กรุงเทพฯ--6 ก.พ.--ธนาคารกสิกรไทย
กสิกรไทยจับมือเจบิค ปล่อยสินเชื่อพิเศษช่วยธุรกิจไทย-ญี่ปุ่นขยายการลงทุนรองรับการเติบโตของตลาดเออีซี วงเงินกู้รวม 1,700 ล้านบาท ดอกเบี้ย 5-6% ผ่อนนานสูงสุด 6 ปี
นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า หลังจากที่ธนาคารกสิกรไทย ได้ร่วมกับธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่นหรือเจบิค (JBIC) และธนาคารพันธมิตรจากญี่ปุ่น 11 แห่ง ได้ให้ความช่วยเหลือสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษแก่นักธุรกิจไทยและญี่ปุ่นในประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยเมื่อปี 2554 ไปแล้วนั้น
ล่าสุดทางโครงการฯ ได้ขยายความร่วมมือในการช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการญี่ปุ่นในไทย ที่บริษัทแม่ในญี่ปุ่นมีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 1,000 ล้านเยน หรือผู้ประกอบการไทยที่มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับญี่ปุ่นหรือมีคู่ค้าที่เป็นบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทย ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยเมื่อปี 2554 และยังไม่เคยเข้าร่วมโครงการฯ มาก่อน และมีโครงการที่จะขยายธุรกิจไปยังตลาดอาเซียนเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558
ทั้งนี้ ธนาคารกสิกรไทย เจบิคและธนาคารพันธมิตรจากญี่ปุ่นจะให้การสนับสนุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษ สำหรับธุรกิจที่ต้องการลงทุนเพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตหรือขยายการลงทุนไปต่างประเทศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้า การขยายตลาดให้สอดคล้องกับการแข่งขันและการเปิดตลาดเสรีของเออีซีในปี 2558 โดยมีวงเงินกู้รวมทั้งสิ้น 1,700 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษ 5-6% ระยะเวลาผ่อนชำระ 3-6 ปี วงเงินปล่อยกู้สูงสุดไม่เกินรายละ 330 ล้านบาท หรือเทียบเท่า 1,000 ล้านเยน
นายทรงพล กล่าวในตอนท้ายว่า โครงการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างธนาคารกสิกรไทยและเจบิค จะช่วยให้ผู้ประกอบการกลุ่มเป้าหมายได้รับการสนับสนุนด้านการเงินในการขยายการลงทุนต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลให้นักธุรกิจไทย-ญี่ปุ่นกลับมาดำเนินธุรกิจในเชิงรุกเพื่อแข่งขันกับคู่แข่งและขยายตลาดในอาเซียนที่จะกำลังเปิดกว้างมากยิ่งขึ้นในอีก 2-3 ปี และด้วยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของโครงการที่ต่ำกว่าการกู้เงินในตลาดเงินทั่วไป จะช่วยให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าวมีต้นทุนการเงินที่ต่ำ ส่วนหนึ่งจะสามารถชดเชยต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการปรับค่าแรงขั้นต่ำ และผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในช่วงนี้ได้ ทำให้ธุรกิจไทยสามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการในภูมิภาคและรองรับการขยายตัวของธุรกิจเมื่อประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ได้อย่างมั่งคงต่อไป