กรุงเทพฯ--5 ก.พ.--เจพี วัน คอนซัลแทนท์
สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ SIPA , สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA และสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA สามองค์การมหาชนภายใต้การกำกับดูแลของ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ร่วมวางยุทธศาสตร์ในการพัฒนาศักยภาพในภาพรวมของภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศของประเทศไทย มุ่งเดินหน้าผนึกกำลังเป็นหนึ่งเดียว เพื่อรับมือการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในอนาคต
นายไตรรัตน์ ฉัตรแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ SIPA กล่าวว่า ในปี 2555 ที่ผ่านมา SIPA เป็นหน่วยงานที่ยังคงเดินหน้าอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์อย่างต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องของการพัฒนาบุคลากรด้านคอมพิวเตอร์ การส่งเสริมผู้ประกอบการด้านการตลาด และการสร้างมาตรฐานของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ ซึ่งกล่าวได้ว่า SIPA ทำงานได้ครบถ้วน และประสบความสำเร็จในระดับสูง
“อย่างไรก็ตามในปี 2556 SIPA วางทิศทางการดำเนินงานเป็น 3 ระยะ ได้แก่ แผนระยะสั้น เป็นการสานต่องานตามวัตถุประสงค์เดิมของปีงบประมาณ 2555 ซึ่งจะดำเนินการไปพร้อมๆ กับการปรับแนวทางการบริหารงานภายใน เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของ SIPA ในส่วน แผนระยะกลาง เราจะเน้นการสร้างตลาดภายใน รวมถึงออกมาตรการเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในด้านต่างๆ และการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างตลาดแบบครบวงจร ขณะที่ แผนระยะยาว SIPA จะขยายการทำตลาดไปยังต่างประเทศ ตลอดจนการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อให้เกิดการสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพ และเน้นการส่งเสริมด้านทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property: IP) ที่มีมูลค่าเชิงพาณิชย์เข้าสู่ตลาด MAI”
นายไตรรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ SIPA เล็งเห็นถึงแนวโน้มการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC นอกจากจะส่งผลให้เกิดเสรีทางการค้า บริการ การลงทุน และการเคลื่อนย้ายเงินทุนแล้ว ยังรวมถึงแรงงานฝีมือ โดยด้านแรงงานฝีมือนี้ ได้ครอบคลุมสาขาวิศวกรรมด้วย ซึ่งบุคลากรด้านคอมพิวเตอร์ของไทย แม้จะมีฝีมือดีแต่ยังเป็นรองด้านภาษาเมื่อเทียบกับชาติอื่นๆในอาเซียน อย่างไรก็ตามคนไทยสามารถปรับตัวได้ดี จึงมีโอกาสที่คนไทยจะได้ทำงานร่วมกับบริษัทซอฟต์แวร์ชั้นนำมากขึ้น รวมถึงเป็นโอกาสให้แรงงานไทยออกสู่ตลาดโลก
“นอกจากนี้ประเทศไทยนับเป็นประเทศที่เหมาะสมต่อการลงทุนในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เป็นอย่างมาก เนื่องจากมีบุคลากรที่มีคุณภาพ และมีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการทำงานอย่างครบครัน ทำให้เรามีโอกาสเป็นศูนย์กลางด้านการผลิตซอฟต์แวร์ของอาเซียนได้โดยเราจะต้องเริ่มจากการสร้าง Network ของกลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในอาเซียน แล้วแบ่งแยกกันทำงานโดยดูจากความถนัดของแต่ละประเทศ ประเทศใดถนัดเรื่องไหนก็ให้ทำในเรื่องนั้นๆเพื่อจะได้ไม่เกิดความซ้ำซ้อน และแย่งตลาดกันเอง ซึ่งจะทำให้ซอฟต์แวร์ของอาเซียนเราสามารถแข่งกับซอฟต์แวร์อื่นๆ ในตลาดโลกได้” นายไตรรัตน์ กล่าวสรุป
นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA กล่าวว่า ETDA เป็นหน่วยงานใหม่ที่มีหน้าที่หลักในการพัฒนา ส่งเสริมและสนับสนุนการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ ตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ความมั่นคงปลอดภัย มาตรฐานที่สนับสนุนการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ การวิจัยและพัฒนา จนถึงการเสนอแนะนโยบาย และกฎหมายที่สำคัญ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์กับทุกภาคส่วน ทั้งผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน การดำเนินงานของ ETDA มีการกำหนดวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนว่า “เป็นองค์กรสำคัญในการสนับสนุน SMART Thailand โดยส่งเสริมให้การทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เติบโตอย่างมั่นคง ปลอดภัยทัดเทียมผู้นำในภูมิภาค”
ทั้งนี้จากวิสัยทัศน์ดังกล่าวไม่เพียงมุ่งไปสู่การตอบสนองโจทย์ของนโยบายภาครัฐเท่านั้น แต่ยังช่วยเป็นส่วนหนึ่งที่จะผลักดันให้ประเทศไทยมีการเจริญเติบโตอย่างเข้มแข็ง เพื่อพัฒนาศักยภาพการแข่งขันในเวทีต่างประเทศได้ รวมถึงเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ของประเทศในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งในมิติทางด้านเศรษฐกิจนั้น จะเห็นว่าอาเซียนได้กำหนดเป้าหมายทั้งในด้านการเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน (Single Market and Production Base) การไปสู่ภูมิภาคที่มีความสามารถในการแข่งขันสูง (Competitive Economic Region) การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียมกัน (Equitable Economic Development) และการบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก (Integration into the Global Economy)โดยการดำเนินงานของ ETDA ได้พยายามวางแผนเพื่อให้สามารถผนวกและมีความสอดคล้องกับแผนงานอาเซียน ทั้งในระดับกระทรวงฯ และระดับประเทศ
นางไอรดา เหลืองวิไล รองผู้อำนวยการ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA กล่าวว่า จากแนวทางของรัฐบาลที่ต้องการสร้าง Smart Thailand โดย EGA จะเข้ามาขับเคลื่อนระบบไอทีให้กับภาครัฐทั้งหมดนั้น ในปี 2556 ได้วางเป้าหมายขยายเครือข่าย GIN หรือ เครือข่ายสื่อสารข้อมูลเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐเพิ่มขึ้นกว่า 2,000 หน่วยงาน ขึ้นระบบคลาวน์คอมพิวติ้งภาครัฐมากกว่า 130 ระบบ พัฒนาระบบซอฟต์แวร์พื้นฐานของภาครัฐให้ใช้บริการผ่านเว็บไซต์ได้ หรือเรียกว่า Software as a Service (SaaS) มีบริการเสริมในด้านต่างๆ บนคลาวด์คอมพิวติ้ง เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ให้กับภาครัฐ โดยจับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะด้าน ซึ่งเท่ากับเป็นการเดินแผนรุกเต็มตัว หลังจากปีที่ผ่านมาเน้นสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานทางด้านไอทีให้มีความแข็งแกร่ง
อย่างไรก็ตามในปีนี้ EGA ได้ร่วมมือกับ SIPA คือ 1.การจัดทำซอฟต์แวร์พื้นฐานในระบบราชการให้เป็นแบบ Software as a Service 2.การสร้าง Government Application Center ซึ่งทั้งสองโครงการนี้จะสร้างแนวทางใหม่ให้กับตลาดซอฟต์แวร์ไทยในตลาดราชการอย่างมาก และผนึกกำลังกับ ETDA ในการร่วมผลักดันโครงการเฉพาะด้าน กับการร่วมในส่วนของการสร้างระบบบูรณาการข้อมูลและ e-Service โดยทั้งหมดจะทำให้เกิดระบบการบริหารงานภาครัฐ เกิดการบูรณาการที่นำไปสู่การให้บริการประชาชนและภาคธุรกิจเกิดความเชื่อมั่นมากขึ้น
นางไอรดา กล่าวอีกว่า ทั้งนี้การผนึกกำลังของสามองค์การมหาชน ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ SIPA , สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA และสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้เตรียมความพร้อมกับรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 ที่ใกล้มาถึง โดยร่วมมือกันผลักดันและพัฒนาศักยภาพในภาคอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์, ผู้ประกอบการ, บุคลากรนักวิจัยและนักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทยให้มีคุณภาพ รวมถึงกระบวนการส่งเสริมให้เกิดการความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์กับทุกภาคส่วน ซึ่งการร่วมมือกันของทั้งสามองค์การมหาชน ไม่เพียงแต่ช่วยส่งเสริมให้มูลค่าทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น แต่ยังช่วยให้ประเทศมีคุณภาพ และศักยภาพที่พร้อมรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้เป็นอย่างดี