สวทช. จับมือ ม.เกษตรฯ ขยายเวลา ‘ DNA TEC ’หนุน การส่งออกสินค้าเกษตรไทย เพิ่มมากขึ้น

ข่าวเทคโนโลยี Thursday November 18, 2004 13:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 พ.ย.--สกว.
สวทช. จับมือ ม.เกษตรฯ ขยายเวลาโครงการ “ห้องปฏิบัติการ DNA Technology” อีก 3 ปี เพิ่มศักยภาพและความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยให้ได้มาตรฐานสากล เพื่อให้บริการตรวจสอบ DNA แก่ผู้ส่งออกของไทย บรรเทาปัญหาการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี หลังที่ผ่านมาประสบผลสำเร็จ สามารถช่วยเอกชนส่งออกได้หลายหมื่นล้านบาท พร้อมตั้งเป้า ฯ แปรรูปเป็น“ บริษัทเอกชน” เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการรองรับการให้บริการเพิ่มขึ้น ในอีก 3 ปีข้างหน้า
ปัจจุบัน “ เทคโนโลยีชีวภาพ ” เข้ามามีบทบาทต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะสินค้าส่งออกของไทยที่ส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตร เนื่องจากประเทศไทย เป็นแหล่งที่มีทรัพยากรมากเพียงพอต่อการเป็นครัวของโลกได้ ไม่ว่าจะเป็นอาหารทะเล อาหารกระป๋อง อาหารสัตว์แปรรูป หรือ แม้กระทั่ง ข้าวหอมมะลิ อันเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ล้วนสามารถตรวจสอบที่มาของ DNA หรือ พันธุ์กรรมนั้นๆ ได้ว่า มีแหล่งกำเนิดมาจากที่ใด ด้วยการอาศัยความรู้ด้าน “ DNA เทคโนโลยี” เข้ามาช่วย เพื่อป้องกันการลักขโมยพันธุ์พืช หรือ ตรวจสอบการปลอมปน ซึ่งจะยิ่งเป็นการเสริมความเข้มแข็งของเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง
การพัฒนางานด้านเทคโนโลยีชีวภาพของประเทศ โดยเฉพาะการพัฒนาธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพ จึงนับเป็นสิ่งสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างยิ่ง และจากความร่วมมือกันระหว่าง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในการจัดตั้งห้องปฏิบัติการ DNA Technology หรือ DNA TEC ขึ้น ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เมื่อปี 2543 จนถึงปัจจุบันนี้ กว่า 5 ปี สามารถสร้างผลงานให้ปรากฏและเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างมาก จึงได้มีการขยายโครงการออกไปอีก 3 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2547 ถึงวันที่ 30 ก.ย. 2550 โดยได้มีพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการดำเนินโครงการ ห้องปฏิบัติการ DNA Technology ระหว่าง สวทช.และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขึ้น ณ ห้องประชุม กำพล อดุลวิทย์ อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันอังคารที่ 16 พ.ย. 2547 ที่ผ่านมา
รศ.ดร. ศักรินทร ภูมิรัตน ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. กล่าวว่า “ เป็นที่ทราบกันดีว่าเทคโนโลยีชีวภาพมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะการพัฒนาธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพ ดังนั้นความร่วมมือในครั้งนี้ จึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการดำเนินงานตามกรอบนโยบายการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ที่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการนโยบายเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ที่มีการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพของประเทศไว้ 6 ประการด้วยกัน ซึ่งการดำเนินงานของห้องปฏิบัติการ DNA Technology มีความสอดคล้องกับเป้าหมายแรก คือ ธุรกิจชีวภาพสมัยใหม่เกิดและพัฒนา ซึ่งที่ผ่านมาได้มีความส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้กับประเทศ โดยได้ให้บริการทั้งแก่ภาครัฐ และเอกชนที่ต้องการส่งสินค้าออกแล้วเป็นมูลค่ากว่า หมื่นล้านบาท”
ทั้งนี้ ห้องปฏิบัติการ DNA Technology จัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 2543 โดยความร่วมมือระหว่าง สวทช. และ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นห้องปฏิบัติการด้านเทคโนโลยีชีวภาพของภาครัฐแห่งแรก ที่ให้บริการเทคโนโลยีด้านDNA และบริการตรวจสอบการปนเปื้อนของ GMOs แก่หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และบุคคลทั่วไป โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประเทศเป็นหลัก ซึ่งตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา จากการร่วมลงทุนที่ใช้เงินงบประมาณ 80 ล้านบาทในการจัดตั้งห้องปฏิบัติการ DNA Technology ได้ทำงานให้เกิดผลประโยชน์ต่อประเทศไทยได้หลายหมื่นล้านบาท และยังเป็นหน่วยงานของรัฐที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ มีผลประกอบการที่มีกำไรโดยไม่เป็นภาระของรัฐบาลอีกต่อไป ทาง สวทช. จึงได้ตั้งเป้าหมายไปสู่การเป็นบริษัทเอกชนที่ให้บริการด้าน BIOTEC เป็นบริษัทแรกของประเทศไทย ในอีก 3 ปีข้างหน้า
รศ.ดร.วิโรจ อิ่มพิทักษ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นเพียงส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง 2 องค์กรที่มีมานานกว่า 20 ปี ตั้งแต่ปี 2526 ทั้งในเรื่องของนโยบาย ทรัพยากรบุคคล งบประมาณ อาคารสถานที่ และที่สำคัญ คือ การสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องร่วมกันในการร่วมกันพัฒนางานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อความเจริญเติบโตของประเทศ
“ หลังจากที่ 2 หน่วยงานได้มีความร่วมมือในโครงการห้องปฏิบัติการ DNA Technology มากว่า 5 ปีแล้วนั้น นับว่ามีความเจริญก้าวหน้า และถือเป็นหน่วยงานที่นับวันจะยิ่งก้าวหน้าและมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อประเทศไทย ในยุคปัจจุบันและในอนาคต ฉะนั้น จึงต้องการเห็นความร่วมมือระหว่าง 2 องค์กรในภาพรวมอื่นๆ ให้มีความชัดเจนมากขึ้นและเป็นความร่วมมือที่เป็นระบบมากขึ้นนอกจากโครงการดังกล่าว เพื่อความก้าวหน้าของประเทศ ” รศ.ดร.วิโรจ กล่าว
สำหรับผลการดำเนินงานในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานั้น ดร.สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง ผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการ DNA Technology เปิดเผยว่า DNA TEC ได้ให้บริการแก่เอกชนไปแล้วกว่า 500 บริษัท คิดเป็นมูลค่าสินค้าที่บริษัทเหล่านี้ ส่งออกจะเป็นเงินมากกว่าหลายหมื่นล้านบาท ที่ผ่านมา DNA TEC ได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้กับประเทศ อาทิ การพัฒนาห้องปฏิบัติการจำเพาะเพื่อตรวจสอบพืชและสัตว์ที่ได้รับการดัดแปลงพันธุกรรม GMOs , การตรวจสอบส่วนประกอบของอาหารและสินค้าทางการเกษตร , การตรวจสอบเอกลักษณ์ทางพันธุกรรม , การพัฒนาชุดสำเร็จในการตรวจสอบด้วยเทคโนโลยี DNA , งานพิสูจน์สารพันธุกรรม , การหาลำดับเบสมวลสารพันธุกรรม ฯลฯ
ทั้งนี้ กระบวนการตรวจสอบด้วย DNA Technology จะช่วยบรรเทาปัญหาการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี เนื่องจาก DNA Technology สามารถตรวจได้ว่าสินค้ามีการปลอมปนหรือไม่ หรือสินค้าใดเป็นสินค้า GMOs ซึ่งจะเป็นข้อยืนยันทำให้เอกชนไทยสามารถส่งออกได้ นอกจากการตรวจสอบ DNA Technology จะสามารถแก้ปัญหาการกีดกันทางการค้าดังกล่าวแล้ว ยังเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพของสายพันธุ์ทั้งพืชและสัตว์ รวมทั้งยังสามารถตรวจสอบการปลอมปนข้าวหอมมะลิส่งออกที่ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศอีกด้วย ซึ่งถือเป็นการแสดงถึงศักยภาพและความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย ที่มีห้องปฏิบัติการฯ ในการให้บริการที่ถูกต้องแม่นยำ มีมาตรฐานและสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าและถือยังเป็นผู้นำในระดับอาเซียน
ต้องการภาพ หรือ ข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โครงการITAP โทร. 0-2298-0454--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ