กรุงเทพฯ--11 ก.พ.--ปตท.
ราคาน้ำมันเฉลี่ยในสัปดาห์ที่ 4 — 8 ก.พ. 2556 น้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.12 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้าอยู่ที่ระดับ 111.77 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล น้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 1.99 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 117.00 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตามน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 1.25 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลอยู่ที่ 96.20 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล นอกจากนี้ราคาเฉลี่ยน้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นทุกชนิด โดยน้ำมันเบนซิน 95 เพิ่มขึ้น 4.93 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 132.52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 4.42 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 133.17 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ได้แก่ :
ปัจจัยที่ผลกระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงบวก
- Platts คาดการณ์กลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันเพื่อการส่งออก (OPEC) ผลิตน้ำมันดิบในเดือน ม.ค. 56 ลดลง 0.20 ล้านบาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ระดับ 30.45 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนรายงานจีนนำเข้าน้ำมันดิบเดือน ม.ค. 56 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 6.3% อยู่ที่ระดับ 5.92 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- กระทรวงพาณิชย์จีนรายงานดุลการค้าของประเทศเดือน ม.ค. 56 เกินดุลอยู่ที่ระดับ 2.92 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
- กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานยอดขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) สิ้นสุดสัปดาห์ที่ 2 ก.พ. 56 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 5,000 ราย อยู่ที่ 366,000 ราย
- 7 ก.พ. 56 ธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยที่ 0.75% เป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
- Markit Economics รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวมของยูโรโซน (Composite Purchasing Managers' Index) เดือน ม.ค. 56 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.4 จุดอยู่ที่ระดับ 48.6 จุด สูงสุดในรอบ 10 เดือน และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มมาอยู่ที่ 48.2 จุด
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงลบ
- สำนักงานสารสนเทศสหรัฐฯ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 1 ก.พ. 56 เพิ่มขึ้น 2.6 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ระดับ 371.7 ล้านบาร์เรลสูงกว่าช่วงเวลาเดียวกับเมื่อปีก่อนถึง 32.4 ล้านบาร์เรล หรือ 9.6%
- ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ อยู่ที่ระดับ 6.997 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน 1.272 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือ 22.2% และสหรัฐฯนำเข้าน้ำมันดิบลดลงกว่า 0.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8.8% อยู่ที่ระดับ 7.85 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ Shale oil ของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นทำให้ปริมาณสำรองน้ำมันดิบที่ Cushing จุดส่งมอบน้ำมันดิบ WTI ทรงตัวอยู่ในระดับสูงที่ 51.68 ล้านบาร์เรล สูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี ประมาณ 15 ล้านบาร์เรล
- กระทรวงพลังงานอิรักรายงานปริมาณส่งออกน้ำมันดิบเดือน ม.ค. 56 อยู่ที่ระดับ 2.36 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.02 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยเป็นการส่งออกทางทะเลทางตอนใต้ของอิรัก 2.02 ล้านบาร์เรลต่อวัน
แนวโน้มราคาน้ำมัน
ราคาน้ำมันดิบ Brent ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากจีนรายงานยอดเกินดุลทางการค้า 2.92 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อีกทั้งปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบของจีนเดือน ม.ค. 56 อยู่ที่ระดับ 5.92 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงเป็นอันดับ 3 ของการนำเข้าเฉลี่ยรายเดือนของจีน ทั้งนี้ Goldman Sachs รายงานราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องประมาณ 10 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลนั้น เนื่องจากอุปสงค์น้ำมันดิบในโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น และแนะนำให้ถือสัญญาซื้อในตลาดซื้อขายน้ำมันดิบ Brent ล่วงหน้า นอกจากนี้ประเทศสหรัฐฯ มีพายุหิมะพัดเข้าสู่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้บ้านเรือนกว่า 660,000 หลังคาเรือนบริเวณ New Jersey, New York, Boston และ Connecticut ไม่มีไฟฟ้าใช้เนื่องจากโรงไฟฟ้าปิดดำเนินการฉุกเฉินจากเหตุพายุ อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวลดลงเนื่องจากอุปสงค์น้ำมันดิบลดลงเพราะโรงกลั่นแถบ Midwest เข้าสู่ฤดูกาลปิดซ่อมบำรุงรวมถึงโรงกลั่นของ Phillips 66 (290 KBD) รัฐ Illinois มีแผนปิดซ่อมบำรุงปัจจัยดังกล่าวส่งผลด้านลบต่อราคาน้ำมันดิบ WTI ของสหรัฐฯ ด้านสถานะการณ์ลงทุนในตลาด Commodity Futures Trading Commission (CFTC) ของสหรัฐฯ ล่าสุดตลาดซื้อขายน้ำมันดิบล่วงหน้าในตลาด Nymex ที่นิวยอร์ค และ Brent ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 5 ก.พ. 56 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับลดสถานะการซื้อสุทธิ (Net Long Positions) ของสัญญาน้ำมันดิบ WTI ลง 3,851 สัญญา มาอยู่ที่ 227,632 สัญญา เป็นการปรับลดครั้งแรกในรอบ 8 สัปดาห์ ทั้งนี้ราคาน้ำมันดิบ WTI และ Brent คาดว่าจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 95.00 - 97.80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ 116.06 - 121.40 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ตามลำดับ