กรุงเทพฯ--5 ก.พ.--กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
กรมส่งเสริมการค้าฯเตือนให้ตั้งข้อสังเกตสกรีนคู่ค้าที่ดีก่อนโอนเงิน เผยติดต่อสำนักงานทูตพาณิชย์ได้ ทั้งก่อน-หลังทำการค้า หรือหลังเกิดเหตุ เรียนรู้เทคนิคแฮกเกอร์จีน สวมรอยอีเมล์ หลังเกาะติด โอนเงินแล้ว หายเข้ากลีบเมฆ
นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ(สค.) เปิดเผยถึงมูลค่าการส่งออกระหว่างไทยกับจีนในปี 2555 ว่า มีมูลค่า 26,900 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ เพิ่มขึ้น 2.5% สินค้าส่งออกสำคัญ คือเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 4,501 ล้านเหรียญสหรัฐฯหรือ เพิ่มขึ้น 4.7% รองลงมาเป็น ยางพารา เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก และผลิตภัณฑ์ยาง ขณะที่การนำเข้า 36,957 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ เพิ่มขึ้นกว่า 21% สินค้านำเข้า 5 อันดับแรก คือ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ 4,792 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ เพิ่มขึ้น 24% รองลงมาเป็น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และเคมีภัณฑ์
“มูลค่าการค้าที่เพิ่มขึ้น ไม่ได้ส่วนทางกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการต้องเสาะแสวงหาวัตถุดิบ และเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อให้คุ้มทุนกับการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก ดังนั้นการติดต่อสื่อสารระหว่างประเทศที่มากขึ้นเป็นเงาตามตัว ทั้งขอรับคำปรึกษาแก้ไขปัญหาการค้าและการโอนเงินที่เกิดขึ้น ซึ่งกรมฯมีสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศใน 34 ประเทศ รวม 56 แห่ง โดยเฉพาะในประเทศจีนมีสำนักงานฯถึง 8 แห่ง อาทิ เซี่ยงไฮ้ เซินตู หนานหนิง เซียะเหมินคุนหมิง เป็นต้น”นางศรีรัตน์ กล่าว
ปัญหาการค้าระหว่างไทยกับจีน ปัจจุบันได้จัดระบบและจัดตั้งทีมงานภายในเพื่อให้บริการป้องกันและแก้ไขปัญหา กรณีพิพาททางการค้าขึ้นเป็นการเฉพาะ โดยดำเนินการหลายช่องทางและอาจแตกต่างกันแล้วแต่กรณี เพื่อติดตามประสานงาน เพื่อลดความเสี่ยงและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ในขณะที่สถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลของจีนในไทย ธนาคารพาณิชย์มีข้อจำกัดในทางปฏิบัติ
ดร. ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร อัครราชทูต (ฝ่ายการพาณิชย์) ณ กรุงปักกิ่ง กล่าวว่า ปัญหาทางการค้าระหว่างไทย-จีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่ผู้ประกอบการไทยสั่งซื้อสินค้าแล้วถูกโกงเงินกำลังขยายวงกว้างขึ้น จนเกรงว่าอาจทำให้ลุกลามใหญ่โตจนทำให้เสียภาพลักษณ์และความสัมพันธ์อันดีในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ปัญหาการฉ้อโกงทางการค้าจะทวีความรุนแรงมากขึ้น เฉพาะที่สำนักงานฯที่กรุงปักกิ่งเพียงแห่งเดียวได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ประกอบการไทยเกี่ยวกับปัญหาการฉ้อโกงทางการค้าดังกล่าวถึงปีละ 15 เรื่อง (รวม 50 กรณี) สร้างมูลค่าความเสียหายกว่า 100 ล้านบาท
ดังนั้นจึงขอตั้งข้อแนะนำและข้อสังเกตในการทำการค้า เพื่อเพิ่มความระมัดระวังดังนี้ ในโลกธุรกิจ“ไม่มีของดี ราคาถูก”อย่าเห็นแกข้อเสนอราคาที่เย้ายวน รีบตัดสินใจซื้อ ราคาที่ต่ำมากอาจเป็นข้อสังเกตหนึ่ง ผู้ประกอบการที่ไม่หวังดีอาจผูกเงื่อนไขเรื่องเวลากับราคาสินค้าที่เสนอมา เพื่อแร่งให้ตัดสินใจซื้อและโอนเงินก้อนแรก อย่าเชื่อถือข้อมูลคู่ค้าที่ค้นหาได้และติดต่อสื่อสารทางอินเตอร์เน็ตโดดเด็ดขาด พยายามเลือกคู่ค้าที่เป็นผู้ผลิต เพราะมีทุนจดทะเบียนมาก มีโรงงานและที่ตั้งเป็นหลักแหล่ง การสอบทานข้อมูลจากคลัสเตอร์การผลิตสินค้านั้นๆ เพื่อประเมินคู่ค้า
ทั้งนี้การค้าระหว่างกัน ควรพบตัวจริงก่อนตัดสินใจทำการค้า คู่ค้าที่จะเป็นซัพพลายเออร์และผู้ส่งออกของจีนหาได้จาก อาทิ การเยี่ยมชมงานแสดงสินค้านานาชาติในจีน ขอให้สำนักงานฯในจีนคัดกรองและจัดส่งรายชื่อให้ หากยังไม่มั่นใจสามารถตรวจสอบรายชื่อและข้อมูลของกิจการจีนเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ อาทิ www.yp.net.cn, www.chinaeall.com, www.cnaic.org.cn และ www.114win.com โดยควรตรวจสอบรหัสพื้นที่สอดคล้องกับที่อยู่ของบริษัทหรือไม่ หรือ การนัดหมายพบปะเจรจา การเยี่ยมชมสถานีตั้ง โรงงาน ของคู่ค้าก่อนลงนามในสัญญาซื้อขายและโอนเงิน หรือให้ทูตพาณิชย์ร่วมเจรจาการค้าด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจ ไม่ควรมองข้าม
การทำสัญญาซื้อขายให้รัดกุม ควรใช้สัญญามาตรฐานที่มีเทอมการค้าที่ชัดเจน และกำหนดเงื่อนไขการใช้อนุญาโตตุลาการในการไกล่เกลี่ยกรณีข้อพิพาททางการค้าที่ชัดเจนเอาไว้ ทั้งอัตราแลกเปลี่ยน ระบุชนิด ประเภทสินค้า ระยะเวลาส่งมอบ การรับประกัน การตรวจสอบสินค้าก่อนขนส่ง และการให้บริการหลังการขาย เมื่อเกิดปัญหาขึ้น กระทรวงพาณิชย์จีน(MOFCOM) สภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศแห่งชาติจีน(CCPIT)หรือ สำนักบริหารการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติจีน(SAIC)อาจจะไม่สามารถเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาใดๆ ได้
นายไพจิตร กล่าวว่า ควรตรวจสอบสินค้าก่อนสั่งซื้อและขนส่งทั้งปริมาณและคุณภาพ การตรวจสอบสินค้าและข้อมูลผู้รับเงินก่อนชำระเงิน ซึ่งกรณีเจตนาด้านลบสถิติที่ผ่านมาพบว่า ไม่มีผู้ประกอบการคนใดได้เงินคืน 100% โดยสะดวก และมักจะใช้เทคนิคเตะถ่วงหนี้และรักษาลูกค้าควบคู่กันไปในตัว ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการไทยเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี นอกจากนี้สถานการณ์แฮกเกอร์ระบาดในจีนมีจำนวนมากขึ้น มีการเฝ้าติดตาม เจาะข้อมูลอีเมล์คู่ค้า รอจนกระทั่งเข้าสู่ช่วงโอนชำระเงิน และสวมรอย โดยอาจจะเปลี่ยนชื่ออีเมล์ของทั้งสองฝ่ายเพียงเล็กน้อย โดยไม่ทันสังเกตว่า เราได้คุยกับคู่ค้าตัวจริงหรือไม่ มีการแจ้งเปลี่ยนชื่อสกุล เลขบัญชีธนาคารและข้อมูลอื่นๆ ซึ่งจะทำกันเป็นขบวนการ
“ขอให้ผู้ประกอบการมีสติและรอบคอบเมื่อรับรู้ปัญหา ติดตามแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว วิเคราะห์สาเหตุหลัก วางแผนและดำเนินการอย่างเป็นระบบ เป็นขั้นตอนด้วยความรอบคอบ อาทิ การเตรียมเอกสาร อีเมล์ที่เคยสื่อสารระหว่างกัน การว่าจ้างหน่วยงานตรวจสอบคุณภาพสินค้าที่ได้รับการรับรองหรือเป็นที่ยอมรับในเวทีการค้าระหว่างประเทศ พร้อมข้อมูลของสินค้าในล็อตนั้น ๆ อย่างชัดเจน ไม่อย่างนั้นแล้วจะมัดตัวมิจฉาชีพจีนได้ยาก รวมทั้งการพยายามติดต่อประสานงานกับหน่วยงานของรัฐและองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้องเพื่อขอคำปรึกษาเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหานั้น ๆ ในโอกาสแรก”นายไพจิตร กล่าว และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ “ต้องคิดค้าขายเอาเงินที่เสียไปคืนมา” โอกาสและศักยภาพทางธุรกิจของไทยในจีนยังจะขยายตัวไปได้อีกมาก จึงไม่อยากเห็นปัญหาและการฉ้อโกงกันทางการค้าของผู้ประกอบการหรือกลุ่มมิจฉาชีพจีนเหล่านี้มาทำลายบรรยากาศความสัมพันธ์ผู้ประกอบการของไทยที่ต้องการแบ่งปันประสบการณ์ได้ที่ vphaichit@gmail.com เพื่อให้การค้าขายไทยกับจีนอย่างราบรื่นในอนาคต
สำนักประชาสัมพันธ์ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โทร.(02) 507-7932-34