วงการออกแบบไทยเตรียมยกมาตรฐานสู่ระดับโลก ในงาน “บางกอก ดีไซน์ ซิมโพเซี่ยม” วันที่ 6-8 มกราคม 2548

ข่าวทั่วไป Tuesday November 23, 2004 13:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 พ.ย.--ธอมสัน พับบลิค รีเลชั่นส์
สำนักงานศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (Thailand Creative & Design Center) จัดงานประชุมวิชาการครั้งสำคัญ “บางกอก ดีไซน์ ซิมโพเซี่ยม” ดึง 4 ปรมาจารย์ด้านการออกแบบระดับโลกชาวอิตาเลี่ยน ผู้อยู่เบื้องหลังความยิ่งใหญ่ของอุตสาหกรรมการออกแบบของประเทศอิตาลีที่ปัจจุบันได้รับการยกย่องว่าเป็นอันดับหนึ่งของโลก มาถ่ายทอดความรู้แก่ผู้ประกอบการ นักการตลาด นักศึกษา นักออกแบบ และผู้สนใจ ในงานซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-8 มกราคม 2548
นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการ สำนักงานศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ กล่าวว่า “งาน 'บางกอก ดีไซน์ ซิมโพเซี่ยม' จัดโดย สำนักงานศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ องค์กรที่มุ่งเผยแพร่ความรู้ด้านการออกแบบ รวมทั้งจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์เพื่อแสดงถึงวิธีการคิด และกระบวนการที่นำไปสู่การออกแบบที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์และบริการ อันจะนำไปสู่ความสำเร็จของภาคธุรกิจอุตสาหกรรม โดยงานประชุมวิชาการดังกล่าวเป็นกิจกรรมปฐมฤกษ์ที่เราจัดขึ้น และคาดหวังว่าจะช่วยปลูกกระแสให้วงการธุรกิจ และการออกแบบให้เห็นความสำคัญของการพัฒนามาตรฐานการออกแบบของประเทศไทยให้เจริญเทียบเท่าระดับสากล”
ม.ล.ภาวินี สันติสิริ กรรมการสำนักงานศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ และนายกสมาคมผู้ผลิตผลิตภัณฑ์และดีไซน์ กล่าวในฐานะผู้จัดงานว่า “งานประชุมวิชาการ 'บางกอก ดีไซน์ ซิมโพเซี่ยม' จะมีขึ้นในวันที่ 6-8 มกราคม 2548 ที่ห้องแกรนด์ บอลรูม โรงแรมคอนราด กรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อจุดประกายให้นักธุรกิจและนักออกแบบไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญของการออกแบบ รวมทั้งเข้าใจกระบวนการออกแบบที่มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ประเทศไทยที่ 4 ปรมาจารย์ด้านการออกแบบระดับโลกชาวอิตาเลี่ยน ได้แก่ แอนเดรีย แบรนซี่ ดันเต โดเนกานิ จีโอวานิ เลาด้า และฟรานเซสโก โมราเซ ผู้อยู่เบื้องหลังความยิ่งใหญ่ของอุตสาหกรรมการออกแบบของประเทศอิตาลีที่ปัจจุบันได้รับการยกย่องให้เป็นอันดับหนึ่งของโลก ได้มารวมตัวกันเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับพลวัตการออกแบบของอิตาลีและการผสมผลานการออกแบบในโลกอุตสาหกรรม เทคนิคการออกแบบเพื่อตลาดโลก ทัศนคติของผู้บริโภคต่องานออกแบบ และอื่น ๆ อีกมากมาย”
ทุกวันนี้ วงการออกแบบของเมืองไทยถึงจะมีการพัฒนาเพิ่มขึ้นจากเมื่อก่อน โดยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชนก็ตาม แต่ในแง่การออกแบบผลิตภัณฑ์ก็ยังใช้การลอกเลียนแบบ หรือดัดแปลงจากแบบผลิตภัณฑ์ของประเทศอื่นเป็นจำนวนมาก ซึ่งทำให้ไม่เกิดความชัดเจนและความแตกต่างทางด้านแนวคิด (concept) รูปแบบและคาแร็คเตอร์ของสินค้าและบริการ เนื่องจากผู้ประกอบการไม่ให้ความสำคัญกับการออกแบบ จึงทำให้สินค้าไทยไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะไปแข่งขันกับผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ
การออกแบบของอิตาลีได้รับการยกย่องว่า เป็นอันดับหนึ่งของโลก เนื่องจากประเทศอิตาลีเป็นประเทศที่เปิดกว้างต่อการออกแบบในสไตล์ที่กล้า และไม่เหมือนใคร โดยเมืองมิลานยังถือเป็นเมกกะของวงการออกแบบโลก จะเห็นได้ว่า นักออกแบบที่มีชื่อเสียงระดับโลกหลายคนก็ไปแจ้งเกิดที่มิลานสำหรับสไตล์การออกแบบของอิตาลีมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวโดยจะให้ความสำคัญกับทุก ๆ ส่วนของผลิตภัณฑ์ เน้นสร้างสรรค์ความสมบูรณ์แบบในทุก ๆ รายละเอียด ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบในสไตล์อิตาลีจะมีความสวยงาม ให้ความรู้สึกมีชีวิตชีวา โดยปัจจุบัน มีแบรนด์สินค้าระดับโลกมากมายที่ใช้หลักการออกแบบตามแนวทางของประเทศอิตาลี เราจึงเชิญผู้รู้ทั้ง 4 คนมาแนะแนวทางการคิด การออกแบบในสไตล์อิตาลีเพื่อให้ประเทศไทยสามารถผันตัวเองจากการเป็นเพียงฐานการผลิตของแบรนด์ต่างประเทศให้กลายเป็นเจ้าของแบรนด์ของตนเองได้ในอนาคต
ม.ล. ภาวินี กล่าวทิ้งท้ายว่า “สำหรับกลุ่มเป้าหมายของงานประชุมวิชาการ“บางกอก ดีไซน์ ซิมโพเซี่ยม” ประกอบด้วย ผู้ประกอบการ SME นักการตลาด นักธุรกิจ ดีไซเนอร์ นักศึกษา ซึ่งบุคคลเหล่านี้จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับความสำคัญของการออกแบบที่มีต่อผลิตภัณฑ์และบริการทุกประเภทเพื่อประสบความสำเร็จได้อย่างแบรนด์ดังระดับโลกอย่าง ซัมซุง 3M และแอปเปิ้ล ดังนั้น จึงเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่ไม่ควรพลาด”
ผู้สนใจร่วมงานประชุมวิชาการ “บางกอก ดีไซน์ ซิมโพเซี่ยม” สามารถซื้อบัตรได้ที่ ร้าน Propaganda ทุกสาขา และสมาคมผู้ผลิตผลิตภัณฑ์และดีไซน์ บัตรราคา 2,000 บาท สำหรับ 1 วัน และ 5,500 บาท สำหรับ 3 วัน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่โทร. 02-679-8526, 02-617-0484 หรืออีเมล์ info@designandobjects.com
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ธอมสัน พับบลิค รีเลชั่นส์ (เจ.วอลเตอร์ ธอมสัน)
พิ้งกี้ กังกลานี/ศริญญา แสมมีมา โทร. 02-260-0820 ต่อ 2113, 3179--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ