กรุงเทพฯ--7 ก.พ.--อ็อกแฟม
ผลการวิเคราะห์ล่าสุดขององค์การพัฒนาเอกชนอ็อกแฟมพบว่าประเทศที่ระบบการบริหารหย่อนยานอันดับต้นๆ ของโลกได้กลายเป็นเป้าหมายหลักของนักลงทุนกว้านซื้อที่ดินทั่วโลก โดยอ็อกแฟมเรียกร้องให้ธนาคารโลกแสดงความผู้นำในการต่อสู้การยึดครองที่ดินโดยไม่เป็นธรรมนี้อย่างเร่งด่วน
บทวิเคราะห์แสดงให้เห็นว่า 3 ใน 4 ของ 56 ประเทศที่มีการซื้อขายที่ดินระหว่างปี 2000 และปี 2011 นั้นได้คะแนนต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยในเกณฑ์วัดหลักๆ 4 ข้อจากผลการจัดอันดับประเทศที่มีการบริหารที่เข้มแข็งและโปร่งใสของธนาคารโลก โดยจำนวนข้อตกลงซื้อขายที่ดินกว่าครึ่งนั้นเกิดขึ้นใน 23 ประเทศที่ด้อยพัฒนา อ็อกแฟมกล่าว
“ประเทศที่ขาดธรรมาภิบาลหรือย่อหย่อนในเรื่องนี้เป็นเป้าของนักลงทุนที่มองหาลู่ทางซื้อที่ดินราคาถูกและง่าย” เจเรมี่ ฮอบส์ กรรมการบริหารอ็อกแฟมกล่าว “นักลงทุนสามารถเข้าไปชี้นิ้วเอาที่ตรงนี้ตรงนั้นได้อย่างสบายๆ ถ้าประเทศนั้นๆ มีกฎหมายและกฎระเบียบอ่อนแอ เพราะมันแปลว่าอะไรๆ ก็ง่ายไปหมด ผู้ที่ได้รับผลกระทบคือชุมชนในกรณีที่ต้องมีการย้ายออกจากพื้นที่นั้นๆ และถ้าไม่มีค่าชดเชยพวกนี้จะเสียทั้งบ้านและวิถีชีวิตเลยทีเดียว”
ผลการวิเคราะห์นี้มาจากคลังข้อมูลการซื้อขายที่ดินเพื่อการเกษตรระหว่างรัฐและบริษัทเอกชนต่างชาติ (The Land Matrix) ที่มีพื้นที่อย่างน้อย 2 ล้านตารางเมตรและผลการจัดอันดับประเทศด้านธรรมาภิบาลของธนาคารโลก โดยเกณฑ์การวัดมีต่างๆ ดังนี้คือ การแสดงความคิดเห็นและความรับผิดชอบตรวจสอบได้ กฎหมาย คุณภาพของกฎระเบียบที่ควบคุมภาคเอกชน และการควบคุมปราบปรามการทุจริต อ็อกแฟมยังพบอีกด้วยว่าคะแนนเฉลี่ยทั้ง 4 ข้อของประเทศที่มีการทำสัญญาที่ดินนั้นต่ำกว่าประเทศที่ไม่มีการซื้อขายที่ดินถึง 30 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว
ในหลายๆ กรณี ศักยภาพด้านการลงทุนของที่ดินไม่ใช่องค์ประกอบสำคัญในการลงทุน ตัวอย่างเช่น ประเทศกัวเตมาลาซึ่งมีอัตราความยากจนและขาดสารอาหารในพื้นที่ชนบทสูงและได้คะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย มีการซื้อขายที่ดินถึง 870 ล้านตารางเมตร ในขณะที่บอสวาน่ากลับไม่มีการทำสัญญาด้านนี้เลยแม้แต่ฉบับเดียว สิ่งที่แตกต่างระหว่าง 2 ประเทศนี้คือ บอสวาน่ามีคะแนนรวมด้านธรรมาภิบาลสูงกว่าค่าเฉลี่ยอย่างมาก ซึ่งงานวิจัยของธนาคารโลกก็ได้รับรองประเด็นนี้เช่นกัน
ในวันนี้ ( 7 กุมภาพันธ์) ซึ่งเป็นวันที่อ็อกแฟมเริ่มเคลื่อนไหวต่อต้านการยึดครองที่ดินโดยไม่เป็นธรรมทั่วโลก จะมีกิจกรรมรณรงค์ตามสถานที่สำคัญๆ ทั่วโลกเช่น อนุสรณ์สถานลินคอล์นในกรุงวอชิงตัน โคลอสเซี่ยมในกรุงโรม โดยจะการติดป้าย “ขายแล้ว” ตามสถานที่นั้นๆ เพื่อให้สาธารณชนได้รับรู้ปัญหานี้
อ็อกแฟมเรียกร้องให้ธนาคารโลกหยุดโครงการที่เกี่ยวข้องกับที่ดินทุกโครงการเป็นการชั่วคราวและตรวจสอบนโยบายของโครงการนั้นๆ ก่อนว่ากระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชนหรือไม่ ธนาคารโลกอยู่ในสถานะที่พิเศษที่จะทำได้เพราะเป็นทั้งผู้ลงทุนและที่ปรีกษาให้กับประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย
ในทศวรรษที่ผ่านมา ธนาคารโลกได้เพิ่มการลงทุนด้านเกษตรกรรมถึง 200 เปอร์เซ็นต์ และจากผลการวิจัยของธนาคารโลกเองก็พบว่า ประเทศที่มีมูลค่าการซื้อขายที่ดินสูงๆ เป็นประเทศที่ระบบการคุ้มครองสิทธิที่ดินของชุมชนอ่อนแอที่สุด โดยไม่จำเป็นว่าเป็นประเทศที่ยากจนที่สุด โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ธนาคารรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิที่ดินของชุมชนเป็นจำนวนถึง 21 รายแล้ว โดย 12 รายอยู่ในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิค
“ณ เวลานี้ทุกๆ 6 วัน จะมีการซื้อขายที่ดินขนาดเท่ากับกรุงลอนดอนให้กับนักลงทุนต่างชาติ นี่เป็นการกว้านซื้อที่ดินในรูปแบบใหม่ ผมคิดว่ามันถึงเวลาแล้วที่ธนาคารโลกต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอันดับต้นๆ ก่อนที่จะสายเกินไป” ฮอบส์กล่าวเตือน