ไทย-ฝรั่งเศส สานสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม

ข่าวทั่วไป Wednesday February 6, 2013 16:16 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 ก.พ.--วธ. นายสนธยา คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวภายหลังการต้อนรับนายตีแยรี วีโต เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ในโอกาสที่ได้เข้าคารวะและร่วมหารือความร่วมมือทางวัฒนธรรมไทยกับฝรั่งเศส ที่ห้องรับรองรัฐมนตรี ชั้น 23 กระทรวงวัฒนธรรม เมื่อเร็วๆนี้ ว่า ไทยกับฝรั่งเศสเริ่มมีความสัมพันธ์ระหว่างกันตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อครั้งที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ได้ส่งราชทูตมาเจริญสัมพันธไมตรีเมื่อปีพ.ศ.2228 และหลังจากนั้น ราชทูตสยาม (โกษาปาน) ได้เดินทางไปเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ณ พระราชวังแวร์ซายส์ เมื่อปี พ.ศ.2229 และความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับฝรั่งเศสก็ได้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ทั้ง 2 ประเทศ ยังร่วมกันส่งเสริมการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน โดยการจัดงานเทศกาลฝรั่งเศสในประเทศไทยและเทศกาลวัฒนธรรมไทยในฝรั่งเศส โดยฝรั่งเศส ได้ริเริ่มจัดงานเทศกาลวัฒนธรรมฝรั่งเศส หรือ La F?te ขึ้นที่กรุงเทพฯ เมื่อปีพ.ศ. 2547 และจัดต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ในขณะที่ประเทศไทยจัดงานเทศกาลวัฒนธรรมไทย " Tout ? fait Tha? " ในฝรั่งเศส ในปีพ.ศ. 2549 โดยจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม อาทิ การจัดนิทรรศการฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี การแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ หุ่นละครเล็ก การแสดงดนตรีและนาฏศิลป์ร่วมสมัย เป็นต้น นายสนธยา กล่าวอีกว่า ทั้ง 2 ประเทศได้เริ่มต้นยกระดับเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน โดยจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมไทย-ฝรั่งเศส ฉบับที่ 1 (ปี พ.ศ. 2547 — 2551)เพื่อเป็นรากฐานของการส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือครอบคลุมในทุกมิติสาขา ซึ่งปัจจุบันได้มีการลงนามแผนดังกล่าวต่อเนื่องเป็น ฉบับที่ 2 (ปี พ.ศ. 2553-2557) เพื่อดำเนินการตามกรอบความร่วมมือ ทั้งการจัดกิจกรรมความร่วมมือและกระชับความสัมพันธ์ในทุกมิติและทุกสาขารวมถึงทางด้านวัฒนธรรม ซึ่งความร่วมมือในสาขาที่ไทยให้ความสนใจ อาทิ ให้ทุนการศึกษาบุคลากรด้านวัฒนธรรม และพาไปศึกษาดูงานให้ความรู้ในสาขาต่างๆ ทั้งแฟชั่นและการออกแบบ ทัศนศิลป์ ศิลปะการแสดง เป็นต้น รวมทั้งการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ และหอศิลป์ อย่างไรก็ตาม หากสถานเอกอัครราชทูตฯ มีโครงการความร่วมมือในลักษณะดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ก็พร้อมให้ความร่วมมือและสนับสนุนอย่างเต็มที่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างสองประเทศ รวมทั้งเป็นการพัฒนาบุคลากรทางด้านวัฒนธรรมของไทยในอีกทางหนึ่งด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ