กรุงเทพฯ--7 ก.พ.--ฟรอสต์แอนด์ซัลลิแวน
ฟรอสต์แอนด์ซัลลิแวน เผยสงครามสมาร์ทโฟนครั้งนี้น่าจับตามอง สมาร์ทโฟนสุดเจ๋งอย่างแบล็คเบอรี่ 10 ต้องเผชิญกับความท้าทายรอบด้านเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า Research in Motion (RIM) หรือแบล็คเบอรี่ เป็นผู้บุกเบิกตลาดสมาร์ทโฟน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้ระดับองค์กร อาจกล่าวได้ว่า แบล็คเบอรี่คืออีกหน้าหนึ่งของตำนานแห่งความสำเร็จของสมาร์ทโฟน
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าแบล็คเบอรี่จะสูญเสียความเป็นเจ้าตลาดให้แก่ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายใหญ่อย่างแอปเปิ้ลและซัมซุง เนื่องจากผู้บริโภคได้หันมาให้ความสนใจกับสมาร์ทโฟน เพื่อความบันเทิงส่วนตัวมากขึ้น
ปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่า ตลาดสมาร์ทโฟนกำลังเข้าสู่จุดอิ่มตัว สมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆที่ต้องการเข้าสู่ตลาดจึงต้องมีคุณลักษณะที่เจ๋งพอที่จะทำให้ผู้ใช้หันมาสนใจได้ ดังนั้น การที่แบล็คเบอรี่ได้เปิดตัวสมาร์ทโฟนใหม่อีก 2 รุ่นนับว่าเป็นการสร้างความร้อนแรงให้กับตลาดสมาร์ทโฟนอีกครั้งหนึ่ง ท่ามกลางความกดดันที่ถูกทุกฝ่ายจับตามองอย่างใกล้ชิด บ้างก็ว่า นี่จะเป็นโอกาสสุดท้ายของแบล็คเบอรี่
นายแอนดี้ บอล ลูวิส ผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาธุรกิจไอซีที บริษัท ฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน องค์กรให้คำปรึกษาและวิจัยระดับโลก ได้ให้ความเห็นว่า BlackBerry 10 คือ แพลตฟอร์มที่แบล็คเบอรี่เคลมว่าสมบูรณ์แบบ ทั้งด้านความเสถียร การตอบสนองที่ฉับไว และไร้ช่องโหว่ ภายใต้ดีไซน์อันทันสมัย และฟังก์ชั่นการใช้งานบนหน้าจอที่ให้ความสะดวกสูงสุด สามารถปรับตามลักษณะการใช้งานของผู้ใช้ โดย มาพร้อมฟังก์ชั่นอันชาญฉลาด รวดเร็วกว่าเก่า
“แม้ว่าตัวเครื่องจะเจ๋งขนาดไหน แต่แบล็คเบอรี่ยังต้องต่อสู้อย่างหนักกับคู่แข่งรายอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น โนเกีย ลูเมีย หรือ ซัมซุง กาแล็คซี่ และ สาวกแอปเปิ้ลบางส่วน นอกจากนี้ยังต้องเผชิญกับความท้าทายในการรื้อฟื้นความเชื่อมั่นจากลูกค้าเก่าอีกด้วย”
นอกจากนี้ นายแอนดี้ ยังได้ให้ความเห็นว่า ในโลกของเทคโนโลยี เราทุกคนต่างทราบกันดีว่า สิ่งประดิษฐ์ทางเทคโนโลยีที่เจ๋งทีสุด อาจไม่ใช่ผู้ชนะเสมอไป เพราะยังมีปัจจัยอื่นๆที่มีบทบาทอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น การตลาด ช่องทางการจัดจำหน่าย เป็นต้น แต่สำหรับแบล็คเบอรี่ นั้น ถือว่าเริ่มต้นได้สวยเนื่องจากมีราคาที่เหมาะสม และมีช่องทางการจัดจำหน่ายที่ดี
ดร. มนธ์สินี กีรติไกรนนท์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท ฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน ได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า “ สำหรับ ประเทศไทยเมื่อ 2 ปีก่อนหน้านี้เคยเป็นตลาดของบีบีมาก่อน ด้วยมีสัดส่วนที่มากกว่าคู่แข่งอย่างไอโฟน ดังนั้นแบล็คเบอรี่พยายามที่จะรักษาฐานลูกค้าเดิมไว้ แต่เป็นไปได้ยาก เนื่องจากมีการใช้งานอินเตอร์เน็ทผ่านมือถือมากขึ้น และผู้ใช้งานด้านนี้ส่วนใหญ่จะไม่นึกถึงบีบีเป็นอันดับแรก เพราะจุดแข็งของบีบีอยู่ที่การแชทระหว่างเครื่อง มากกว่าการท่องเวปบนมือถือ ทำให้ตลาดผู้ใช้อินเตอร์เน็ทผ่านมือถือของไทยยังถูกครองโดยโอโฟน ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่า 50% ของผู้ใช้งานประเภทนี้ ในขณะที่ บีบีมีส่วนแบ่งเพียงไม่ถึง 6% เท่านั้น”
“ดังนั้น การกลับมาของบีบีในครั้งนี้ คงไม่สามารถพลิกสถานการณ์ให้กลับมาเป็นผู้นำของสมาร์ทโฟนได้เหมือนเดิม ถึงแม้ว่าทางแบล็คเบอรี่ จะทุ่มเททั้งในเรื่องการตลาดกับโอเปอเรเตอร์ หรือแม้แต่การเข้ามาเปิดสาขาในประเทศไทยเมื่อปีที่แล้ว สิ่งเหล่านี้ คงไม่สามารถฉุดรั้งความแรงของ ซัมซุง หรือ ไอโฟนได้ สิ่งที่ดีที่สุด คือการคาดหวังในการชิงตำแหน่งเบอร์ 3 กับ โนเกียสมาร์ทโฟน” ดร.มนธ์สินี ให้ความเห็นทิ้งท้าย