กรุงเทพฯ--11 ก.พ.--ไทยคม
ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช ประธานคณะกรรมาธิการสื่อสารและโทรคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.สื่อสารฯ) เปิดเผยว่า เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 กุมภาพันธ์ 2556 กมธ.สื่อสารฯ ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องดาวเทียมเข้าชี้แจง กรณีที่ กสทช. ออกใบอนุญาตประกอบกิจการดาวเทียมให้กับบริษัทไทยคมฯ โดยไม่ผ่านการประมูลคลื่นความถี่ โดยมีตัวแทนจาก กสทช. ได้แก่ พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช.และ ประธาน กทค., นายสุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการ กสทช.และ กทค.ด้านกฎหมายในกิจการโทรคมนาคม; ตัวแทนจากกระทรวงไอซีที นายสมบูรณ์ เมฆไพบูลย์วัฒนา รองปลัดกระทรวงฯ; ดร.สุธี อักษรกิตติ์ ประธานกรรมการสาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมการวิจัย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ซึ่งเป็นนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านดาวเทียมของประเทศไทย; ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย; และ ผู้แทนจากบริษัทไทยคมฯ เข้าร่วมชี้แจง
ทั้งนี้จากการชี้แจงของผู้เข้าร่วมประชุม ทำให้เกิดความชัดเจนในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกรณีการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมดาวเทียมให้แก่บริษัทไทยคมฯ ของ กสทช. โดยสรุปเป็นประเด็นหลักๆ ได้แก่
1) การออกใบอนุญาตประกอบกิจการดาวเทียมของ กสทช. เป็นกรณีการออกใบอนุญาตเพื่อประกอบกิจการ ไม่ใช่เป็นการออกใบอนุญาตเพื่อให้ใช้คลื่นความถี่ จึงไม่ต้องประมูลคลื่นความถี่แต่อย่างใด หากต่อไปผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นไทยคมหรือรายอื่นๆ จะมีการใช้คลื่นเพื่อรับส่งสัญญาณในประเทศไทยเพื่อให้บริการโทรคมนาคมก็จะต้องผ่านวิธีการประมูลคลื่นความถี่ ตามบทบัญญัติในมาตรา 45 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ
2) ตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมไม่ได้เป็นสิทธิหรืออธิปไตยของประเทศหนึ่งประเทศใด แต่เป็นทรัพยากรร่วมของทุกประเทศ การใช้งานวงโคจรดาวเทียมจึงต้องดำเนินการตามขั้นตอนของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (หรือไอทียู) ซึ่งรัฐบาลโดยกระทรวงไอซีทีเป็นผู้ดำเนินการ ดังนั้น วงโคจรดาวเทียมจึงไม่ได้อยู่ในอำนาจของ กสทช. และไม่สามารถจะนำมาประมูลคลื่นความถี่ตามมาตรา 45
3) กสทช. ไม่ได้พิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการดาวเทียมแก่บริษัทไทยคมฯ เป็นการเฉพาะ หากต่อไปมีผู้ประกอบการรายอื่นมาขอใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบการดาวเทียม กสทช. ก็จะพิจารณาในเงื่อนไขและหลักการเดียวกัน กล่าวคือ หากผู้ประกอบการมีความพร้อมและมีคุณสมบัติตามกฎหมาย ก็จะได้รับใบอนุญาต เมื่อได้รับใบอนุญาตแล้ว ผู้ประกอบการก็เข้าสู่กระบวนการระหว่างประเทศของไอทียูผ่าน กสทช.และกระทรวงไอซีที เพื่อให้สามารถมีวงโคจรดาวเทียมใช้งานได้ ซึ่งแนวทางดังกล่าวนี้ เป็นแนวทางที่จะส่งเสริมให้ประเทศไทยมีโอกาสมีวงโคจรดาวเทียมเพิ่มขึ้นและมีผู้ประกอบการมากรายขึ้น และเป็นแนวทางการออกใบอนุญาตผู้ประกอบการดาวเทียมที่ประเทศต่างๆ ใช้กันอยู่โดยทั่วไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีการอภิปรายกันถึงข้อจำกัดของ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ที่กำหนดว่าการจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรคมนาคมต้องใช้วิธีการประมูลคลื่นความถี่เท่านั้น ซึ่งตามความเป็นจริงไม่สามารถใช้ได้ในทุกกรณี กฎหมายที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจึงยังเป็นปัญหาอยู่และควรจะต้องมีการพิจารณาแก้ไขให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงของการประกอบกิจการโทรคมนาคมของประเทศต่อไป
"จากข้อมูลที่ได้ชี้แจงและหารือกันในที่ประชุมกรรมาธิการเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2556 ก็เป็นที่ชัดเจนว่าการที่ กสทช. ออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมดาวเทียมให้กับบริษัทไทยคมฯ นั้น ได้เป็นไปตามหลักการที่ควรจะเป็น ตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด” ร.ท.ปรีชาพลกล่าว
“กรรมาธิการพร้อมที่จะเป็นเวทีให้ได้มีการชี้แจงและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกิจการสื่อสารและโทรคมนาคมระหว่างทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะได้ช่วยกันศึกษาตรวจสอบและสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชน เพื่อประโยชน์ของประเทศต่อไป” ร.ท.ปรีชาพลกล่าวเพิ่มเติม