กรุงเทพฯ--8 ก.พ.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ประกาศปรับแนวโน้มอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาว ของธนาคารแสตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด มหาชน (SCBT) เป็นแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ จากแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ ในขณะเดียวกันก็ได้ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาว และอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว ที่ ‘A+’ และ‘BBB+’ รายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดแสดงอยู่ด้านท้าย
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต
การปรับแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ สะท้อนถึงการปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของธนาคารแม่ Standard Chartered Bank (SC; ‘AA-’/Stable) เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2555 (ข้อมูลเพิ่มเติมหาได้จาก www.fitchratings.com)
อันดับเครดิตสากล อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตสนับสนุนของ SCBT สะท้อนถึงความเป็นไปได้สูงที่ SCBT จะได้รับการสนับสนุนจาก SC หากมีความจำเป็น จากการที่ SC เป็นผู้ถือหุ้นเกือบทั้งหมดของ SCBT และความร่วมมือในการดำเนินงานของทั้งสองฝ่าย รวมถึงผลกระทบต่อชื่อเสียงของ SC ในกรณีที่ SCBT มีการผิดสัญญาการชำระหนี้
แนวโน้มอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวคงไว้ที่แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ เนื่องจากอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของ SCBT ถูกจำกัดโดย เพดานอันดับเครดิตของประเทศไทย
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (Viability Rating) ของ SCBT สะท้อนถึงการดำรงเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง ผลการดำเนินงานที่ดี แหล่งเงินทุนและสภาพคล่องที่มีเสถียรภาพ การพิจารณาอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินนั้นยังได้คำนึงการสนับสนุนจากธนาคารแม่ โดยเฉพาะในด้านเครือข่ายในต่างประเทศ การใช้ชื่อธนาคารร่วมกัน การระดมทุน สภาพคล่อง และการบริหารความเสี่ยง
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต — อันดับเครดิตสากลและ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
การเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการถือหุ้นของ SC หรือระดับการสนับสนุน รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงของอันดับเครดิตของ SC อาจส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตของ SCBT นอกจากนี้ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของ SCBT ถูกจำกัดโดย เพดานอันดับเครดิตของประเทศไทย (Country Ceiling) ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงของเพดานอันดับเครดิตของประเทศ อาจส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของ SCBT เช่นกัน
SCBT กำลังเผชิญแรงกดดันในด้านคุณภาพสินทรัพย์ หากคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารลดลงไปมากกว่าระดับปัจจุบัน อาจส่งผลให้มีการปรับอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินลดลงได้ คุณภาพสินทรัพย์ซึ่งด้อยลงตั้งแต่ปลายปี 2554 มีแรงกดดันเพิ่มขึ้นจากการมียอดลูกหนี้จัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษสูงขึ้นจากลูกหนี้ธุรกิจรายใหญ่รายหนึ่ง ซึ่งชี้ให้เห็นความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของสินเชื่อ และอาจทำให้อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวม (4.2% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2555) เพิ่มขึ้นอีกจากระดับที่สูงกว่าธนาคารอื่นๆในประเทศที่มีอันดับเครดิตอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน (เฉลี่ยที่ 2.6% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2555) อย่างไรก็ดีฟิทช์เชื่อว่าการที่ธนาคารดำรงเงินกองทุนชั้นที่หนึ่งในระดับสูงสุดในอุตสาหกรรมธนาคารไทย ที่ 17.5% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2555 จะช่วยป้องกันผลกระทบจากความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น
ผลการดำเนินงานโดยรวมของ SCBT ในช่วงครึ่งแรกของปี 2555 อยู่ในระดับใกล้เคียงกับในช่วงครึ่งแรกของปี 2554 โดยธนาคารมีกำไรสุทธิและอัตราส่วนกำไรสุทธิต่อสินทรัพย์ (ROA) อยู่ที่ 1.8 พันล้านบาท และ 1.3% ตามลำดับ อัตราการเติบโตของสินเชื่อในช่วงครึ่งแรกของปี 2555 อยู่ที่ 6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เครือข่ายธุรกิจด้านเงินฝากของธนาคารยังอยู่ในระดับที่ด้อยกว่าธนาคารอื่น อย่างไรก็ตามธนาคารมีสภาพคล่องในระดับที่เพียงพอ จากการที่ธนาคารสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนภายในกลุ่ม รวมทั้งการที่ธนาคารมีสถานะสุทธิเป็นผู้ให้ยืมในตลาดระหว่างธนาคารอีกด้วย
SCBT เป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดสินทรัพย์รวมใหญ่เป็นอันดับ 9 ของประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งการตลาดของสินเชื่อและเงินฝากที่ต่ำกว่า 2% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2555
รายละเอียดของอันดับเครดิตของธนาคารแสตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) มีดังนี้
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวคงอันดับที่ ‘BBB+’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นคงอันดับที่ ‘F2’
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาวคงอันดับที่ ‘A+’ ปรับแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ จากแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะสั้นคงอันดับที่ ‘F1’
- อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินคงอันดับที่ ‘bbb+’
- อันดับเครดิตสนับสนุนคงอันดับที่ ‘2’
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวคงอันดับที่ ‘AAA(tha)’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นคงอันดับที่ ‘F1+(tha)’
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นของโครงการหุ้นกู้ระยะสั้นไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกันคงอันดับที่ ‘F1+(tha)’