บริษัทจดทะเบียนทำกำไรงวด 9 เดือนกว่าสามแสนล้านบาท

ข่าวทั่วไป Thursday November 18, 2004 13:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 พ.ย.--ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
บจ. 434 บริษัทมีกำไรงวด 9 เดือนถึง 314,874 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 39 กลุ่มอุตสาหรรม 3 อันดับแรกที่มีกำไรสุทธิสูงสุดคือ กลุ่มทรัพยากร กลุ่มธุรกิจการเงิน และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง
นางภัทรียา เบญจพลชัย รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET) และตลาดหลักทรัพย์ใหม่ (MAI) จำนวน 434 บริษัท หรือร้อยละ 95 ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด 456 บริษัท ได้ส่งงบการเงินงวดสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2547 มายังตลาดหลักทรัพย์ฯแล้ว
“ปรากฏว่าผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนแรกของปี 2547 บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และ MAI มีกำไรสุทธิรวมสูงถึง 314,874 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปี 2546 ที่มีกำไรสุทธิรวม 226,814 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 39 โดยบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ได้ส่งงบการเงินมาจำนวน 413 บริษัท (จากทั้งหมด 434 บริษัท) มีผลกำไรสุทธิรวม 314,247 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 226,351 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 39 โดยมีบริษัทที่มีกำไรสุทธิ 351 บริษัท (ร้อยละ 85) และขาดทุนสุทธิ 62 บริษัท (ร้อยละ 15) และมียอดขายรวม 2,532,081 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 22
ในขณะที่ผลการดำเนินงานงวดไตรมาสที่ 3 ปี 2547 มีกำไรสุทธิรวม 125,560 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปี 2546 ที่มีกำไรสุทธิรวม 83,430 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 50
ทั้งนี้งวดไตรมาสที่ 3 และงวด 9 เดือนแรกของปี 2547 มีกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีกำไรสุทธิสูงสุด 3 อันดับแรกคือ กลุ่มทรัพยากร กลุ่มธุรกิจการเงิน และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้าง” นางภัทรียากล่าว
ด้านบริษัทในกลุ่ม SET 50 มีกำไรสุทธิ 225,454 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 72 ของกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนรวม มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 54 เนื่องจากปริมาณและราคาขายสินค้าที่เพิ่มขึ้นมากกว่าการเติบโตของต้นทุน โดยมียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 และมีกำไรขั้นต้นร้อยละ 30 ทั้งนี้บริษัทที่มีกำไรสุทธิสูงสุด 5 อันดับแรกคือ บมจ.ปตท.(PTT), บมจ. ปูนซิเมนต์ไทย (SCC), บมจ. ไทยพาณิชย์ (SCB) , บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) และ บมจ.ธนาคารกรุงเทพ (BBL)
สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนจำนวน 384 บริษัท แยกตามกลุ่มอุตสาหกรรม 8 กลุ่ม มีกำไรสุทธิรวม 302,342 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 96 ของกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนรวม เรียงลำดับตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีกำไรสุทธิสูงสุดดังนี้
1.กลุ่มทรัพยากร ประกอบด้วยหมวดพลังงานและสาธารณูปโภค 15 บริษัท และหมวดเหมืองแร่ 1 บริษัท มีกำไรสุทธิ 79,239 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 43 เนื่องจากหมวดพลังงานและสาธารณูปโภคมียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 26 เนื่องจากปริมาณการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของภาวะเศรษฐกิจประกอบกับราคาน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมันปรับตัวสูงขึ้น และดอกเบี้ยจ่ายลดลงร้อยละ 9
2.กลุ่มธุรกิจการเงิน ประกอบด้วยหมวดธนาคารพาณิชย์ หมวดธุรกิจเงินทุนและหลักทรัพย์และ
หมวดประกันภัยและประกันชีวิต 64 บริษัท มีกำไรสุทธิ 74,340 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 80
ทั้งนี้ หมวดธนาคารพาณิชย์ มีกำไรสุทธิรวม 64,296 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน(29,092 ล้านบาท) ถึงร้อยละ 121 ในขณะที่หมวดธุรกิจเงินทุนและธุรกิจหลักทรัพย์ (ไม่รวมบริษัทที่ประกอบธุรกิจเช่าซื้อและลีสซิ่ง) มีกำไรสุทธิ 5,058 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน (8,437 ล้านบาท) หรือลดลงร้อยละ 40 โดยกลุ่มธุรกิจหลักทรัพย์มีขาดทุนสุทธิ 1,423 ล้านบาท เนื่องจากบล.เอเชียพลัส จก. (มหาชน) (ASP) ได้ตัดจำหน่ายต้นทุนเงินลงทุนที่เกินกว่ามูลค่ายุติธรรมของบล.แอสเซทพลัส จก. 4,460 ล้านบาท ดังนั้น หากไม่รวมผลการดำเนินงานของ ASP กลุ่มธุรกิจเงินทุนและหลักทรัพย์จะมีกำไรสุทธิ 2,487 ล้านบาท
ส่วนบริษัทประกันภัย 18 แห่ง และประกันชีวิต 2 แห่ง มีกำไรสุทธิรวม 2,437 ล้านบาท มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 (งวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 2,069 ล้านบาท)
3.กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง ประกอบด้วยหมวดวัสดุก่อสร้างและตกแต่ง 28 บริษัท และหมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ 40 บริษัท มีกำไรสุทธิ 58,894 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 33 เนื่องจากยอดขายที่เติบโตร้อยละ 28 ตามความต้องการวัสดุก่อสร้างภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นและราคาวัสดุก่อสร้างปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งดอกเบี้ยจ่ายลดลง
4.กลุ่มเทคโนโลยี ประกอบด้วยหมวดสื่อสาร หมวดชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ และหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ 40 บริษัท มีกำไรสุทธิ 31,628 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 8 เนื่องจากกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ลดลงร้อยละ 76 และขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้นร้อยละ 132 โดยหมวดสื่อสารมีกำไรสุทธิคิดเป็นร้อยละ 76 ของกลุ่มอุตสาหกรรม
5. กลุ่มบริการ ประกอบด้วย 8 หมวดธุรกิจรวม 76 บริษัท มีกำไรสุทธิ 25,251 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 69 เนื่องจากยอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 21 โดยหมวดขนส่งมีสัดส่วนกำไรสุทธิร้อยละ 41 ของกลุ่มอุตสาหกรรม มียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 53 และมีอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 36 เป็นร้อยละ 51 เนื่องจากปริมาณการใช้บริการเพิ่มขึ้นและอัตราค่าระวางการขนส่งทางน้ำปรับตัวดีขึ้น
6. กลุ่มวัตถุดิบและสินค้าอุตสาหกรรม 43 บริษัท มีกำไรสุทธิ 22,468 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 48 เนื่องจากกำไรของกลุ่มเคมีภัณฑ์และพลาสติก (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 77 ของกลุ่มอุตสาหกรรม) เพิ่มขึ้นร้อยละ 98 เนื่องจากราคาปิโตรเคมีอยู่ในวงจรขาขึ้น
7. กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ประกอบด้วยหมวดอาหารและเครื่องดื่ม 22 บริษัท และหมวดธุรกิจการเกษตร 20 บริษัท มีกำไรสุทธิ 7,095 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 12 โดยหมวดอาหารและเครื่องดื่มมีกำไรสุทธิลดลงร้อยละ 10 และมีอัตรากำไรขั้นต้นลดลงจากร้อยละ 22 เหลือร้อยละ 19 เนื่องจากราคาวัตถุดิบสูงขึ้น ในขณะที่หมวดธุรกิจการเกษตรมีกำไรคิดเป็นร้อยละ 37 ของกลุ่มอุตสาหกรรม มีกำไรลดลงร้อยละ 15 เนื่องจากต้นทุนขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 และมีขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนในขณะที่ปีก่อนมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน
8.กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค 35 บริษัท มีกำไรสุทธิ 3,426 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 เนื่องจากยอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 2
นางภัทรียากล่าวถึงผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในหมวด REHABCO ว่ามีจำนวน 29 บริษัท (จาก 40 บริษัท) ที่ส่งงบการเงิน ในจำนวนนี้มีกำไรสุทธิ 14 บริษัทและขาดทุนสุทธิ 15 บริษัท โดยมีกำไรสุทธิรวม 11,905 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 9,628 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 24 เนื่องจากมียอดขายเพิ่มขึ้น 52,022 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 55 และมีกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ 20,582 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 167
สำหรับบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ระหว่างฟื้นฟูการดำเนินงานหรือ REHABCO ณ 30 กันยายน 2547 มีหนี้คงค้างรวม 230,532 ล้านบาท ลดลง 19,818 ล้านบาท จากสิ้นปี 2546 ซึ่งมีมูลหนี้ทั้งสิ้น 250,350 ล้านบาท สำหรับสถานะการฟื้นฟูกิจการของบริษัทในหมวด REHABCO ตั้งแต่ 1 มกราคม 2547 ถึงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2547 สรุปได้ดังนี้
- มีบริษัทที่เปิดซื้อขายในหมวด REHABCO 12 บริษัท
- มีบริษัทที่ย้ายเข้าหมวด REHABCO เพิ่มขึ้น 3 บริษัท คือ บมจ. ทุนเท็กซ์ (ประเทศไทย) (TUNTEX) , บมจ. บางกอกรับเบอร์ (BRC) และ บมจ. ศรีไทยฟู้ด แอนด์ เบฟเวอร์เรจ (SRI)
- มีบริษัทที่ย้ายกลับหมวดปกติ 7 บริษัท คือ บมจ. อีเอ็มซี (EMC), บมจ.แนเชอรัล พาร์ค (N-PARK), บมจ. มิลเลนเนียม สตีล (MS), บมจ. ไรมอน แลนด์ (RAIMON), บมจ. คริสเตียนีและนีลเส็น (ไทย) (CNT), บมจ. ซินเท็ค คอนสตรัคชั่น (SYNTEC), และ บมจ. อีสเทิร์นไวร์ (EWC)
ติดต่อส่วนสื่อมวลชนสัมพันธ์ ฝ่ายสื่อสารองค์กร
ลดาวัลย์ กันทวงศ์ โทร. 0-2229 — 2036 /
กุลวิดา จินตกะวงส์ โทร. 0-2229 — 2037/
ณัฐพร บุญประภา โทร. 0-2229 — 2049--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ