กรุงเทพฯ--6 ก.พ.--ศนธ.ยธ.
การทำสัญญาเงินกู้-เงินผ่อนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจะนำไปสู่หนี้นอกระบบ ปัญหาเรื้อรังที่เกาะกินสังคมไทยมาช้านาน และมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นปัญหาระดับประเทศในปัจจุบัน ต้องเริ่มวาระแห่งชาติ ทุกฝ่ายบูรณาการหยุดปัญหาใหม่เคลียร์ปัญหาเก่า เอาผิดเจ้าหนี้หน้าเลือกและขบวนการทวงหนี้ ช่วยผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรม
การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบหากทำได้ง่ายเราคงไม่เห็น“ใบหน้าบวมปูด โดนตบตี ทำร้ายร่างกาย ทำลายข้าวของ ทำให้อับอาย ถูกฟ้อง ยึดบ้าน ยึดที่ดินทำกิน”เป็นพฤติกรรมโหดของแก๊งทวงหนี้หรือเรียกกันว่าแก๊งหมวกกันน็อก ที่ปรากฏเป็นข่าวบ่อยครั้งในสังคมไทย พร้อมกับคำเตือนของเหยื่อว่าอย่าหลวมตัวไปเป็นหนี้นอกระบบ แต่เจ้าหนี้และลูกหนี้นอกระบบก็ยังคงมีอยู่ทั่วไป แม้มีความพยายามจากหลายหน่วยงานเข้ามาดูแลก็ตาม
ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม (ศนธ.ยธ.) เป็นหน่วยงานหนึ่งที่พยายามเข้าไปจัดการปัญหาหนี้นอกระบบ รวมถึงปัญหาด้านอื่น ๆ ให้การช่วยเหลือเท่าที่จะทำได้เพื่อให้ผู้เดือดร้อนได้รับความยุติธรรมโดยเร็ว โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯ ได้จัดเสวนาเรื่อง "ปัญหาวิกฤติหนี้นอกระบบ : ทางออกของสังคมไทย?" โดยมีหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ภาคการเมือง สถาบันการเงิน และภาคเอกชน เข้าร่วมเสวนาและต่างเห็นพ้องว่าการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบผลควรผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ และปรับปรุงการทำงานของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้มีเป้าหมายเดียวกัน
วงเสวนาสะท้อนวิกฤติปัญหาหนี้นอกระบบและความจริงจังที่ต้องร่วมกันแก้ไข โดย ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม บอกว่า เรื่องหนี้นอกระบบเป็นปัญหาเรื้อรังที่ยากจะแก้ไข เนื่องจากไม่ใช่แค่เรื่องความจนเพียงอย่างเดียว แต่เกี่ยวโยงไปถึงการสร้างความเป็นธรรมในการกระจายรายได้ด้วย พร้อมกับเปรียบปัญหาหนี้นอกระบบเป็นอาการป่วยของสังคมไทยที่มีตัวแปรหลากหลาย ซึ่งต้องอาศัยการทำงานเชิงบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจังและเร่งด่วนที่สุด
สิ่งที่ต้องทำเร่งด่วน ข้อแรกควรลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมด้วยการกระจายรายได้ ให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกันที่สามารถต่อสู้กับวัตถุนิยมได้ ข้อที่สองต้องร่วมกันไกล่เกลี่ยข้อพิพาทหรือส่งเสริมการอบรมความรู้ให้ประชาชนเข้าถึงกฎหมายได้ทั่วถึงรวดเร็ว การบังคับใช้กฎหมายที่เด็ดขาด จะช่วยป้องกันปัญหาเหล่านี้ได้ คนจนจะได้ไม่รู้สึกว่าความยุติธรรมเข้าถึงยาก เพราะขณะนี้ปัญหาหนี้นอกระบบได้ยกระดับความรุนแรงเพิ่มขึ้นเป็นปัญหาระดับประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน
ด้าน พล.ต.ท.อาจิณ โชติวงศ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยอมรับว่า ที่ผ่านมาปัญหาหนี้นอกระบบเป็นเรื่องที่เอาผิดได้ยากเนื่องจากสมยอมทั้งสองฝ่าย แม้เจ้าหนี้จะเก็บดอกเบี้ยในอัตราเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดก็ตาม ส่วนที่เป็นคดีความขึ้นมาเพราะมีการข่มขู่กรรโชกและบังคับเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพลูกหนี้ ซึ่งทางออกที่ดีที่สุดคือทำอย่างไรให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบได้ง่ายขึ้น
สาเหตุและปัญหาการเป็นหนี้มาจากการที่เขาจำเป็นต้องใช้เงิน พอกู้ยืมไปแล้วไม่มีเงินใช้เจ้าหนี้ขึ้นมา ฝ่ายที่ถูกกู้ยืมก็ต้องทำทุกวิถีทางที่จะได้เงินคืนมา ก่อให้เกิดแก๊งหมวกกันน็อกที่มีการประทุษร้ายร่างกายเพื่อเป็นตัวอย่างสำหรับรายต่อๆไป ส่งผลให้เกิดความรุนแรงตามมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้หากประชาชนพบเหตุการณ์เหล่านี้ควรแจ้งเบาะแสแก่เจ้าหน้าที่ทันที และอยากเสนอแนะให้ศูนย์รับร้องทุกข์ฯที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดตั้งขึ้น ประสานข้อมูลกับหน่วยงานราชการหน่วยอื่น เพื่อขยายผลในการดำเนินการกวาดล้างแก้ทวงหนี้โหดต่อไป
ดร.ธวัชชัย ยงกิตติกุล เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกันทำให้ประชาชนรู้จักกลโกงของหนี้นอกระบบ ส่วนประชาชนเองต้องรู้จักประมาณตนด้วย เพราะการเป็นหนี้รายย่อยต้นทุนการบริหารสูง ฉะนั้นดอกเบี้ยก็จะสูงมากกว่าปกติ ทั้งนี้ตนอยากเสนอให้ในส่วนของธนาคารควรมีการปรับอัตราดอกเบี้ยต่ำลง เพื่อให้ประชาชนอีกส่วนหนึ่งสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้ สำหรับคนที่สมควรช่วยเหลือเช่น กลุ่มที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ อยากเสนอให้ช่วยเหลือด้วยการพัฒนาให้เป็นสวัสดิการสังคม ขณะที่กฎหมายต้องมีบทลงโทษแก่เจ้าหนี้นอกระบบที่ไม่มีศีลธรรมด้วย
การเปลี่ยนสังคมไทยจากประชานิยมเป็นสังคมสวัสดิการนั้น รศ.ดร.ณรงค์ เพชรประเสริฐ คณะเศรษฐศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กระทรวงยุติธรรมควรทำงานเชิงรุก โดยเฉพาะการรับผิดชอบอบรมให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการกู้ยืมเงิน เนื่องจากหลายคนยังไม่มีความรู้เรื่องกฎหมาย เพราะการทำสัญญาเงินกู้-เงินผ่อนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจะนำไปสู่หนี้นอกระบบ
บทสรุปของการเสวนาเห็นว่าควรหยิบยกปัญหาหนี้นอกระบบให้เป็นวาระแห่งชาติที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมกันทำให้เกิดขึ้นจริง โดยให้มีผลบังคับใช้กฎหมายและบทลงโทษกับขบวนการเงินกู้นอกระบบที่ผิดกฎหมาย ทั้งทางแพ่ง และทางอาญา ขณะเดียวกันควรสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุน ส่งเสริมการสร้างงานและพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน
อย่างไรก็ตามการแก้ไขปัญหาก็ไม่ง่าย มิเช่นนั้นเราคงไม่ใช้คำว่าวิกฤติ ดังที่นางสุวณา สุวรรณจูฑะ รองปลัดก.ยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯ กล่าวไว้ พร้อมกับบอกว่าปัญหาและอุปสรรคของการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ คือ คดีมักล่วงเลยกระบวนการยุติธรรมแล้ว เจ้าหนี้ไม่ให้ความร่วมมือในการไกล่เกลี่ยชั้นบังคับคดี เจ้าหนี้โอนสิทธิเรียกร้องให้แก่บุคคลภายนอก เจ้าหนี้เป็นผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น ประชาชนขาดความรู้ความเข้าใจด้านกฎหมาย ประชาชนขาดทุนทรัพย์ที่ใช้ในการดำเนินคดี และแหล่งเงินทุนที่จะมาชำระหนี้ตามมูลหนี้แท้จริง
การให้ความช่วยเหลือหากเป็นในชั้นก่อนฟ้องและชั้นพิจารณาก็จะเข้าไปให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย ตรวจสอบพยานหลักฐาน และการช่วยเหลือด้านทนายความ กรณีเรื่องถึงชั้นบังคับคดี/คดีสิ้นสุด การช่วยเหลือคือ ยื่นคำร้องขอดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีใหม่ เพิกถอนกระบวนการพิจารณาที่ผิดระเบียบ การฟ้องละเมิดกรณีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเจ้าหนี้ปลอมเอกสาร ฟ้องตามสัญญาต่างตอบแทนเรียกค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหาย การเจรจาไกล่เกลี่ยในภาพรวม ในกรณีที่ไกล่เกลี่ยสำเร็จก็ช่วยในประสานหาแหล่งเงินทุน เป็นต้น
การเป็นหนี้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมนั้นเป็นช่วงที่แย่ที่สุดในชีวิต แนวทางการทำงานของศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯจึงมุ่งมั่นที่จะทำให้เกิดความเป็นธรรมอย่างเต็มที่ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว โดยในปีนี้ ศนธ.ยธ.มีทีมที่จะเข้าไปดูแลตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งทางแพ่งทางอาญาหรือทางอื่นที่เขาต้องการ นอกจากนี้เรื่องความเป็นธรรม เรื่องหนี้นอกระบบ หรือแม้แต่เรื่องอื่น ๆ เป็นเรื่องที่มีหลายหน่วยงานเข้ามามีภารกิจมาทำงานร่วมกัน
“สิ่งที่เราคิดว่าจำเป็นมากคือเราจะต้องมีระบบการสื่อสารที่ไม่จำเป็นต้องให้ประชาชนเดินทางเข้ามา แต่เป็นภาระหน้าที่ของเราที่จะต้องติดตามว่าปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นในพื้นที่ใดเราก็มีทีมลงไปให้การช่วยเหลือได้ทันทีในพื้นที่ เราต้องออกไปในพื้นที่ต่าง ๆ ตามประชาชนกลุ่มเสี่ยง /รัฐวิสาหกิจ/โรงงาน ที่เราคิดว่าถ้าเราช่วยแล้วจะได้ผลที่จะแก้ไขได้เป็นระบบได้”
อย่างไรก็ดีแก่นแท้ของการก่อหนี้ เป็นเรื่องของการใช้จ่ายเกินกว่ารายรับนำมาสู่การก่อหนี้ทั้งที่โดยจำเป็นและไม่จำเป็น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้ความรู้ ความเข้าใจ และปลูกฝังในเรื่องของการใช้ชีวิตอย่างพอเพียงแก่ประชาชน หลักสำคัญของการห่างไกลภาวะความทุกข์จากวงจรหนี้นอกระบบคือ มีระเบียบวินัยไม่ใช้จ่ายเกินตัวและก่อหนี้โดยไม่จำเป็น