ทริสเรทติ้งเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรและตราสารหนี้ “ธ. กรุงศรีอยุธยา” พร้อมแนวโน้ม “Stable"

ข่าวทั่วไป Tuesday November 23, 2004 09:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 พ.ย.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เพิ่มอันดับเครดิตองค์กรของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เป็น “A” จากเดิม “A-” และปรับเพิ่มอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิ 12,000 ล้านบาท (BAY13NA) ของธนาคารเป็น “A-” จากเดิม “BBB+” โดยสะท้อนถึงความสามารถของธนาคารในการทำกำไรที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และปริมาณเงินสำรองสำหรับหนี้เสียที่มีมากขึ้น นอกจากนี้ ยังสะท้อนถึงขนาดเครือข่ายสาขาของธนาคารที่ครอบคลุม การสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นหลัก ตลอดจนการปรับปรุงองค์กรของธนาคาร อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนลงบางส่วนจากการแข่งขันที่รุนแรงในระบบธนาคารพาณิชย์ ตลอดจนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารที่ยังคงมีอยู่สูง และหนี้ปรับโครงสร้างแล้วที่ย้อนกลับมาเป็นหนี้เสียใหม่ ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงผลการดำเนินงานของธนาคารที่ปรับตัวดีขึ้นโดยมีแรงหนุนจากแนวโน้มที่ดีของภาคธุรกิจธนาคารและอุปสงค์ของการกู้ยืมเงินที่เพิ่มสูงขึ้น คาดว่าธนาคารจะยังคงรักษาความสามารถในการทำกำไรจากต้นทุนทางการเงินที่ลดต่ำลงและจากกระบวนการปรับปรุงองค์กรที่ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังคาดว่าธนาคารจะมีความคืบหน้าในการแก้ปัญหาสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่ยังคงเหลืออยู่ พร้อมกับเพิ่มการกันสำรองให้อยู่ในระดับที่สูงขึ้น
ทริสเรทติ้งรายงานว่า ธนาคารกรุงศรีอยุธยาเป็นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ในลำดับที่ 6 เมื่อพิจารณาจากขนาดของสินทรัพย์ โดยธนาคารมีส่วนแบ่งทางการตลาดของเงินให้สินเชื่อและเงินฝากที่ประมาณ 9% ธนาคารมีผู้ถือหุ้นหลัก คือ ตระกูลรัตนรักษ์ซึ่งถือหุ้นในสัดส่วน 32% ณ สิ้นเดือนเมษายน 2547 ธนาคารถือหุ้นโดยตรงในบริษัทหลายแห่งที่ให้บริการทางการเงินในหลายรูปแบบเพื่อมุ่งสู่การเป็นธนาคารที่ให้บริการครบวงจร ในการรองรับการแข่งขันที่รุนแรง ธนาคารได้ปรับปรุงองค์กรในหลายด้าน เช่น การปรับภาพลักษณ์ (Rebranding) การเพิ่มสมรรถภาพระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ การเปลี่ยนรูปแบบของสาขา โครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด และการสรรหาบุคลากรใหม่ ผู้บริหารของธนาคารยังคงดำเนินนโยบายสินเชื่อที่ระมัดระวัง ซึ่งเมื่อผนวกกับการสนับสนุนจากตระกูลรัตนรักษ์แล้ว ได้ช่วยให้ธนาคารผ่านพ้นวิกฤติการณ์ทางการเงินมาได้ ธนาคารมีเครือข่ายสาขาที่ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยช่วงหลังธนาคารได้หันมาให้สินเชื่อรายย่อยเพิ่มขึ้น อุปสงค์การกู้ยืมเงินที่เพิ่มสูงขึ้นจากผลของการเติบโตทางเศรษฐกิจและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำทำให้เงินให้สินเชื่อของธนาคารเพิ่มขึ้น 6% ในปี 2546 โดยเงินให้สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเพิ่มสูงขึ้นถึง 21% แม้ว่าธนาคารจะปล่อยกู้ให้แก่ลูกค้ารายย่อยมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่เงินให้สินเชื่อของธนาคารประมาณครึ่งหนึ่งยังคงเป็นเงินให้สินเชื่อที่ให้แก่ธุรกิจขนาดใหญ่
คุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง การที่ธนาคารทยอยแก้ไขหนี้เสียได้ส่งผลให้อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมของธนาคารลดลงมาอยู่ที่ 15.3% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2547 เปรียบเทียบกับ 24.2% ณ สิ้นปี 2544 อย่างไรก็ตาม สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่ยังคงเหลืออยู่มีความซับซ้อนในการแก้ไขมากกว่าที่ผ่านมา นอกจากนี้ ธนาคารยังประสบปัญหาการย้อนกลับของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เช่นเดียวกับธนาคารอื่นจากการที่หนี้ที่ปรับโครงสร้างแล้วยังคงมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจ การตั้งสำรองมากขึ้นทำให้ธนาคารมีอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Coverage Ratio) เพิ่มสูงขึ้นจาก 27.5% ณ สิ้นปี 2545 มาอยู่ที่ 35.3% ณ สิ้นปี 2546 และ 35.7% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2547 ซึ่งยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทยอยู่มาก แม้ว่าสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารอาจจะเพิ่มสูงขึ้นจากเกณฑ์ในการจัดชั้นหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เข้มงวดยิ่งขึ้น แต่ก็คาดว่าธนาคารจะมีระดับค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้สูงขึ้นจากการที่ธนาคารมีความสามารถในการทำกำไรเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ธนาคารสามารถกันสำรองได้มากขึ้น นอกจากนี้ ผู้บริหารของธนาคารยังมีความตั้งใจที่จะเพิ่มระดับของเงินสำรองในช่วง 2-3 ปี ข้างหน้าด้วย
ธนาคารยังคงมีผลกำไรอย่างต่อเนื่องในปี 2546 และครึ่งแรกของปี 2547 จากการที่มีต้นทุนทางการเงินที่ลดลงและมีรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ต้นทุนทางการเงินของธนาคารได้ลดลงมากหลังจากที่ธนาคารได้ไถ่ถอนหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีต้นทุนสูง ซึ่งรวมถึงหุ้นบุริมสิทธิควบหุ้นกู้ด้อยสิทธิ (Stapled Limited Interest Preferred Shares -- SLIPS) มูลค่า 26,000 ล้านบาทซึ่งธนาคารได้ออกในปี 2542 โดยภายหลังจากการเพิ่มทุนจำนวน 10,000 ล้านบาทในปี 2546 ธนาคารได้ไถ่ถอน SLIPS ในเดือนมีนาคม 2547 ซึ่งช่วยให้ธนาคารมีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิสูงขึ้นมาก ธนาคารมีผลกำไร 2 ปีติดต่อกันในปี 2545 และ 2546 หลังจากการขาดทุนเป็นเวลา 4 ปีติดต่อกันนับตั้งแต่ปี 2541 อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการทำกำไรของธนาคารยังคงถูกกดดันจากความจำเป็นในการตั้งสำรองให้อยู่ในระดับที่สูงขึ้นและการแข่งขันที่รุนแรงในระบบธนาคาร ทริสเรทติ้งกล่าว--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ