ก.ล.ต. จัดระบบบริหารจัดการข้อมูลข่าวสารตลาดทุน

ข่าวทั่วไป Thursday November 18, 2004 13:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 พ.ย.--ก.ล.ต.
ก.ล.ต. ดึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมกำหนดวิธีปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อจัดการข่าวลือ โดย
(ก) ขอให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ติดตามการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนอย่างใกล้ชิด (ข) กำหนดให้บริษัทจดทะเบียนจัดระบบป้องกันการใช้ข้อมูลภายใน และมีการชี้แจงข้อเท็จจริงเมื่อปรากฏข่าวลือ รวมทั้ง
(ค) โบรกเกอร์จะต้องตรวจสอบข้อมูลข่าวสารทันทีที่เกิดข่าวลือขึ้นในห้องค้า และติดต่อตลาด
หลักทรัพย์ฯ ให้บริษัทจดทะเบียนชี้แจง รวมทั้งไม่เป็นผู้เผยแพร่ข่าวลือที่ไม่ได้รับการยืนยัน
(ง) ขณะเดียวกัน ก.ล.ต. จะขอความร่วมมือไปยังเจ้าของเว็บไซต์ ประสานงานสกัดข้อมูลเท็จที่มุ่งจะสร้างราคาหลักทรัพย์ โดยคาดว่าความร่วมมือจากทุกฝ่ายจะช่วยให้ระบบข้อมูลข่าวสารในตลาดทุนมีประสิทธิภาพ
ภายหลังจากที่ ก.ล.ต. ได้ร่วมกับกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สร้างระบบสอบยันข่าวลือที่มีผลกระทบกับราคาการซื้อขายหลักทรัพย์ โดยกำหนดรูปแบบและวิธีการปฏิบัติงานร่วมกันในเบื้องต้น รวมถึงกำหนดตัวเจ้าหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานที่จะทำหน้าที่ประสานงานค้นหาข้อเท็จจริง (Central Contact Person : CCP) เพื่อให้มีการชี้แจงจากผู้ที่เกี่ยวข้อง
ในการนี้ เพื่อขยายผลให้เกิดความชัดเจนในขั้นตอนการปฏิบัติงานให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการจัดการข่าวลือที่เกี่ยวข้องกับบริษัทจดทะเบียน ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 450 บริษัท ก.ล.ต. จึงได้ประสานงานกับตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อหามาตรการและแนวปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมเพื่อรองรับระบบสอบยันข่าวเกี่ยวกับบริษัทจดทะเบียน
นายประสงค์ วินัยแพทย์ รองเลขาธิการ ก.ล.ต. เปิดเผยถึงการดำเนินงานในเรื่องนี้ว่า “ ก.ล.ต. จะส่งหนังสือเวียนขอความร่วมมือไปยังบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และบริษัทที่เสนอขายหลักทรัพย์ ขอให้มีการจัดระบบการควบคุมภายในที่รัดกุม เพื่อป้องกันมิให้ข้อมูลภายในที่ยังไม่ได้เปิดเผยเป็นการทั่วไป กระจายออกไปสู่บุคคลภายนอกเพียงบางกลุ่ม ป้องกันการใช้ข้อมูลภายในเพื่อประโยชน์ส่วนตัว นอกจากนั้น แต่ละบริษัทจะต้องมี CCP เป็นศูนย์กลางเพื่อพร้อมที่จะประสานงานให้มีการชี้แจงข้อเท็จจริงเมื่อปรากฏข่าวลือเกี่ยวกับบริษัท โดยจะต้องชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร เผยแพร่ผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ และหากเป็นประเด็นที่มีการพิจารณากันจริง ๆ ในระดับบริหาร ถึงแม้จะยังไม่ได้ข้อสรุป ก็จะต้องชี้แจงข้อเท็จจริงเช่นนั้น ไม่ใช่ให้ข่าวแบบกำกวม ทั้งนี้ ในช่วงเวลาที่บริษัทจดทะเบียนยังไม่ชี้แจง ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะพิจารณาขึ้นเครื่องหมายเพื่อระงับการซื้อขาย หรือ เตือนผู้ลงทุนให้ระมัดระวัง ”
นายประสงค์ กล่าวต่อไปว่า “สำหรับในส่วนของบริษัทหลักทรัพย์ ก.ล.ต. ก็จะขอความร่วมมือให้พนักงานควบคุมห้องค้าของบริษัทหลักทรัพย์ทุกแห่งแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ทันทีที่พบว่ามีข่าวลือเกิดขึ้นในห้องค้า ไม่บอกต่อข่าวลือ รวมถึงแจ้งผู้บริหารให้ทราบ ”
“ สำหรับการใช้เว็บไซต์เป็นช่องทางเผยแพร่ข่าวลือในลักษณะกระทู้ หรือแสดงความคิดเห็นผ่านกระดานข่าวต่าง ๆ ก.ล.ต. จะประสานงานกับเจ้าของเว็บไซต์เพื่อขอความร่วมมือให้ดูแลการโพสต์ข้อความ เช่น ให้เฉพาะสมาชิกเท่านั้นที่โพสต์ข้อความได้ ต้องจัดให้มีระบบกรองคำที่เข้าข่ายเป็นข่าวลือหรือล่อแหลมต่อการปั่นหุ้นเพื่อส่งต่อข้อความดังกล่าวให้แก่ ก.ล.ต. หรือประสานกับ ก.ล.ต. เพื่อขึ้นคำเตือนเป็นต้น ”
“ มาตรการแบบครบวงจรภายใต้ความร่วมมือจากหลายหน่วยงานในครั้งนี้ จะช่วยให้ระบบข้อมูลข่าวสารในตลาดทุนมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ถูกต้อง ไหลเวียนอย่างทั่วถึง ผู้ลงทุนได้รับข้อมูลอย่างเท่าเทียมกัน
ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ลงทุนซื้อขายหุ้นได้อย่างสบายใจ ” นายประสงค์ กล่าวสรุป--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ