วว.จับมือ บ.มาลีสามพรานฯ วิจัยเพาะเลี้ยงสาหร่ายสไปรูลินาจากน้ำทิ้ง/ก๊าซโรงงานผลิตน้ำผลไม้

ข่าวทั่วไป Thursday February 7, 2013 08:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ก.พ.--วว. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และบริษัท มาลีสามพราน จำกัด (มหาชน) ร่วมวิจัย พัฒนาการเลี้ยงสาหร่ายสไปรูลินาด้วยกระบวนการผลิตร่วม (co-process) โดยใช้น้ำทิ้งและก๊าซจากโรงงานผลิตน้ำผลไม้ในระดับสาธิต พร้อมคัดเลือก/วิเคราะห์สาหร่ายสไปรูลินาที่สามารถเติบโตได้ดี ผนึกกำลังสร้างมูลค่าเพิ่มให้ของเหลือทิ้งจากภาคอุตสาหกรรม ช่วยลดภาวะโลกร้อนอย่างยั่งยืน นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้ว่าการ วว. ชี้แจงว่า วว.มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมกับบริษัทมาลีสามพรานจำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำในกลุ่มผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มของประเทศไทย ในโครงการวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสาหร่ายสไปรูลินาระดับสาธิต ด้วยกระบวนการผลิตร่วม (co-process) โดยนำน้ำทิ้งและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (flue gas) จากโรงงานผลิตน้ำผลไม้ ทั้งนี้ในโครงการฯ ดังกล่าว วว.จะทำการออกแบบระบบเพาะเลี้ยงสาหร่ายสไปรูลินา ด้วยกระบวนการผลิตร่วม ทำการคัดเลือกสายพันธุ์สาหร่ายสไปรูลินาที่สามารถเจริญเติบโตได้ดีด้วยกระบวนการผลิตร่วม ทำการวิเคราะห์คุณภาพของสาหร่ายสไปรูลินา รวมทั้งถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสาหร่ายสไปรูลินาให้แก่เจ้าหน้าที่ของบริษัทฯ โดยมีระยะเวลาความร่วมมือ 1 ปี “...วว. เป็นหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสาหร่ายทั้งด้านการเพาะเลี้ยง และด้านการออกแบบระบบต่างๆ มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับทั้งระดับชาติและนานาชาติมาเป็นเวลากว่า 27 ปี อีกทั้งยังเป็นหน่วยงานกลางที่รวบรวมและให้บริการด้านจุลินทรีย์ในประเทศไทย ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 9002 สำหรับความร่วมมือระหว่าง วว.และ บริษัท มาลีสามพราน ฯ ในครั้งนี้ เป็นการนำความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสาหร่ายของ วว. ผนวกกับความประสงค์ของบริษัทฯ ที่มีแนวคิดนโยบายที่ดีในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ในการนำของเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตมาใช้ให้เกิดประโยชน์ (Waste Utilization) โดยนำมาเพาะเลี้ยงสาหร่ายสไปรูลินา ซึ่งสไปรูลินา เป็นสาหร่ายที่มีประโยชน์สูงแก่ร่างกาย เนื่องจากมีโปรตีนสูง มีกรดอะมิโนจำเป็น(essential amino acid) มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายพันธะ (polyunsaturated fatty acid) ที่จำเป็นแก่ร่างกาย รวมทั้งสารต้านอนุมูลอิสระในกลุ่มของรงควัตถุหลายชนิด เช่น คลอโรฟิลล์และไฟโคไซยานิน หวังว่าการผลิต สไปรูลินาอาจจะมีส่วนในการสนับสนุนธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มแก่บริษัทฯในอนาคตได้ …” ผู้ว่าการ วว.กล่าวชี้แจงเพิ่มเติม ดร.อาภารัตน์ มหาขันธ์ ผู้เชี่ยวชาญวิจัย วว.ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า สำหรับขอบเขตการดำเนินงานในโครงการฯ จะทำการออกแบบระบบเพาะเลี้ยงสาหร่ายแบบ photobioreactor (PBR) ขนาดปริมาตรรวม 1,000 ลิตร และแบบอ่างลู่ (race-way pond) ขนาดปริมาตร 5,000 ลิตร ที่เหมาะสมต่อการเพาะเลี้ยงสาหร่าย สไปรูลินาสายพันธุ์คัดเลือก รวมทั้งการคัดเลือกสาหร่ายสไปรูลินาสายพันธุ์ที่สามารถเจริญเติบโตได้ดีจากคลังสาหร่าย วว. เพื่อเพาะเลี้ยงด้วยกระบวนการผลิตร่วม โดยใช้น้ำทิ้ง นอกจากนี้ยังจะได้พัฒนาสูตรอาหารที่เหมาะสมต่อการเพาะเลี้ยงสาหร่ายสายพันธุ์คัดเลือกด้วยกระบวนการผลิตร่วม โดยทั้งหมดจะดำเนินการกลางแจ้ง เพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่มีความสามารถสูงในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม สำหรับในส่วนของการวิเคราะห์คุณภาพของสาหร่ายสไปรูลินา เพื่อให้ทราบถึงแนวทางการใช้ประโยชน์ ได้แก่ คุณค่าทางอาหาร (คาร์โบไฮเดรต ไขมัน และองค์ประกอบของกรดไขมัน โปรตีน และองค์ประกอบของกรดอะมิโน วิตามิน เกลือแร่ ความชื้น และเถ้า) การปนเปื้อนโดยจุลินทรีย์และโลหะหนัก (ปรอท ตะกั่ว สารหนู และแคดเมียม) ปริมาณคาร์บอน ปริมาณรงควัตถุ ได้แก่ คลอโรฟิลล์ (chloro-phyll) ไฟโคไซยานิน (phycocyanin) และไฟโคอิริทริน (phycoerythrin) ตลอดจนดำเนินการฝึกอบรม (on-the-job training) เทคนิคต่างๆ ที่สำคัญในการเพาะเลี้ยงสาหร่ายให้แก่เจ้าหน้าที่ของบริษัท ได้แก่ การเตรียมอาหาร การถ่ายเชื้อ การเตรียมหัวเชื้อ การตรวจสอบคุณภาพหัวเชื้อ การควบคุมระบบการเพาะเลี้ยง และการเพาะเลี้ยง การเก็บเกี่ยว และการทำแห้งชีวมวล อนึ่งการใช้กระบวนการผลิตร่วม (co-process) เป็นแนวคิดที่พัฒนาขึ้นเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากของเสีย โดยนำมาเพาะเลี้ยงสาหร่าย เพื่อช่วยลดต้นทุนกระบวนการผลิตจากค่าน้ำและสารอาหาร และเพิ่มมูลค่าจากกระบวนการในขณะเดียวกัน นับเป็นอีกหนึ่งโครงการของ วว.ภายใต้แนวคิด OZONE Concept ซึ่งเป็นรูปแบบการบริหารของ วว. ในการมุ่งเน้นงานวิจัยและบริการที่ช่วยปกป้อง รักษาสมดุลระบบนิเวศอย่างยั่งยืน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ