กรุงเทพฯ--6 ก.พ.--ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์
ญี่ปุ่นหาแนวร่วมวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพในทะเล หนุน TCELS สนับสนุนสร้างเครือข่าย ต่อยอดงานวิจัยไปสู่การร่วมทุน
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) จัดการประชุม “Thailand Life Sciences Business Forum” ครั้งที่ 3 ในหัวข้อ “From Marine Biodiversity to Food and Medicine” โดยเชิญ Mr.Kazuhiro Hara จาก Okinawa Industry Promotion Public Corporation และ Mr.Akihiko Kanamoto จาก บริษัท OP Biofactory ประเทศญี่ปุ่น มาบรรยายและนำเสนอผลงานการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลของจังหวัดโอกินาวา เพื่อหาแนวร่วมวิจัยและลงทุน โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งจากภาครัฐและเอกชน ตลอดจนอาจารย์และนักวิจัย ที่มีผลงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลจากหลายสถาบันประกอบไปด้วย
สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์การทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่มีฤทธิ์ชีวภาพจากสิ่งมีชีวิตในทะเลและราเอนโดไฟท์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ บริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) สมาคมผลิตอาหารเสริมสุขภาพ บริษัท PTT Global Chemicals บริษัท ภูเก็ตเปาฮื้อฟาร์ม จำกัด กลุ่มบริษัทน้ำตาลไทยรุ่งเรือง จำกัด โดยมี ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการ TCELS เป็นประธานในการประชุม
ดร.นเรศ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ Mr.Kanamoto ได้นำเสนอผลงานของบริษัท OP Bio factory ที่รัฐบาลให้การสนับสนุนถึงปีละ 200 ล้านบาทต่อปี ถือเป็นหนึ่งในแผนการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลญี่ปุ่นที่หวังจะกระตุ้นเศรษฐกิจการลงทุนด้านชีววิทยาศาสตร์ในจังหวัดโอกินาวา อีกทั้งยังสนับสนุนให้เกิดการร่วมทุนกับบริษัทต่างชาติด้วย สำหรับวัตถุประสงค์ในการเยือนประเทศไทยในครั้งนี้ เพื่อหาแนวร่วมวิจัยและลงทุน
ดร.นเรศ กล่าวว่า บริษัท OP Biofactory ได้ส่งนักวิจัยออกสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพในทะเล เพื่อนำมาเลี้ยงในห้องปฏิบัติการรวมทั้งสร้าง Library genome ขึ้นมาด้วย นอกจากนี้ยังสกัดสารเคมีที่เป็นประโยชน์ทางด้านเวชสำอางค์ อาหาร ผลิตภัณฑ์สุขภาพและผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ โดยกระบวนการห้องปฏิบัติการ ทั้งนี้เพื่อผลักดันให้จังหวัดโอกินาวา เป็นอันดับหนึ่งทางด้าน Technology sequence genome ของโลก
ผู้อำนวยการ TCELS กล่าวด้วยว่า Mr.Kanamoto มองว่าประเทศไทยมีลักษณะทางภูมิประเทศที่เอื้ออำนวยต่อการเป็นฐานสร้าง Library sequence genome ระดับโลกได้เช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่นที่มีความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลสูงมาก ซึ่งเขาก็พร้อมรับนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ทุกแขนงที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ร่วมงาน และยินดีหากจะมีผู้ร่วมลงทุนในระดับอุตสาหกรรมจากประเทศไทยเพื่อพัฒนาทั้งทางด้านงานวิจัยและพัฒนาเศรษฐกิจการลงทุนต่อไป
ทั้งนี้ในการประชุม มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง รวมถึงมีข้อเสนอให้ TCELS สนับสนุนการสร้างเครือข่ายในลักษณะนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อต่อยอดและบูรณาการงานวิจัยในด้านนี้ของไทยให้บรรลุผลสำเร็จมากขึ้น ดร.นเรศ กล่าว
ติดต่อ:
www.tcels.or.th, 02-6445499