GR: ไอเดียดีๆกับความคุ้มครองตามกฎหมายสิทธิบัตรไทย

ข่าวทั่วไป Thursday November 18, 2004 13:56 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 พ.ย.--กิลเบิร์ต รี้ด แอนด์ คอมปานี
โดย ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ
บริษัท กิลเบิร์ต รี้ด แอนด์ คอมปานี จำกัด
paiboon@gilbertereed.com
ผมมักได้ยินเพื่อนฝูงในวงการดอทคอมเมืองไทยบ่นอยู่บ่อยๆว่า มีความคิดหรือไอเดียดีๆ คิดเสร็จแล้ว ไม่ทันได้ทำก็โดนมือดีแย่งไปทำเอง กรณีเช่นนี้หากเกิดขึ้นในเมืองนอกต้องโดนฟ้องร้องไปแล้ว กฎหมายไทยไม่ให้ความคุ้มครองความคิดดังกล่าวเหมือนกฎหมายต่างประเทศ หรือแม้แต่ข่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วที่หนังสือพิมพ์ของไทยหลายฉบับลงข่าวว่าญี่ปุ่นนำเอากวาวเครือของไทยไปชิงจดสิทธิบัตร หรือแม้แต่ก่อนหน้านี้ที่มีบริษัทต่างประเทศนำสมุนไพรฟ้าทะลายโจรไปจดสิทธิบัตรความจริงแล้วกฎหมายไทยไม่ให้ความคุ้มครองสูตรหรือแนวคิดไอเดียใหม่ๆจริงหรือเปล่า ผมเห็นว่าน่าสนใจวันนี้อยากจะมาคุยเรื่องนี้กันครับ
เมื่อพิจารณากฎหมายไทยที่เกี่ยวข้องกับความคุ้มครองในทางกฎหมายเกี่ยวกับ สูตร เรื่องความคิดหรือไอเดียที่เกี่ยวกับธุรกิจใหม่ๆนั้นจะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องอยู่ 2 ฉบับครับ คือ กฎหมายลิขสิทธิ์ที่คุ้มครองความคิดที่ผลิตออกมาแล้วเป็นผลงานหรือตัวงานที่เรียกว่า “ชิ้นงาน (work)” และต้องเป็นงานที่กฎหมายรับรองคุ้มครองด้วยเช่นเป็นงานประเภทโปรแกรมคอมพิวเตอร์ซอฟแวร์ งานวรรณกรรม ศิลปกรรม หรืองานอื่นๆที่กฎหมายระบุไว้ และกฎหมายอีกฉบับหนึ่งคือ กฎหมายสิทธิบัตร ที่ให้ความคุ้มครองแก่สิ่งประดิษฐ์หรือแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ๆที่คุ้มครองทั้งในรูปแบบของสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตร
ปัญหาคือสมมติว่าผมคิดแนวคิดทางธุรกิจใหม่โดยเฉพาะในธุรกิจดอทคอมอาทิเช่น การใช้เอสเอ็มเอสผ่านระบบมือถือเพื่อควบคุมการโอนเงินในบัญชีธนาคารได้โดยที่ไม่มีใครคิดมาก่อน ผมจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายหรือไม่
มาดูกฎหมายฉบับแรกก่อนคือ กฎหมายลิขสิทธิ์กล่าวคือ พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ของไทย พ.ศ. 2537 เมื่อพิจารณาถึงรายละเอียดของแนวคิดทางธุรกิจใหม่นั้นหากการคิดค้นแนวคิดทางธุรกิจใหม่อาทิเช่น ระบบเอสเอ็มเอสดังกล่าว ผู้สร้างสรรค์คิดและประดิษฐ์ออกมาเป็นตัวเนื้องานออกมาไม่ใช่แค่ความคิดที่ไม่มีรูปร่างหรือคิดประดิษฐ์ออกมาให้อยู่ในรูปแบบชิ้นงาน เช่น เทคโนโลยีประเภทโปรแกรมคอมพิวเตอร์ซอฟแวร์ที่ใช้เชื่อมต่อระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์และมือถือก็อาจจะเป็นสิ่งที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์ได้ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ของไทย พ.ศ. 2537 มาตรา 4 ระบุว่า
มาตรา 4 “โปรแกรมคอมพิวเตอร์” หมายความว่า คำสั่ง ชุดคำสั่ง หรือสิ่งอื่นใดที่นำไปใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานหรือเพื่อให้ได้รับผลอย่างหนึ่งอย่างใด ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นภาษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในลักษณะใด
จากหลักกฎหมายดังกล่าว หากมองลักษณะโดยรวมของระบบเอสเอ็มเอสในรูปแบบซอฟแวร์ก็น่าจะถือเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ซอฟแวร์ซึ่งจะได้รับความคุ้มครองในฐานะงานลิขสิทธิ์อย่างหนึ่งได้ ซึ่งหากมีบุคคลใดนำโปรแกรมดังกล่าวไปทำซ้ำ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาต ก็จะถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโปรแกรมคอมพิวเตอร์
ในส่วนของกฎหมายสิทธิบัตรนั้นแนวคิดทางธุรกิจดังกล่าว ก็อาจได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายสิทธิบัตรด้วยเช่นกัน หากมองในส่วนของแนวความคิดและลักษณะโครงสร้างการทำงานภายในโปรแกรมคอมพิวเตอร์
ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า แนวคิดทางธุรกิจ หรือไอเดียดอทคอมที่ดีๆตามกฎหมายไทย ก็อาจได้รับการคุ้มครองแบบ Double Protection กล่าวคือ อาจได้รับความคุ้มครองทั้งในฐานะงานลิขสิทธิ์และสิทธิบัตรพร้อมกันในงานเพียงชิ้นเดียว
ถ้าเป็นอย่างที่ว่าแล้วปัญหาที่ท่านผู้อ่านอาจมีข้อสงสัยคือ แล้วความคุ้มครองในทางกฎหมายตามกฎหมายทั้งสองฉบับแตกต่างกันอย่างไร คำตอบคือ 1) กฎหมายลิขสิทธิ์โดยปกติจะคุ้มครองทันทีที่สร้างสรรค์งานเสร็จและคุ้มครองตลอดอายุผู้สร้างสรรค์บวกกับอีก 50 ปีนับแต่วันที่ผู้สร้างสรรค์เสียชีวิต ขณะที่กฎหมายสิทธิบัตรนั้นคุ้มครองแค่ 20 ปีนับแต่วันยื่นจดทะเบียน และ 2) หากคุ้มครองในฐานะของลิขสิทธิ์นั้น ประเทศไทยและประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นภาคีในอนุสัญญาเดียวกัน คือ Berne Conventions ดังนั้นแนวคิดทางธุรกิจใหม่ๆที่อยู่ในรูปแบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายทันที โดยไม่ต้องจดทะเบียน ขณะที่สิทธิบัตรนั้นจะได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายก็ต่อเมื่อแนวคิดทางธุรกิจดังกล่าวได้รับการจดทะเบียนสิทธิบัตรในเมืองไทยเท่านั้น
ประเด็นต่อมาคือ แนวคิดทางด้านธุรกิจดังกล่าวจะจดทะเบียนสิทธิบัตรตามกฎหมายไทยได้หรือไม่ ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 วางหลักไว้ว่าองค์ประกอบที่จะใช้ในการจดสิทธิบัตรกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาในเมืองไทยมีดังนี้
มาตรา 5 ภายใต้บังคับมาตรา 9 การประดิษฐ์ที่ขอรับสิทธิบัตรได้ต้องประกอบด้วยลักษณะดังต่อไปนี้
(1) เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่
(2) เป็นการประดิษฐ์ที่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น และ
(3) เป็นการประดิษฐ์ที่สามารถประยุกต์ในทางอุตสาหกรรม
คำตอบคือ กฎหมายไทยไม่ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าให้ความคุ้มครองแนวคิดทางธุรกิจดังกล่าวหรือไม่ แต่แนวทางการตีความของกรมทรัพย์สินทางปัญญามักมองว่ากฎหมายไทยไม่น่าคุ้มครองแนวคิดทางธุรกิจในฐานะที่เป็นสิทธิบัตรเพราะอาจก่อให้เกิดการผูกขาดภายหลังประกอบกับประเทศไทยยังเป็นประเทศที่กำลังพํฒนา หากปล่อยให้ต่างประเทศผูกขาดแนวคิดทางธุรกิจโดยการจดทะเบียนสิทธิบัตร ประเทศไทยเสียเปรียบเป็นอย่างมาก
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ก็คงให้ข้อมูลแก่ผู้ประกอบการที่สงสัยในปัญหาดังกล่าวไม่มากก็น้อย หากยังสงสัย
ก็อีเมล์มาถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ครับ--จบ--

แท็ก สิทธิบัตร  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ