มาตรการภาษีและค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการควบรวมกิจการตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน

ข่าวทั่วไป Tuesday November 23, 2004 13:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 พ.ย.--กระทรวงการคลัง
ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงการคลังเกี่ยวกับมาตรการภาษีและค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการควบรวมกิจการตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน โดยมาตรการนี้จะช่วยขจัดภาระภาษีและค่าธรรมเนียมที่เกิดจากการควบโอนกิจการ อันจะเป็นการสนับสนุนการควบรวมกิจการของสถาบันการเงินให้เป็นไปตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย
มาตรการที่นำเสนอมีสาระสำคัญดังนี้
1. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ให้แก่สถาบันการเงิน สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับ รายรับ หรือการกระทำตราสารที่เกิดขึ้นหรือเนื่องจากการที่สถาบันการเงินควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน นอกจากนี้ ได้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ให้แก่ผู้ถือหุ้นของสถาบันการเงิน สำหรับผลประโยชน์ที่ได้จากการที่สถาบันการเงินควบหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้ที่เกินกว่าเงินทุน
2. ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ให้แก่สถาบันการเงิน สำหรับมูลค่าฐานภาษี รายรับ หรือการกระทำตราสารที่เกิดขึ้นหรือเนื่องจากสถาบันการเงินมีการโอนกิจการบางส่วนให้แก่กัน
ทั้งนี้ การได้รับสิทธิประโยชน์ภาษีตาม ข้อ 1 และ ข้อ 2 ข้างต้น สถาบันการเงินจะต้องมีการควบรวมกิจการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2549
3. ยกเลิกการให้สิทธิประโยชน์ภาษีของสำนักงานวิเทศธนกิจ (IBF) ในปัจจุบันทั้งหมด และเปลี่ยนมาให้สิทธิประโยชน์ภาษี เฉพาะกรณีการรับฝากหรือการกู้ยืมเงินตราจากต่างประเทศ เพื่อให้กู้ยืมในต่างประเทศ (Out-Out) ที่ดำเนินการโดยธนาคารพาณิชย์แทน ทั้งนี้จะมีบทเฉพาะกาลเป็นระยะเวลา 3 ปี ในการให้สิทธิประโยชน์ภาษี สำหรับผู้ฝากหรือผู้ให้กู้เงินแก่ IBF ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเงินดังกล่าวไปให้กู้ยืมต่อ ทั้งกรณี Out-Out และ Out-In และได้ทำธุรกรรมฝากและให้กู้ยืมเงินไปก่อนที่กฎหมายนี้จะมีผลใช้บังคับ
4. อนุมัติหลักการในการให้การลดหย่อนอัตราค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมอสังริมทรัพย์หรืออาคารชุด สำหรับค่าธรรมเนียมจดทะเบียนโอนรถยนต์สำหรับลูกหนี้เช่าซื้อ และค่าธรรมเนียมการจดจำนองหลักประกันประเภทเครื่องจักร ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณายกเว้นหรือลดหย่อนให้ตามความเหมาะสมต่อไป
อธิบดีกรมสรรพากรกล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรการที่นำเสนอทั้งหมดข้างต้น จะช่วยแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่อาจเกิดกับสถาบันการเงินที่มีการควบรวมกิจการตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน อันจะมีส่วนช่วยทำให้ประชาชนผู้ใช้บริการได้รับการบริการที่ดีขึ้น ทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพจากสถาบันการเงิน โดยมาตรการนี้จะไม่มีผลกระทบต่อการสูญเสียรายได้ภาษีอากร แต่จะมีส่วนสนับสนุนให้สถาบันการเงินมีการให้บริการทางการเงินแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง รวมถึงการเสริมสร้างให้สถาบันการเงินมีประสิทธิภาพ เสถียรภาพ และสามารถแข่งขันกันอย่างมีความเท่าเทียมกันด้วย--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ