กรุงเทพฯ--11 ก.พ.--กรมการจัดหางาน
กรมการจัดหางานเปิด 12 ศูนย์ ผ่อนผันการพิสูจน์สัญชาติรอบใหม่ มั่นใจยกระดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยในการค้ามนุษย์เป็น Tier 1 ด้านตัวแทนแรงงานแฉ ลูกจ้างหลุดจากระบบเพราะนายจ้างยึดเอกสาร เอ็นจีโอชี้แรงงานประมง-เกษตร เข้าไม่ถึงข้อมูล เผยแรงงานส่วนใหญ่ใช้ระบบนายหน้าเข้าประเทศเพราะการจัดจ้างแบบเอ็มโอยูล่าช้า ด้าน “นักวิชาการ” ระบุกระบวนการนายหน้าทำให้เกิดการเร่ขายแรงงานแบบเหมาช่วง แนะกระทรวงแรงงานฟ้องเอาผิดแพ่งกับนายหน้าที่หาผลประโยชน์เกินจริง พร้อมเสนอเปิดช่องทางพิเศษเพื่อขอเอกสารสำหรับผู้ติดตาม เชื่อ 120 วัน พิสูจน์สัญชาติไม่ทันแน่ !!!!
วันที่ 8 กุมภาพันธ์ นี้ ห้องบอลรูม วิภาวดี โรงแรมปริ๊นส์ตั้น กรมการจัดหางาน ร่วมกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) และเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) ได้จัดเสวนาในหัวข้อ “ประสบการณ์/บทเรียนการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวที่ผ่านมา และแนวทางการประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน” เพื่อรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ ให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญของการปรับสถานะให้แรงงานต่างชาติมีสถานะที่ถูกต้องตามกฎหมายตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2556 ที่ผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ที่ลักลอบทำงานอยู่กับนายจ้างในประเทศไทยอยู่แล้ว รวมทั้งบุตรของแรงงานต่างด้าวดังกล่าวที่อายุไม่เกิน 15 ปี อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษออกไปอีก เป็นเวลา 120 วัน
นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กล่าวถึงสาเหตุที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้มีการผ่อนผันเป็นกรณีพิเศษนั้น เพราะจากการสำรวจยังพบว่ายังมีตัวเลขแรงงานข้ามชาติตกค้างและไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการถูกกฎหมายได้ทันตามกำหนดค่อนข้างมาก โดยแบ่งเป็นสัญชาติพม่าประมาณ 2 หมื่นคน สัญชาติกัมพูชา 1.6 แสนคน และสัญชาติลาว 9.9 หมื่นคน สำหรับขั้นตอนการดำเนินการนั้น เราจะยึดนายจ้างเป็นฐานหลัก ซึ่งคือนายจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการที่มีแรงงานผิดกฎหมายอยู่ ให้มาขอขึ้นทะเบียน โดยนายจ้าง จะต้องยื่นขอโควตากับกรมการจัดหางาน โดยส่งบัญชีรายชื่อแรงงานต่างด้าว (Name List) และหนังสือแสดงความต้องการจ้างแรงงาน (Demand Letter) รวมไปถึงสัญญาจ้างแรงงานต่างด้าวแนบมาพร้อมกัน และยื่นต่อกรมการจัดหางานภายในวันที่ 16 มีนาคม จากนั้นถึงจะเข้าสู่กระบวนการของประเทศต้นทาง ที่จะดำเนินการรับรองสถานะและออกหนังสือเดินทางชั่วคราวให้แรงงานต่างด้าวมายังศูนย์พิสูจน์สัญชาติ ซึ่งได้มีการเปิดศูนย์พิสูจน์สัญชาติ 12 แห่ง คือ สมุทรปราการ สมุทรสาคร สุราษฎร์ธานี สงขลา ปทุมธานี ระยอง กาญจนบุรี ขอนแก่น เชียงใม่ เชียงราย ตาก และ ระนอง และเมื่อผ่านการดำเนินการในจุดนี้แล้วทางการไทยจะทำการตรวจลงตรา ประทับตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร และออกใบอนุญาตทำงานแบบถูกกฎหมาย หรือ work permit ซึ่งกระบวนการครั้งนี้ได้แก้ไขให้มีความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตามขณะนี้กรมการจัดหางานก็ได้เร่งประชาสัมพันธ์และส่งจดหมายไปยังนายจ้างเพื่อให้รับทราบข้อมูลดังกล่าวด้วย ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายกังวลว่าการขยายเวลาเพียง 120 วันอาจไม่เพียงพอนั้น คงจะต้องมีการประเมินอีกครั้งหลังจากที่ทราบตัวเลขคำขอพิสูจน์สัญชาติภายหลังวันที่ 16 มีนาคมนี้ โดยเมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการดังกล่าวต่อไปจะมีการนำเข้าโดยระบบเอ็มโอยูเท่านั้น ซึ่งการทำงานของแรงงานจะสามารถอยู่ในประเทศได้ 2 ปี และได้รับอนุญาตทำงานเป็นรายปี โดยต้องมารายงานตัวต่อสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองทุกๆ 90 วัน จากนั้นจะต้องเดินทางกลับไปประเทศต้นทาง 1 เดือน เพื่อป้องกันการตั้งถิ่นฐานถึงจะกลับเข้ามาทำงานในประเทศไทยได้ใหม่ ทั้งนี้แรงงานขึ้นทะเบียนเรียบร้อยแล้วจะมไม่สามารถเปลี่ยนนายจ้างได้ นอกจาก 4 กรณีที่เป็นเหตุแห่งการให้เปลี่ยนนายจ้างได้ คือ นายจ้างเสียชีวิต นายจ้างเลิกกิจการ นายจ้างไม่ปฏิบัติตามพรบ.คุ้มครองแรงงานต่างด้าว และนายจ้างทารุณกรรม อย่างไรก็ตามรัฐบาลคาดว่าหากสามารถดำเนินการและการจัดการประเด็นเรื่องแรงงานต่างด้าวได้สำเร็จ ประเทศไทยจะสามารถยกระดับจาก Tier 2 watch list หรือ ประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ ในความพยายามในการต่อต้านการค้ามนุษย์ เป็น Tier 1 watch list ได้ และจะส่งผลให้การค้าการส่งออกของประเทศไทยดีขึ้น
ด้านนายภาคภูมิ แสวงคำ เจ้าหน้าที่วิชาการมูลนิธิรักษ์ไทย จ.สมุทรสาคร กล่าวว่า เหตุผลที่ต้องมีการผ่อนผัน คือจะช่วยแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ โดยเป็นการรับรองสิทธิในสถานะบุคคลของแรงงานข้ามชาติให้ถูกกฎหมาย และจะนำไปสู่สิทธิด้านต่างๆ อีกมากมาย ซึ่งใน 10 ประเทศภูมิภาคอาเซียน เราอยู่ใน Tier 2 watch list พร้อมกับ มาเลเซีย และพม่า ซึ่งเดิมพม่าเคยอยู่ในอันดับที่ 3 คือเพิกเฉยหรือส่งเสริมให้เกิดกระบวนการค้ามนุษย์ ส่วนสิงคโปร์ บรูไน ลาว กัมพูชา อยู่ในอันดับที่ดีกว่าเรา ทั้งนี้เราจะต้องแก้ปัญหาให้ประเทศไทยเข้าไปสู่อันดับที่ 1 ให้ได้
ทั้งนี้การเข้ามาทำงานในประเทศไทยของคนพม่าจะเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 5,000 บาท แต่ถ้าหลบหนีเข้ามาจะเสียมากถึง 18,000-20,000 บาท โดยตนได้เคยลงไปเก็บข้อมูลยังฝั่งเมียวดีและได้สัมภาษณ์แรงงานที่เคยเข้ามาทำงานที่ประเทศไทยและไม่กลับเข้ามาทำงานอีกแล้ว ให้ข้อมูลว่าหากเข้ามาทำงานในประเทศไทยโดยผ่านกระบวนการนายหน้าจะได้ทำงานทันที และนายหน้าจะมารับถึงบ้าน แต่อาจจะเสียค่าใช้จ่ายในจำนวนที่มากหน่อย แต่หากเข้ามาทำงานตามกระบวนการของเอ็มโอยูจะต้องรอนานถึง 4 เดือน ถึงจะได้ทำงาน หรือบางครั้งก็ไม่มีหนังสือเรียกให้ทำงานเลย แรงงานส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะเข้าเมืองแบบผิดกฎหมาย เพราะได้ทำงานแน่นอน นอกจากนี้สิ่งที่เป็นปัญหาอีกเรื่องสำหรับการผ่อนผันการพิสูจน์สัญชาติรอบใหม่ คือกระบวนการในการประชาสัมพันธ์ ซึ่งแรงงานที่ทำงานในเมืองอย่างจ.สมุทรสาคร อาจเข้าถึงข้อมูล แต่แรงงานภาคการเกษตร ภาคการประมง จะไม่มีโอกาสได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการผ่อนผันการขึ้นทะเบียนรอบใหม่เลย ดังนั้นควรมีการประชาสัมพันธ์ให้ทั่วถึง เช่น ประสานการประชาสัมพันธ์ผ่านสมาคมประมง หรือ นายจ้างภาคการเกษตร ด้วยภาษาที่แรงงานสามารถเข้าใจและสื่อสารได้
นายภาคภูมิ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ประเด็นปัญหาใหญ่ของแรงงานข้ามชาติ คือเรื่องจำนวนค่าแรงที่แรงงานไม่ได้ตามที่ตกลงไว้ โดยปัจจุบันแรงงานส่วนใหญ่ถูกจ้างแบบเหมาช่วง อาทิ การรับจ้างแกะเปลือกกุ้งที่จ้างงาน 15 วัน แต่ได้ทำงานแค่ 3 วัน เนื่องจากไม่มีวัตถุดิบ และได้ค่าแรงเหมาเพียง 300 บาทจึงทำให้ไม่มีเงินไปดำเนินการในเรื่องพิสูจน์สัญชาติ และเป็นช่องทางให้ไปหางานทำในรูปแบบอื่นๆ และทำให้แรงงานเข้าสู่กระบวนการค้ามนุษย์มากขึ้น จนทำให้ประเทศไทยถูกจัดอันดับ Tier 2 watch list และปฏิเสธสินค้าอาหารทะเลจากไทย นอกจากนี้ยังมีข้อกังวลในประเด็นของนายหน้าที่รับจ้างเป็นนายจ้างให้กับแรงงาน และไปขอโควต้าแรงงาน เพื่อที่จะมาหากินกับแรงงานโดยเก็บค่าใช้จ่ายที่เกินจริง และไม่ยอมดำเนินการให้แรงงานทุกกระบวนการ รวมทั้งถูกหลอกให้เสียเงินฟรีและได้รับเพียงแค่ใบขึ้นทะเบียนแรงงานเท่านั้น แต่ไม่ได้รับใบอนุญาตทำงาน
ด้านนางเอมาโฉ่ ผู้ประสานงานมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา และตัวแทนแรงงานสัญชาติพม่า กล่าวว่า ปัญหาที่แรงงานพบเจอคือการปฏิบัติของนายจ้างต่อลูกจ้างซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติ เพราะลูกจ้างที่เป็นแรงงานข้ามชาติไม่มีใครอยากเปลี่ยนงานบ่อย หากไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งนายจ้างบางคนถึงขั้นยึดเอกสารลูกจ้างไว้เพราะไม่ต้องการให้เปลี่ยนงาน ทั้งที่ค่าจ้างต่ำเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ดังนั้นอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีมาตรการที่เอาผิดกับนายจ้างด้วย เพราะถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง และเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ถูกระบุในรายงานเรื่องการค้ามนุษย์ในไทย จนทำให้ไทยถูกจัดอันดับอยู่ใน Tier 2 watch list
ด้านนายอดิศร เกิดมงคล เจ้าหน้าที่อาวุโส-ด้านนโยบายและวิจัยอินเตอร์เนชั่นแนล เรสคิว คอมมิตตี (IRC) กล่าวว่า ปัญหาของการขึ้นทะเบียนพิสูจน์สัญชาติแรงงานข้ามชาติ คือการเข้าถึงข้อมูล เพราะมีแรงงานจำนวนมากที่ยังไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลและไม่รู้จำนวนค่าใช้จ่ายที่ชัดเจน จึงจำเป็นต้องพึ่งพาบริษัทนายหน้า เพราะถ้าไม่ผ่านกระบวนการของนายหน้า การยื่นเรื่องเพื่อขอพิสูจน์สัญชาติก็จะล่าช้า และไม่คืบหน้า บริษัทเอกชนต่างๆ จึงจำเป็นต้องไปใช้บริการของนายหน้า และเมื่อจำนวนของแรงงานยิ่งเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้ค่าใช้จ่ายในส่วนที่ดำเนินการโดยนายหน้ายิ่งเพิ่มเป็นเท่าตัว แรงงานจึงไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติได้ นอกจากนี้แล้วยังมีปัญหาที่ตัวของนายจ้างเอง ที่เป็นฝ่ายไม่ยอมพาแรงงานไปพิสูจน์สัญชาติ เพราะไม่เชื่อมั่นในเรื่องของกระบวนการ จึงทำให้มีแรงงานจำนวนมากยังตกหล่นในกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ และไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทั้งนี้การที่แรงงานจะต้องพึ่งพาระบบนายหน้าจึงมีผลทำให้แรงงานบางส่วนจะต้องเข้าสู่ระบบรับเหมาช่วง โดยบริษัทเอกชนที่พาลูกจ้างไปดำเนินการจัดทำเอกสารหนังสือเดินทางและขออนุญาตทำงานจะเป็นอีกบริษัทหนึ่ง หลังจากนั้นก็จะส่งอีกบริษัทหนึ่ง ทำให้เกิดการส่งต่อแรงงานไปเรื่อยๆ กลายเป็นระบบรับเหมาช่วง และกลายเป็นการหาประโยชน์จากแรงงานรูปแบบใหม่ ส่งผลให้แรงงานจำนวนมากแม้จะดำเนินเรื่องทุกอย่างถูกกฎหมาย แต่ก็มักจะไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย โดยเฉพาะผลประโยชน์จากสวัสดิการที่ลูกจ้างจะได้จากประกันสังคมก็จะเข้าถึงได้ยากขึ้น
นายอดิศร กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ข้อจำกัดของมติครม.ที่กำหนดช่วงเวลาการพิสูจน์สัญชาติเพียง 120 วัน นับจากวันที่สิ้นสุดการผ่อนผันคือวันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา จึงเท่ากับว่ามติครม.นี้มีผลย้อนหลังไป 1 เดือน ทำให้ระยะเวลาในการดำเนินการเสียไปแล้ว 30 วัน และไม่มีประโยชน์กับแรงงานมากนัก ขณะเดียวกันก็ให้เวลาในการเตรียมการออกระเบียบตามมติคณะรัฐมนตรีอีก 30 วัน ทำให้เหลือเวลาดำเนินการจริงเพียง 60 วันเท่านั้น และจากการคาดการณ์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตัวเลขของแรงงานที่อยู่นอกระบบ มีจำนวนมากกว่า 1 ล้านคน เพราะฉะนั้นระยะเวลาเพียงเท่านี้กับการพิสูจน์สัญชาติคนกว่า 1 ล้านจึงไม่น่าจะเพียงพอ และจะเป็นปัญหาใหญ่ที่จะทำให้แรงงานหลายกลุ่มเข้าไม่ถึงการดำเนินการตามมติครม.ภายในช่วงเวลาที่กำหนดไว้ อีกทั้งตนเองเชื่อว่านายจ้างและแรงงานส่วนใหญ่จะยังไม่รีบดำเนินการยื่นเอกสารในช่วงแรก แต่จะมาในช่วงระยะเวลาใกล้หมดเขต ก็จะดำเนินการไม่ทัน ซึ่งเรื่องนี้จะต้องหาทางแก้ไขกันต่อไป
นอกจากนี้ในส่วนของผู้ติดตามที่มติครม.ได้เปิดโอกาสให้แรงงานสามารถยื่นเอกสารเกี่ยวกับผู้ติดตามได้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องทำเอกสารให้กับเด็ก จะต้องมีการเปิดช่องให้มีการยื่นเอกสารสำหรับเด็กเนื่องจากเป็นไปได้ว่า นายจ้างบางส่วนจะไม่ดำเนินการยื่นเอกสารให้ลูกของแรงงานด้วย ทั้งนี้เพราะในมติครม. พูดถึงกรณีนี้ไม่ชัดเจน จึงไม่ทรแน่ใจว่าเด็กๆ เหล่านี้จะเข้าถึงการจัดทำเอกสารได้อย่างไร ในช่วงเวลาอันจำกัด โดยจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งทำการประชาสัมพันธ์ให้ตัวนายจ้างและลูกจ้างได้รับทราบโดยเร็ว ที่สำคัญต้องทำให้มีการสร้างความเข้าใจด้วยภาษาของแรงงานเอง ขณะเดียวกันรัฐต้องเข้าไปควบคุมกระบวนการนายหน้าไม่ให้มีค่าใช้จ่ายที่เกินจริงไปมากนัก และจะต้องกำหนดพื้นที่ว่าแรงงานที่ทำงานในพื้นที่ไหน ควรเข้าไปใช้บริการศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จในพื้นที่ใกล้เคียงกับที่ตนเองทำงาน ไม่ใช่ให้ระบบนายหน้าพาแรงงานไปพิสูจน์สัญชาติตามศูนย์ที่นายหน้าที่ความสัมพันธ์ รวมทั้งกระทรวงแรงงานต้องมีมาตรการในการเอาโทษต่อบริษัทนายหน้าที่เอารัดเอาเปรียบหรือเรียกค่าบริการที่เกินกว่าเหตุ เพื่อให้เห็นถึงความจริงจังในการแก้ไขของกระทรวงแรงงาน รวมทั้งต้องมีมาตรการลงโทษกับเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนที่ยังใช้วิธีการเรียกรับเงินกับแรงงานที่มีสถานะถูกกฎหมายแล้ว เพราะหากจัดการในส่วนนี้ไม่ได้ ก็จะทำให้แรงงานรู้สึกว่าแม้มีเอกสารถูกกฎหมายก็จะไม่ต่างอะไรกับการที่อยู่อย่างผิดกฎหมายเหมือนเดิม ซึ่งหากรัฐไม่เร่งแก้ปัญหาดังกล่าวก็จะยิ่งทำให้เกิดความไม่เข้าใจ เพิ่มอคติและกลายเป็นปัญหาระหว่างประเทศได้
นางสิริวัน ร่มฉัตรทอง สภาองค์กรนายจ้างแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มติครม.ดังกล่าวนั้นเป็นแนวทางการดำเนินการที่ดี แต่จำนวนของแรงงานข้ามชาติที่ยังพิสูจน์สัญชาติไม่เสร็จก็มีอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งตนคิดว่าระยะเวลาอาจจะไม่เพียงพอ และจะทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานหนักมาก ดังนั้นรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ ควรจัดการระบบที่ยุ่งยากซับซ้อน และขั้นตอนที่มากมาย เพราะจะทำให้ขั้นตอนการพิสูจน์สัญชาติยิ่งล่าช้าออกไปอีก และจะทำให้กระบวนการนายหน้าเข้ามาหากินกับแรงงานได้ตามกระบวนการที่ซับซ้อนเหล่านี้ นอกจากนี้มติครม.ดังกล่าวไม่ได้มีการคุ้มครองแรงงานที่จะเข้ามาทำงานใหม่ แต่เป็นการครอบคลุมเฉพาะแรงงานที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยแล้ว ดังนั้นในกระบวนการขอพิสูจน์สัญชาติจึงไม่จำเป็นต้องไปดำเนินการเพื่อขอโควต้าใหม่ เพราะนายจ้างมีจำนวนแรงงานที่ชัดเจนอยู่แล้วว่ามากน้อยเพียงใด ดังนั้นกระบวนการขั้นตอนจึงควรลดความยุ่งยากลง อีกทั้งกระบวนการในการกรอกเอกสารก็มีความไม่สะดวกต่อผู้กรอกในหลายส่วน เพราะจะต้องกรอกภาษาทั้งของประเทศต้นทางของแรงงาน และภาษาอังกฤษ จึงทำให้กระบวนการตรวจสอบยิ่งสับสน ดังนั้นรัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากลภาษาเดียว จะได้ลดความยุ่งยากในการตรวจรับเอกสาร