กรุงเทพฯ--18 พ.ย.--วช.
ประชากรเพิ่มมากขึ้น การอพยพย้ายถิ่นฐานของประชากร การขยายตัวของระบบสาธารณูปโภคบนพื้นที่สูงในภาคเหนือ ก่อให้เกิดความไม่ยั่งยืนในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทรัพยากรธรรมชาติถูกนำมาใช้มากมายและสิ้นเปลือง ส่งผลกระทบต่อการเกษตร สุขภาพของประชาชนตลอดจนความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ให้ทุนอุดหนุนการวิจัยแก่ นางสุวรรณา ประณีตวตกุล และนายเอื้อ สิริจินดา จากศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ ประยุกต์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำการวิจัยเรื่อง “การวางแผนระบบการเกษตรอย่างยั่งยืนบนพื้นที่สูงทางภาคเหนือของประเทศไทย” โดยศึกษาวิจัยกลุ่มเกษตรกรชาวเขาเผ่าม้ง ในหมู่บ้านแม่สาใหม่ ชุมชนที่อาศัยในเขตลุ่มแม่น้ำลาน้อย จังหวัดเชียงใหม่
ผลการวิจัยพบว่า ชาวเขาเผ่าม้งมีอาชีพหลัก คือ การทำสวนผลไม้ มีลิ้นจี่เป็นผลไม้หลัก รองลงมาเป็นการทำสวนผัก มีที่ดินเฉลี่ยครอบครัวละ 15.56 ไร่ โดยเป็นที่ดินเพื่อทำการเกษตรครัวเรือนละ 14.38 ไร่ ที่เหลือเป็นที่อยู่อาศัยและที่เช่าที่ไม่มีเอกสารสิทธิ ในการทำการเกษตรจะใช้น้ำฝนเป็นหลักและใช้น้ำชลประทานแบบเดินท่อ รายได้สุทธิเฉลี่ยต่อครอบครัวต่อปีประมาณกว่า 50,000 บาท ซึ่งในเรื่องของต้นทุนและรายได้ของระบบการปลูกพืชของชาวม้ง ผู้วิจัยใช้วิธีการแบ่งตามสภาพภูมิประเทศและแหล่งน้ำชลประทานซึ่งพบว่า พืชที่ทำรายได้สูงสุดในเขตป่าคา ได้แก่ กะหล่ำปลีและผักกาดขาวปลี เขตแม่ในพืชที่ทำรายได้ดีที่สุด คือ แครอท และหัวไชเท้า ส่วนบ้านปางขมุมีพืชที่ทำรายได้ดีที่สุด ได้แก่ มันฝรั่งพันธุ์สปุนต้า และเขตสุดท้ายเป็นเขตที่อยู่บริเวณด้านล่างของหมู่บ้าน มีแครอทเป็นพืชที่ทำรายได้ดีที่สุด นอกจากนี้ การวิจัยได้ระบุถึงความยั่งยืนทางการเกษตรของหมู่บ้านแม่สาใหม่ โดยพบว่าประเด็นเรื่องการใช้สารเคมีในการเกษตรเป็นปัญหาที่ก่อให้เกิดความไม่ยั่งยืนทางการเกษตรมากที่สุด รองลงมาคือ ความหลากหลายทางชีวภาพ ประเภทการใช้ที่ดิน แต่อย่างไรก็ตามประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาที่มีผลต่อความยั่งยืนทางการเกษตรน้อยที่สุด และยังพบว่าแผนการผลิตที่เหมาะสมและก่อให้เกิดความยั่งยืนในการเพาะปลูกพืชบนที่สูงคือ หากเป็นพื้นที่ด้านบนของหมู่บ้านซึ่งใช้น้ำฝนเป็นหลักควรปลูกผัก แต่ถ้าเป็นพื้นที่ด้านบนของหมู่บ้าน ที่ใช้น้ำชลประทานควรปลูกลิ้นจี่ บ๊วยและส้มสายน้ำผึ้ง หากเป็นพื้นที่ด้านล่างของหมู่บ้านและใช้น้ำชลประทานควรจะปลูกลิ้นจี่ ลูกพลับ สัก อโวคาโด เป็นต้น ซึ่งแผนการผลิตดังกล่าวเป็นการวางแผนในอนาคตซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสมได้ ทั้งนี้ จะต้องมีการส่งเสริมให้ลดการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งต้องส่งเสริมการเกษตรที่เหมาะสมสำหรับพื้นที่สูง--จบ--