พม. จับมือกับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดประชุมเชิงปฎิบัติการ เรื่อง “การจัดระบบคุ้มครองเด็กในภาวะวิกฤตฉุกเฉิน”

ข่าวทั่วไป Wednesday February 6, 2013 15:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 ก.พ.--พม. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับ สมาคมนักศึกษาเก่าสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดการประชุมเชิงปฎิบัติการและเวทีเสวนา เรื่อง “การจัดระบบคุ้มครองเด็กในภาวะวิกฤตฉุกเฉิน” เพื่อสร้างความตระหนักแก่ผู้ปฎิบัติงานด้านเด็ก และให้ความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับการจัดระบบ รูปแบบ และวิธีการคุ้มครองเด็กในภาวะวิกฤตฉุกเฉิน ณ ห้องประชุมพัชราภา โรงแรมปริ๊นซ์ พาเลซ มหานาค กรุงเทพฯ นางนนทินี เพ็ชญ์ไพศิษฎ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ในปี ๒๕๕๕ ประเทศไทยได้ประสบกับมหาภัยพิบัติน้ำท่วม สร้างความเสียหายอย่างกว้างขวางในพื้นที่ ๖๕ จังหวัด บทเรียนอันยิ่งใหญ่นี้ได้สะท้อนให้เห็นว่า ประเทศไทยยังขาดการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติรูปแบบต่างๆ ดังนั้น เมื่อเกิดภัยพิบัติร้ายแรงขึ้น หน่วยงานต่างๆจึงปฎิบัติงานแบบแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไปตามสถานการณ์ในลักษณะ ต่างคนต่างทำงานตามความรับผิดชอบของหน่วยงาน ภาพที่เกิดขึ้นจึงมีการจัดบริการให้ความช่วยเหลือซ้ำซ้อนในบางพื้นที่ และในบางพื้นที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือ การจัดระบบการช่วยเหลือผู้ประสบภัยไม่ได้มีการจัดกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนระหว่างผู้ใหญ่ เด็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้พิการ ซึ่งในแต่ละกลุ่มเป้าหมายมีรายละเอียดการดำเนินงานดูแลที่แตกต่างกัน กรณีเด็กที่อยู่ในภาวะวิกฤตฉุกเฉิน ระบบคุ้มครองเด็กที่มีอยู่เดิม เช่น การดูแลเด็กโดยครอบครัว ชุมชน หรือในหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาวะภัยพิบัติก่อให้เกิดความเสี่ยงและภัยคุกคามใหม่ ได้แก่ การพลัดพรากจากครอบครัว สูญเสียบุคคลในครอบครัว ต้องหยุดเรียน ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการถูกละเมิด ถูกนำไปแสวงประโยชน์ หรือตกอยู่ในขบวนการค้ามนุษย์ โดยข้อเท็จจริงการช่วยเหลือตนเองการตัดสินใจแก้ปัญหาของเด็กย่อมมีศักยภาพที่แตกต่างจากผู้ใหญ่ ดังนั้นการดูเด็กในภาวะวิกฤตฉุกเฉินจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องมีการดำเนินงานโดยเฉพาะ นางนนทินี กล่าวต่อไปว่า ในช่วงมหาภัยพิบัติน้ำท่วมที่ผ่านมา มีกรณีเด็กพลัดหลง สูญหายจากผู้ปกครอง ถูกหลอกไปล่วงละเมิดทางเพศ และถูกทำอนาจาร แม้ในศูนย์พักพิงชั่วคราวก็มีกรณีพลัดหลง สูญหาย และถูกทำอนาจาร โดยผู้ใหญ่ที่พักอาศัยอยู่ในศูนย์พักพิงด้วยกัน จากประเด็นปัญหาดังกล่าว ได้มีหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ร่วมมือกัน เพื่อจัดระบบคุ้มครองเด็กในศูนย์พักพิงชั่วคราวขนาดต่างๆ ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวนี้ประสบปัญหาอุปสรรคที่ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจ และได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งท้องถิ่นและภาคประชาชน เพื่อให้มีการจัดระบบคุ้มครองเด็กในศูนย์พักพิงชั่วคราวขนาดต่างๆอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ ปัญหาอุปสรรคประการหนึ่งในการปฎิบัติงานคุ้มครองเด็กในภาวะวิกฤตฉุกเฉิน คือ ภารกิจอันมากมายเร่งด่วนของสถานการณ์ ทำให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฎิบัติงานขาดความตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องมีการจัดระบบคุ้มครองเด็กในศูนย์พักพิงชั่วคราวที่แยกต่างหากจากการจัดบริการให้คนทั่วไป รวมทั้งผู้ปฎิบัติงานไม่ทราบถึงรูปแบบและวิธีการในการจัดบริการเพื่อการคุ้มครองในภาวะฉุกเฉิน ซึ่งมีรูปแบบและวิธีการ ที่แตกต่างกันในศูนย์พักพิงชั่วคราวขนาดต่างๆ “ภัยพิบัติต่างๆ สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา มิใช่เพียงแต่ภัยจากน้ำท่วมเท่านั้น ยังมีภัยพิบัติอีกนานัปการ ทั้งที่เกิดจากธรรมชาติ และจากน้ำมือมนุษย์ ดังนั้น การจัดระบบคุ้มครองเด็กในภาวะวิกฤตฉุกเฉินนั้น มีองค์ความรู้ที่สำคัญอย่างยิ่ง ควรเผยแพร่ให้ผู้ปฎิบัติงานด้านเด็ก หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่วนท้องถิ่น และภาคประชาชน ให้มีความเข้ารู้ความเข้าใจ เพื่อร่วมกันจัดระบบคุ้มครองครองเด็กในภาวะฉุกเฉินที่เหมาะสมกับสถานการณ์ อันส่งผลให้เด็กได้รับการดูแลและได้รับประโยชน์สูงสุดต่อไป” นางนนทินี กล่าว.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ