กรุงเทพฯ--19 พ.ย.--สถาบันพัฒนา SMEs
เอกลักษณ์-ภูมิปัญญา จุดแข็งส่งออก SMEs ไทยการกีดกันทางการค้า-น้ำมัน-ก่อการร้าย ภัยคุกคามส่งออกปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม บรรยายพิเศษ “ทิศทางการส่งออกสำหรับ SMEs ปี 2548” ชี้ไทยมีโอกาสส่งออกมาก เพราะมีศักยภาพการผลิตหลายกลุ่มผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะ OTOP ซึ่งมีเอกลักษณ์เป็นวิถีไทยและภูมิปัญญา ชาวบ้าน ไม่มีประเทศใดเลียนแบบได้เป็นจุดแข็ง ด้านภัยคุกคามการส่งออกของ SMEs ไทย คือ การเปิดเสรีทางการค้า มาตรการกีดกันทางการค้า ราคาน้ำมัน อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา และการก่อการร้าย แนะผู้ประกอบการปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก เพื่อปรับเปลี่ยนและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ทันสมัยอยู่เสมอ
นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวบรรยายพิเศษเรื่อง “ทิศทางการส่งออกสำหรับ SMEs ปี 2548” ในงานมหสัมมนา “ผ่ากลยุทธ์การนำเข้า-ส่งออก สำหรับธุรกิจ SMEs” ซึ่งจัดโดย สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) และ โรงเรียนพัฒนาและบริหารการค้าระหว่างประเทศ ว่า
ประเทศไทยเป็นประเทศที่อยู่ในเวทีการค้าโลก และเป็นสมาชิกองค์การค้าโลก (WTO) และมีการรวมกลุ่มเป็นสมาชิกของพหุภาคี อาเซียน AFTA, APEC และการเจรจาตกลงเปิดเขตการค้าเสรี (FTA) แบบทวิภาคีตามนโยบายของรัฐบาล ได้แก่ การตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างไทยกับจีน, เขตการค้าเสรีระหว่างไทยกับอินเดีย, เขตการค้าเสรีระหว่างไทยกับออสเตรเลีย และประเทศอื่นๆ อีก เช่น ระหว่างไทยกับอเมริกา และไทยกับญี่ปุ่นในอีกไม่นานนัก ดังนั้น ไทยต้องปรับตัวในภาคอุตสาหกรรม ภาคพาณิชยกรรม ภาคบริการ และรัฐบาลต้องให้การส่งเสริมสนับสนุน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและความแข็งแกร่งให้แก่ผู้ประกอบการ เพื่อให้สามารถแข่งขันและได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุดในเวทีการค้าโลก ทั้งนี้ ธุรกิจ SMEs เป็นส่วนสำคัญอย่างมากในการพัฒนาและขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ
“โอกาสการส่งออกของ SMEs ไทยในปี 2548 นั้นมีมาก เพราะ SMEs ไทยเป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ ทางการผลิตหลายกลุ่ม เนื่องจากไทยเป็นประเทศต้นน้ำทางด้านวัตถุดิบการเกษตร ซึ่งสามารถแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารได้หลากหลาย ซึ่งไทยตั้งเป้าเป็นครัวของโลก ด้านชิ้นส่วนยานยนต์ ก็ได้ตั้งเป้าไว้ว่าไทยจะเป็นดีทรอยส์หรือศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ของเอเชีย ส่วนอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งไทยมีวิวัฒนาการด้านการดีไซน์ และตั้งเป้าให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองแฟชั่น มีการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ทันสมัยมีชื่อเสียงทั่วโลก ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมต้นน้ำ ได้แก่ ผ้าไหม ผ้าฝ้าย และอุตสาหกรรมแปรรูปเสื้อผ้าขั้นต้นมีโอกาสเติบโต หรือในด้านสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ซึ่งประเทศไทยมีเอกลักษณ์ที่เป็นวิถีไทยและภูมิปัญญาชาวบ้าน ซึ่งไม่มีประเทศใดสามารถเลียนแบบได้ ทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มที่ไม่สามารถเปรียบเทียบราคาได้ ซึ่งเป็นจุดแข็งสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ไทย”
นายจักรมณฑ์ กล่าวต่อว่า สินค้าส่วนใหญ่มีวัตถุดิบอยู่ในประเทศ ทำให้ไทยได้รับแหล่งกำเนิดตามกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดเพื่อการใช้ในการได้สิทธิประโยชน์ตามข้อตกลงทางการค้า ที่ไทยได้ทำไว้กับประเทศภาคีสมาชิก ทั้งนี้ ภาครัฐต้องส่งเสริมความรู้ด้านกระบวนการส่งออกอย่างเบ็ดเสร็จให้แก่ SMEs โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชน เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs ได้เปรียบทางด้านการค้าระหว่างประเทศอย่างยั่งยืนด้านภัยคุกคาม SMEs ไทยในการส่งออกนั้น คือ การเปิดเสรีทางการค้าทำให้ SMEs ต้องมีความรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงในระเบียบวิธีและเงื่อนไขทางการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งต้องผลิตสินค้าที่ประเทศได้เปรียบและมีความชำนาญ โดยการปรับปรุงโครงสร้างการผลิตและการจัดการบริหารองค์กรและพลวัต และต้องมีเครือข่ายพันธมิตร สำหรับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีการค้าโลก, กฎระเบียบและอุปสรรคด้านการค้าโลกที่ไม่ได้อยู่ในรูปของภาษีของประเทศผู้ส่งออก แต่เป็นการขอใบอนุญาตต่างๆ เงื่อนไขการตอบโต้ทางการค้า หรือมาตรการกีดกันทางการค้า หรือภัยคุกคามอื่นๆ เช่น ราคาน้ำมันที่ผันผวน อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ภัยจากการก่อการร้าย หรือภัยจากภาวะตลาดเงินและตลาดทุนที่ผันผวน
“ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ SMEs ไทยต้องปรับตัว โดยการวางแผนเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีโอกาสและได้เปรียบในการแข่งขันกับต่างประเทศที่ผู้อื่นไม่สามารถผลิตได้เหมือน และส่งสินค้าไปประเทศที่ผู้อื่นไม่สามารถไปได้ การเลือกสิทธิประโยชน์ที่เอื้อต่อธุรกิจนำมาใช้ในการบริหารงาน เน้นระบบการบริหารจัดการแบบบูรณาการเชิงกลยุทธ์ บริหารด้านผลิตภัณฑ์ ด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชน การนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และระบบบริหารความเสี่ยงมาใช้ และจะต้องมีความคิดสร้างสรรค์ คิดในสิ่งใหม่ๆ ผลิตสินค้าที่มีความแตกต่าง หาความรู้และรับรู้ความเปลี่ยนแปลงของโลกเสมอ เพื่อปรับเปลี่ยนและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ทันสมัยและเป็นที่ต้องการอยู่เสมอ โดยเน้นคุณภาพ และสร้างตราสัญลักษณ์” นายจักรมณฑ์ กล่าว
นอกจากนี้ SMEs ไทยยังต้องมีระบบเครือข่าย มีการแลกเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ รายงานกำลังการผลิตของ ผลิตภัณฑ์ แบ่งตลาดเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน ไม่ให้ผลิตภัณฑ์ล้นตลาด และตัดราคากันเอง โดยให้ความรู้ซึ่งกันและกันร่วมประชุมและให้ความร่วมมือกันระหว่างเครือข่าย รู้จักหลักคุณธรรม การใช้ทรัพยากรคนอื่น และจ้างงานอย่าง เป็นธรรม รวมทั้งต้องตั้งเป้าหมาย เขียนแผนธุรกิจ และเช็คระบบติดตามประเมินผลอยู่เสมอ และสุดท้ายเรื่องเงินซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก ผู้ประกอบการ SMEs ก็ต้องบริหารกำไรให้มีประสิทธิภาพ ลงทุนต่ำ และใช้ระบบเงินสดให้มากที่สุด--จบ--