15-20 หวังสร้างแรงจูงใจ คาดสมาชิกสมาคมฯ 27 รายมีส่วนแบ่งตลาด 1.5 พันล้านหรือคิดเป็นร้อยละ 15 ของตลาดรวมรับสร้างบ้าน โดยมีสัดส่วนแบ่งเป็น ตจว.มูลค่าร้อยละ 25 กทม.และปริมณฑลมูลค่าร้อยละ 25
นายสิทธิพร สุวรรณสุต นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน ประเมินว่า กำลังซื้อหรือความต้องการสร้างบ้านในต่างจังหวัดไตรมาสแรกปีนี้ จะยังขยายการเติบโตได้อย่างต่อเนื่องจากไตรมาสสี่ปีที่แล้ว ในขณะที่ความต้องการสร้างบ้านพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลก็น่าจะฟื้นตัวได้ดีเช่นกัน ภายหลังผู้บริโภคเลิกกังวลกับปัญหาน้ำท่วมซ้ำ ทั้งนี้จากการสำรวจข้อมูลสมาชิกสมาคมฯ ที่เปิดดำเนินธุรกิจทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑลและต่างจังหวัด พบว่ากว่าร้อยละ 80 มียอดขายเพิ่มขึ้นในเดือนมกราคมที่ผ่านมา เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 55 รวมทั้งยังมีลูกค้าที่ติดต่อเข้ามาใหม่และอยู่ระหว่างดิวเพื่อปิดการขายในเดือนนี้อีกจำนวนมาก ทำให้ผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกมีความเชื่อมั่นว่า ปีนี้ตลาดรับสร้างบ้านจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังประสบกับปัญหาน้ำท่วมใหญ่และทำให้กำลังซื้อปี 2554-5 ชะลอตัว
"ในปี 2556 นี้สิ่งที่ผู้ประกอบการยังคงมีความกังวลมีอยู่ 2 เรื่องหลักๆ ได้แก่ 1.ปัญหาแรงงานขาดแคลน และ 2.ต้นทุนที่สูงขึ้นจากผลกระทบการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบต้องแบกรับความเสี่ยงและต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ยังไม่ปรับราคาขายบ้าน โดยในเรื่องนี้สมาคมฯ ได้มีการสอบถามความเห็นผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกพบว่า เกือบทุกรายเห็นตรงกันที่จะยอมแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเอาไว้เองหรือยอมเฉือนกำไร โดยพร้อมจะยืนราคาขายเดิมไปจนถึงสิ้นไตรมาสแรก จากนั้นจะปรับราคาขายบ้านเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2-4% เหตุผลก็เพราะไม่ต้องการทำให้ภาวะตลาดหรือกำลังซื้อที่กำลังฟื้นตัวสะดุดลง และเพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของผู้บริโภคที่ต้องการสร้างบ้านหลังใหม่ในช่วงต้นปีนี้ โดยเฉพาะผู้บริโภคที่ต้องการกู้ยืมเงินธนาคารเพื่อปลูกสร้างที่อยู่อาศัย"
ในส่วนของปัญหาขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะผู้ประกอบที่ให้บริการอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลรวมทั้งจังหวัดใกล้เคียง ยอมรับว่ายังเป็นปัญหาน่าหนักใจและไม่อาจแก้ไขได้ในระยะสั้นๆ ปัจจุบันผู้ประกอบการมีการนำเครื่องมือเบาและเครื่องมือหนักมาใช้งานก่อสร้างบ้านแทนแรงงานมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้สามารถทำงานได้เสร็จเร็วขึ้นแต่ก็มีต้นทุนที่เพิ่มตามมาเช่นกัน อย่างไรก็ดี สมาคมฯ เองอยู่ระหว่างศึกษาระบบก่อสร้างและมองหาวัสดุก่อสร้างสำเร็จรูปต่างๆ ที่ลดการใช้แรงงาน โดยเสนอให้สมาชิกสมาคมฯ นำมาใช้ในการก่อสร้างบ้าน เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาแรงงานที่ขาดแคลนอย่างหนัก นอกจากนี้ก็แนะนำให้สมาชิกมีการปรับอัตรจ้างเหมาค่าแรงและค่าแรงต่อหน่วยเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 15-20 เพื่อสร้างแรงจูงใจช่างให้มาทำงานด้วย
สำหรับ "ตลาดบ้านสร้างเอง" ทั่วประเทศปี 2556 นี้สมาคมฯ ประเมินว่ามีมูลค่ารวมประมาณ 1.2 แสนล้านบาทเศษ ในขณะที่ "ตลาดรับสร้างบ้าน" ปีนี้คาดว่ามีมูลค่ารวมประมาณ 9,500-10,000 ล้านบาท เติบโตกว่าปีก่อนประมาณร้อยละ 5-10 ทั้งนี้ในกลุ่มสมาชิกสมาคมฯ จำนวน 27 ราย คาดว่าจะมีส่วนแบ่งจากตลาดรวมรับสร้างบ้านประมาณร้อยละ14-15 ของมูลค่าตลาดรวมรับสร้างบ้านหรือคิดเป็น 1.4-1.5 พันล้านบาท โดยคาดว่ามีสัดส่วนมูลค่าตลาดต่างจังหวัด : มูลค่า กทม.และปริมณฑล เท่ากับ 75:25 ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าไม่เกิดภัยธรรมชาติใดๆ ขึ้นอีก และอัตราเติบโตของ GDP อยู่ที่ 4.5-5 %