คณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมครั้งที่ 11/2547

ข่าวทั่วไป Thursday November 18, 2004 13:31 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 พ.ย.--ก.ล.ต.
คณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมครั้งที่ 11/2547 เมื่อวันพุธที่ 17 พฤศจิกายน 2547 มีมติในเรื่องดังต่อไปนี้
1. เกณฑ์การกำกับดูแลการประกอบธุรกิจของตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
2. เกณฑ์การห้ามจัดสรรหลักทรัพย์ให้กองทุนรวมของผู้มีส่วนได้เสีย
3. การปรับปรุงเกณฑ์ผู้รับฝากทรัพย์สินของกองทุนส่วนบุคคล
4. การให้ความเห็นชอบร่างประกาศและข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์ฯ
1. เกณฑ์การกำกับดูแลการประกอบธุรกิจของตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้ามีระยะเวลาเพียงพอในการเตรียมความพร้อมของระบบงาน คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีมติอนุมัติร่างประกาศเกี่ยวกับเกณฑ์การกำกับดูแลการประกอบธุรกิจของตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า โดยในการประกอบธุรกิจ ตัวแทนฯ จะต้องปฏิบัติดังนี้
ความพร้อมในการประกอบธุรกิจ : มีโครงสร้างองค์กรที่ชัดเจน มีระบบงานเกี่ยวกับการป้องกันความขัดแย้งของผลประโยชน์และการรั่วไหลของข้อมูล ระบบการบริหารความเสี่ยง การจัดการด้านการปฏิบัติงานและเทคโนโลยีสารสนเทศ การจัดทำและจัดเก็บข้อมูล ที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีมาตรการควบคุมและติดตามการปฏิบัติงาน นอกจากนี้ จะต้องมีผู้ควบคุมการปฏิบัติงานประจำวัน (responsible officer) เพื่อบริหารและควบคุมดูแลการปฏิบัติงานประจำวันให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ รวมทั้ง ในการติดต่อกับลูกค้าจะต้องทำความรู้จักลูกค้า (know your client) เพื่อให้ทราบถึงผู้รับผลประโยชน์ที่แท้จริงและวัตถุประสงค์ในการลงทุน รวมทั้งแจ้งให้ลูกค้าทราบถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการ
ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
ความมั่นคงทางการเงิน : ดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิเมื่อสิ้นวันทำการไม่น้อยกว่า 15 ล้านบาท และไม่น้อยกว่า 7% ของหนี้สินทั่วไปและทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน
การดูแลให้ลูกค้าที่ซื้อขายในศูนย์ซื้อขายสัญญาฯ วางหลักประกัน : ต้องกำหนดฐานะสัญญาฯ สูงสุดที่ลูกค้าอาจมีได้ ณ ขณะใดขณะหนึ่ง และกำหนดอัตราหรือมูลค่าหลักประกันที่จะเรียกจากลูกค้าให้ชัดเจน โดยเมื่อมีการซื้อขายสัญญาฯ ก็ต้องเรียกให้ลูกค้าวางหลักประกันเริ่มต้น (initial margin) และ
ดูแลให้มีการปรับมูลค่าหลักประกันทุกสิ้นวันทำการ หากมูลค่าหลักประกันลดลงต่ำกว่ามูลค่าที่กำหนด ก็ต้องเรียกหลักประกันเพิ่ม
การดูแลทรัพย์สินของลูกค้า : ทำสัญญากับลูกค้าเป็นลายลักษณ์อักษร มีหน่วยงานอิสระรับผิดชอบ
ดูแลทรัพย์สินของลูกค้า และจัดส่งรายงานแสดงทรัพย์สินให้ลูกค้าทราบ
2. เกณฑ์การห้ามจัดสรรหลักทรัพย์ให้กองทุนรวมของผู้มีส่วนได้เสีย
เพื่อให้การจัดสรรหลักทรัพย์ที่เสนอขายต่อผู้ลงทุนทั่วไปในวงกว้าง (IPO/PO) โปร่งใสและยุติธรรมมากขึ้น คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีมติอนุมัติร่างประกาศเกี่ยวกับเกณฑ์การห้ามจัดสรรหลักทรัพย์ IPO/PO ให้กองทุนรวมที่ (1) มีผู้มีส่วนได้เสียเป็นผู้ถือหน่วยลงทุนเกินกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด หรือ (2) มีผู้มีส่วนได้เสียเป็นผู้ถือหน่วยลงทุนไม่เกินร้อยละ 50 ของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด แต่ผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ (UW) สามารถแทรกแซงการดำเนินงานของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนได้ เช่น ให้ใบจองซื้อเฉพาะกองทุนรวมที่มีผู้มีส่วนได้เสียเป็นผู้ถือหน่วยลงทุน ทั้งนี้ UW จะต้องแจ้งรายชื่อผู้มีส่วนได้เสียให้แก่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนเพื่อให้ตรวจสอบและไม่จองซื้อหลักทรัพย์ให้กองทุนรวมทั้งสองประเภทดังกล่าว
(ผู้มีส่วนได้เสีย ได้แก่ ผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ผู้เสนอขายหลักทรัพย์ ผู้บริหาร ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ผู้มีอำนาจควบคุม บริษัทใหญ่ และบริษัทย่อย ของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์และผู้เสนอขายหลักทรัพย์ รวมถึง
ผู้ที่เกี่ยวข้อง)
3. การปรับปรุงเกณฑ์ผู้รับฝากทรัพย์สินของกองทุนส่วนบุคคล
เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการประกอบธุรกิจและเสริมสร้างความน่าเชื่อถือด้านฐานะการเงินของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนในการทำหน้าที่เป็นผู้รับฝากทรัพย์สิน คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีมติอนุมัติร่างประกาศเกี่ยวกับเกณฑ์ผู้รับฝากทรัพย์สินของกองทุนส่วนบุคคล ซึ่งได้ปรับปรุงเกณฑ์ดังกล่าวในประเด็นดังต่อไปนี้
1. อนุญาตให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนทำหน้าที่เป็นผู้รับฝากทรัพย์สินของกองทุนส่วนบุคคลที่ตนเองบริหารจัดการได้ เฉพาะกรณีที่ลูกค้าเป็นผู้ลงทุนสถาบัน หรือมีมูลค่าทรัพย์สินมากกว่า 1 ล้านบาท (ไม่รวมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ)
2. บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนที่จะทำหน้าที่ผู้รับฝากทรัพย์สินจะต้องมีสินทรัพย์สภาพคล่องไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท
4. การให้ความเห็นชอบร่างประกาศและข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์ฯ
คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีมติให้ความเห็นชอบร่างประกาศและข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวม 3 ฉบับ ได้แก่
1. เรื่อง การรับหุ้นสามัญหรือหุ้นบุริมสิทธิเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2547
2. เรื่อง การรับหลักทรัพย์จดทะเบียนใน “ตลาดหลักทรัพย์ใหม่” (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2547
3. เรื่อง การห้ามผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นและผู้ที่เกี่ยวข้องขายหุ้นและหลักทรัพย์ภายในระยะเวลาที่กำหนด (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2547--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ