กรุงเทพฯ--6 ก.พ.--กรมป่าไม้
กรมป่าไม้จัดสัมนาผู้นำจากทุกส่วนในสังกัดกรมป่าไม้กว่า 52 คน เข้าร่วมสัมนา เรื่อง " การวางแผนการจัดการทรัพยากรที่ดินและป่าไม้ระดับพื้นที่ในป่าสงวนแห่งชาติแบบบูรณาการ" ที่กรมป่าไม้ บางเขน กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2556 ที่ผ่านมา
นายประยุทธ หล่อสุวรรณศิริ รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า การบริหารจัดการป่าสงวนแห่งชาติ มีภารกิจสำคัญอย่างยิ่งที่ต้องดูแลรักษาพื้นที่ป่าสูมบูรณ์ที่เหลือเพียง 46.7 ล้านไร่ หรือร้อยละ 14.5 ของเนื้อที่ประเทศให้คงอยู่ให้ได้ จึงจำเป็นต้องเร่งฟื้นฟูพื้นที่ที่ไม่มีสภาพป่าเนื้อที่ 21 ล้านไร่ หรือร้อยละ 6.5 ของเนื้อที่ประเทศไทย เพื่อให้สอดคล้องตามแนวนโยบายรัฐบาลและนโยบายป่าไม้แห่งชาติ โดยจะต้องแก้ไขปัญหาราษฎรที่อยู่อาศัยและทำกินในผืนป่าไปพร้อมกัน ซึ่งการบริหารจัดการป่าสงวนแห่งชาติจากนี้จำเป็นต้องใช้บุคลากรที่สามารถฝังตัวอยู่ในพื้นที่สามารถบูรณาการการประสานงานสู่มวลชนได้ เพื่อกำหนดการวางแผนการอนุรักษ์ควบคู่กับการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยสงวนรักษาทรัพยากรป่าไม้ที่เหลืออยู่ และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ที่เสื่อมสภาพ บนหลักลดปัญหาความขัดแย้งการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ให้เหมาะสมตามสภาพพื้นที่นั้นๆ และจะต้องจัดทำฐานข้อมูลที่แม่นยำชัดเจน การพัฒนาบุคลากรให้พร้อมปฏิบัติงาน การบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดเป็นธรรม พร้อมนำระบบสารสนเทศมาใช้ในการทำงานให้สะดวกและสามารถให้ข้อมูลได้รวดเร็ว ซึ่งจะเป็นปัจจัยเสริมต่อความสำเร็จการจัดการป่าสงวนแห่งชาติด้วย
นายประยุทธ กล่าวต่อว่า หลักการการจัดการทรัพยากรที่ดินป่าไม้ระดับพื้นที่แบบบูรณาการ มีดังนี้ 1. บริหารจัดการพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติแบบบูรณาการ โดยการแต่งตั้ง หัวหน้าป่าสงวนแห่งชาติ ให้มีอำนาจลักษณะเดียวกันกับหัวหน้าอุทยานแห่งชาติ 2. การจัดทำรวบรวมหลักฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับป่าสงวนแห่งชาติตั้งเเต่อตีดจนถึงปัจจุบัน 3. จัดทำแผนแม่บท (Master Plan) จำแนกพื้นที่อนุรักษ์และใช้สอยให้ชัดเจน 4.เร่งจัดทำแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติแบบถาวร ได้แก่ การปลูกต้นไม้ การทำคันคู ถนนตรวจการณ์ และสุดท้ายทุกหน่วยงานมีภารกิจในพื้นที่ป่าร่วมปฏิบัติงานแบบบูรณาการภายใต้การกำกับของ หัวหน้าป่าสงวนแห่งชาติ
พื้นที่เป้าหมายในการวางแผนการจัดการจะเน้นที่ป่าสงวนเเห่งชาติ จำนวน 1,221 ป่า เนื้อที่ 67.7 ล้านไร่ (หักพื้นที่อุทยาเเห่งชาติ ป่าสงวนเเห่งชาติและ ส.ป.ก ออก) จะมีป่าไม้สมบูรณ์ เนื้อที่ประมาณ 46.7 ล้านไร่ พื้นที่ป่าไม้ไม่สมบูรณ์ เนื้อที่ประมาณ 21 ล้านไร่ โดยมีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ป่าสมบูรณ์ให้ได้ 15.5 ล้านไร่ นายประยุทธกล่าว.