ฟิทช์ ให้อันดับเครดิตภายในประเทศ กับหุ้นกู้ค้ำประกันของบริษัท ไพรมัส ลีสซิ่ง จำกัด

ข่าวทั่วไป Monday November 22, 2004 15:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 พ.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศให้อันดับเครดิตภายในประเทศที่ระดับ ‘AA+(tha)’ แก่หุ้นกู้ค้ำประกันอายุ 2 ปี มูลค่า 500 ล้านบาทและหุ้นกู้ค้ำประกันอายุ 3 ปีมูลค่า 1 พันล้านบาทที่ออกภายใต้ Medium-Term Note Program (MTN) ของบริษัท ไพรมัส ลีสซิ่ง จำกัด (ไพรมัส) ขณะเดียวกัน ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตในประเทศของหุ้นกู้ค้ำประกันที่ออกภายใต้โครงการ MTN ก่อนหน้านี้ และตั๋วแลกเงินค้ำประกัน ที่ระดับ‘AA+(tha)’ อันดับเครดิตภายในประเทศที่ฟิทช์ให้แก่หุ้นกู้ค้ำประกันนี้มีพื้นฐานมาจากการค้ำประกันอย่างไม่มีเงื่อนไขจากบริษัทฟอร์ด มอเตอร์ เครดิต (ฟอร์ด เครดิต) และ ความน่าเชื่อถือของบริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ (ฟอร์ด) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของไพรมัส ทั้งบริษัท ฟอร์ด เครดิตและ บริษัทฟอร์ด มอเตอร์ ซึ่งตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกา ได้ถูกจัดอันดับเครดิตสากลไว้ที่ ‘BBB+’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ ความแตกต่างที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตระหว่างอันดับเครดิตของฟอร์ดหรือฟอร์ดเครดิตและอันดับเครดิตของประเทศไทยอาจมีผลกระทบต่ออันดับเครดิตภายในประเทศของไพรมัส
ในฐานะที่เป็นบริษัทสนับสนุนการให้สินเชื่อรถยนต์ของฟอร์ดในประเทศ ไพรมัสนับว่ามีความสำคัญต่อการดำเนินงานของฟอร์ดในประเทศไทย ไพรมัสมีอัตราการเติบโตของสินเชื่อเช่าซื้อ 5% ในปี 2546 และ 19% ใน 9 เดือนแรกของปี 2547 ถึงแม้ว่าอัตราผลตอบแทนจากสินเชื่อเช่าซื้อได้ลดลงมาเนื่องจากการแข่งขันที่สูงขึ้นและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ลดลง อัตราผลกำไรส่วนต่างของดอกเบี้ยและความสามารถในการทำกำไรยังคงอยู่ในระดับที่สูง กำไรสุทธิใน 9 เดือนแรกของปี 2547 เพิ่มขึ้นจากการที่สินเชื่อเช่าซื้อเติบโตขึ้น หลังจากที่กำไรสุทธิลดลงในปี 2546 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและภาษีรวมถึงอัตราการเติบโตของสินเชื่อเชาซื้อที่ลดลง รายได้ของไพรมัสยังคงต้องพึ่งพายอดขายของรถยนต์ในเครือซึ่งรวมถึง ฟอร์ด มาสด้า แลนด์ โรเวอร์ และ วอลโว่ แม้ว่ายอดขายรถยนต์ใน 9 เดือนแรกของปี 2547 เพิ่มขึ้นจาก 9 เดือนแรกของปีก่อนหน้า ส่วนแบ่งทางการตลาดของ ฟอร์ด (รวมไปถึงมาสด้า แลนด์ โรเวอร์ และวอลโว่) ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงซึ่งอยู่ที่ประมาณ 7% อย่างไรก็ตามการออกรถรุ่นใหม่ๆ ของฟอร์ดในปี 2548 คาดว่าจะช่วยเพิ่มยอดขายของฟอร์ด ถึงแม้ว่ารถญี่ปุ่นจะยังคงเป็นผู้นำตลาดในประเทศไทย
หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของไพรมัสได้ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 33 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2546 โดยหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อมูลหนี้ลดลงไปอยู่ที่ 0.22% จาก 0.58% ณ สิ้นปี 2545 ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ไพรมัสได้ตัดหนี้สูญและทำตลาดด้วยความระมัดระวังมากขึ้นในปี 2546 สัดส่วนผลขาดทุนจากการตัดหนี้สูญต่อมูลหนี้รวมเฉลี่ยได้ปรับตัวดีขึ้นสู่ระดับ 0.1% ใน 9 เดือนแรกของปี 2547 จาก 0.6% ในปี 2546 ถึงแม้ว่าหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เริ่มจะปรับตัวสูงขึ้นเป็น 56 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2547 และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อมูลหนี้รวมเพิ่มขึ้นเป็น 0.36% ซึ่งอาจจะสืบเนื่องมาจากอัตราการเติบโตของสินเชื่อที่สูงใน 9 เดือนแรกของปี 2547 แต่คุณภาพสินทรัพย์ของไพรมัสยังจัดว่าอยู่ในเกณฑ์ที่แข็งแกร่ง การใช้เงินกู้ยืมเพื่อสนับสนุนการปล่อยสินเชื่อที่สูงของไพรมัสทำให้ สัดส่วนหนี้ต่อทุนซึ่งรวมสำรองหนี้สูญอยู่ในระดับสูงประมาณ 15.3 เท่า ณ สิ้นเดือนกันยายน 2547 อย่างไรก็ตามความกังวลของฟิทช์ ต่อสัดส่วนหนี้ต่อทุนที่สูงของไพรมัสได้ถูกลดทอนลงจากการค้ำประกันหุ้นกู้ของไพรมัสโดยฟอร์ด เครดิต
ติดต่อ
ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์,
Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4762/4759
David Marshall, ฮ่องกง +852 2263 9963
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตระดับเพื่อการลงทุน หรือมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับต่ำแม้จะอยู่ในระดับเพื่อการลงทุน อันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศจะอยู่ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นถูกออกแบบมาเพื่อนักลงทุนภายในประเทศในแต่ละประเทศนั้นๆ และมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับแต่ละประเทศ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นไม่สามารถนำไปใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ